search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6518171
การเปิดหน้าเว็บ:9361409
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  พบยานอนหลับตัวใหม่ “ฟีนาซีแพม” แรงกว่า 10 เท่า เสพกับเหล้าถึงตาย!
  17 มกราคม 2556
 
 


วันที่: 17 มกราคม 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000006787


       
       พบยานอนหลับชนิดใหม่ “ฟีนาซีแพม” ระบาดภาคใต้ แรงกว่ายานอนหลับทั่วไป 10 เท่า ออกฤทธิ์นาน 60 ชั่วโมง ทำผู้ใช้ยาง่วงมึน สับสน เสียการทรงตัวและความจำ เสพร่วมกับเหล้าอาจถึงตาย ด้าน อย.เอาผิดได้แค่ยาไม่ตรงฉลาก เหตุยังไม่เป็นสารควบคุมในไทย ชี้ ถูกนำมาใช้เพื่อเลี่ยงกฎหมาย เตรียมชงคณะกรรมการประกาศเป็นวัตถุออกฤทธิ์ฯประเภท 2

       วันนี้ (17 ม.ค.) นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงกรณีการพบการลักลอบนำเข้ายานอนหลับชนิดใหม่ ซึ่งกำลังระบาดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย ว่า สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ส่งของกลางยานอนหลับชนิดใหม่จำนวน 2,940 เม็ด มาให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ทำการตรวจวิเคราะห์ โดยลักษณะยาดังกล่าวด้านหนึ่งมีสัญลักษณ์พร้อมตัวเลข 028 และอีกด้านมีตัวเลข 5 บรรจุในแผงพลาสติกใสสีแดง-อะลูมิเนียม บนแผงมีข้อความตัวอักษร “Erimin 5” ซึ่งจากการตรวจพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการสำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบ “ฟีนาซีแพม (Phenazepam หรือ Fenazepam)” ซึ่งเป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ (Benzodiazepines) มีฤทธิ์แรงกว่า ไดอาซีแพม (Diazepam) ซึ่งเป็นยานอนหลับที่คนส่วนใหญ่รู้จักถึง 10 เท่า และออกฤทธิ์ได้ยาวนานกว่า 60 ชั่วโมง
       
       “ผู้ที่ใช้ยาดังกล่าวจะมีอาการง่วงซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว และสูญเสียความทรงจำ หากหยุดยาทันทีหลังได้รับยาขนาดสูง หรือเป็นระยะเวลานานอาจเกิดอาการถอนยา และถ้าใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือสารที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิเอตส์ หรือยานอนหลับอื่นๆ อาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา พบการนำฟีนาซีแพมไปใช้ในทางที่ผิด ซึ่งกลุ่มผู้เสพนิยมเรียกยานี้ ว่า Phenny, P, Bonsai, Bonsai Supersleep และ 7 bromo-5 ส่วนการเสพมีหลายวิธี ได้แก่ การกิน การอมใต้ลิ้น การสูด และการฉีดเข้าเส้น ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกาก็มีรายงานพบผู้เสพยาชนิดนี้เสียชีวิตจากการได้รับยาเกินขนาดด้วย” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
       
       นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ปกติแล้วยา Erimin 5 จะตรวจพบสารไนเมตาซีแพม ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 และไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย แต่จากการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างของกลาง Erimin 5 แล้วพบฟีนาซีแพมนั้น จึงสันนิษฐานว่า อาจมีการนำฟีนาซีแพมมาผลิตเป็นยา Erimin 5 ทดแทน ไนเมตาซีแพม เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย รวมทั้งในอนุสัญญาสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการเฝ้าระวังและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของสารนี้ต่อไป

       นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า รายงานข้อมูลระบุว่า Erimin 5 เป็นยาที่ผลิตโดยบริษัท Sumimoto Pharmaceuticals ในประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วย ตัวยาสำคัญชื่อ ไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) ขนาดยา 5 มก.เป็นยานอนหลับในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีนส์ มีการอนุญาตให้ใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ในประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย โดยเป็นสารควบคุม สำหรับประเทศไทยตัวยาดังกล่าวจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ยานี้ไม่มีการอนุมัติทะเบียนตำรับในประเทศไทย ซึ่งยาที่ถูกจับได้จึงเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศอื่นทั้งสิ้น โดยพบว่ามีการนำไปใช้ในทางที่ผิดในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งนิยมเรียกยานี้ในชื่อ five-five หรือ Happy 5 ดังนั้น ยาดังกล่าวที่ตรวจพบสารสำคัญไม่ตรงตามที่ระบุไว้ จึงเข้าลักษณะของวัตถุออกฤทธิ์ปลอม ซึ่งผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท แต่ไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการผสมสารฟีนาซีแพมได้ เนื่องจากสารดังกล่าวไม่ได้เป็นสารควบคุมในประเทศไทยและสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
       
       “อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะนำเรื่องเข้าคณะกรรมการวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทได้ในปลายเดือนมกราคมนี้ เพื่อประกาศให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 2 ซึ่งสามารถใช้ได้ภายในสถานพยาบาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” เลขาฯ อย.กล่าว
       
       อนึ่ง สารฟีนาซีแพมได้ถูกสังเคราะห์ขึ้นครั้งแรกในประเทศรัสเซีย เมื่อปี พ.ศ.2517 และนำไปใช้ในทางการแพทย์ในประเทศรัสเซียและบางประเทศในยุโรปตะวันออกรักษาโรคระบบประสาท และโรคลมชัก โดยใช้ประมาณ 1- 1.5 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน