search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517747
การเปิดหน้าเว็บ:9360933
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ยกระดับ `ยาเสียสาว` 17 มิ.ย.ห้ามขายในร้านยา
  06 กุมภาพันธ์ 2556
 
 


วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2556
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
ลิงค์: www.thairath.co.th/content/edu/324930



อย. ยกระดับยาเสียสาวอัลปราโซแลมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ขายในร้านขายยาไม่ได้ ดีเดย์ 17 มิ.ย. คุมเข้ม! ป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด...

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกระดับยาอัลปราโซแลมหรือยาเสียสาวว่า เดิมอัลปราโซแลม (Alprazolam) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 เป็นวัตถุออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และมีการใช้อย่างแพร่หลาย มีข้อบ่งใช้ที่ได้รับการยอมรับและเป็นไปตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้คือ บรรเทาหรือรักษาอาการวิตกกังวลและอาการตื่นตระหนก ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีชื่อทางการค้าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น ซาแน็กซ์ โซแลม มาโน เป็นต้น แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน พบข้อมูลการนำไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยพบว่า มีการนำยานี้ไปเสพร่วมกับยาน้ำแก้ไอ น้ำใบกระท่อมต้ม ฯลฯ หรือที่รู้จักกันในหมู่นักเสพว่า สี่คูณร้อย

นอกจากนี้ ยังมีการนำไปใช้ก่ออาชญากรรม ในรูปแบบของการมอมยารูดทรัพย์หรือล่วงละเมิดทางเพศนักท่องเที่ยว ตามสถานเริงรมย์ต่างๆ ซึ่งในบางรายถึงกับเสียชีวิต ขณะเดียวกันก็มีคดีการจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาตัวนี้เพิ่มสูง ขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น อย. จึงได้ทบทวนมาตรการการควบคุมต่างๆ และในที่สุดได้มีการแก้ไขกฎหมายโดยออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง เปลี่ยนแปลงประเภทวัตถุออกฤทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2555 มีสาระสำคัญคือ การยกระดับการควบคุมอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ซึ่งห้ามผลิต ขาย นำเข้า ส่งออก ยกเว้นกระทรวงสาธารณสุข หรือผู้ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข หากฝ่าฝืน มีโทษจำคุก 5-20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000–400,000 บาท

สำหรับการมีไว้ในครอบครองจะต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ด้วย และประกาศ กระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดชื่อและปริมาณวัตถุออกฤทธิ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันชั้นหนึ่งในสาขาทันตกรรม (ผู้ประกอบ วิชาชีพทันตกรรม) หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ชั้นหนึ่ง (ผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง) มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาต พ.ศ. 2555 มีสาระสำคัญคือ เป็นประกาศที่ตัดรายการอัลปราโซแลม (Alprazolam) ออก ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพทุกรายต้องขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ จึงจะมีอัลปราโซแลม (Alprazolam) ไว้ในครอบครองได้ โดยประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 129 ตอนพิเศษ 191 ง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป

เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไป ร้านขายยาไม่สามารถมีและขายอัลปราโซแลม (Alprazolam) ให้กับผู้บริโภคได้อีกต่อไป จึงขอให้ส่งยาที่คงเหลืออยู่คืนให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือผู้ขายทั้งหมด หากพ้นกำหนดจะมีโทษตามกฎหมาย สำหรับโรงพยาบาลรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งสภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาล บ้านแพ้ว (องค์กรมหาชน) กรุงเทพมหานครเฉพาะสำนักการแพทย์และสำนักอนามัย ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องขอใบอนุญาตครอบครองฯ ส่วนโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่น เช่น องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ โรงพยาบาลเอกชน คลินิก ที่ไม่มีใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองฯ หากไม่ประสงค์จะครอบครองยา ให้ส่งคืนยาแก่ผู้ผลิตหรือผู้ขายก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2556 ด้วยเช่นกัน

แต่หากประสงค์จะมีไว้ในครอบครองต้องขออนุญาต โดยโรงพยาบาลของรัฐสังกัดหน่วยราชการอื่นในทุกพื้นที่ และโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอที่กองควบคุมวัตถุเสพติด อย. สำหรับโรงพยาบาลเอกชน/คลินิก ที่อยู่ในเขตปริมณฑล และส่วนภูมิภาค ให้ยื่นคำขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยผู้มีไว้ในครอบครองฯ ทุกราย ไม่ว่าจะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาต หรือผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องขอใบอนุญาต จะต้องจัดทำบัญชีรับ-จ่าย วัตถุออกฤทธิ์ และรายงานทั้งรายเดือนและรายปี ส่ง อย. ตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด ในส่วนประชาชนผู้บริโภคนั้นสามารถมียาดังกล่าวไว้ในครอบครองได้โดยไม่ต้องขออนุญาตใดๆ เพียงแต่ต้องเป็นไปตามที่ผู้ประกอบวิชาชีพสั่งจ่ายให้เฉพาะตนเองเพื่อการบำบัดรักษาเท่านั้น.