search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515520
การเปิดหน้าเว็บ:9358542
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  บอร์ด อภ.เด้ง “หมอวิทิต” พ้นเก้าอี้ ผอ.เภสัช เซ่นจัดซื้อยาพารา-รง.วัคซีน
  17 พฤษภาคม 2556
 
 


วันที่: 17 พฤษภาคม 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000059400
    


       เอกฉันท์! บอร์ด อภ.สั่งเด้ง “หมอวิทิต” พ้นตำแหน่ง ผอ.อภ.เหตุบกพร่องต่อหน้าที่ ทำให้ผู้ว่าจ้างเสียหาย เซ่นกรณีจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ สร้างโรงงานวัคซีนฯล่าช้า เล็งส่งเรื่องเข้า ครม.เร็วที่สุด มอบรอง ผอ.รักษาการ ด้าน “หมอประดิษฐ” ยันไม่มีใบสั่งการเมือง
       
       วันนี้ (17 พ.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ได้แถลงผลการประชุมบอร์ด อภ.ซึ่งใช้เวลาในการประชุมนานกว่า 6 ชั่วโมง โดยมีวาระการพิจารณาเลิกจ้าง นพ.วิทิต อรรถเวชกุล จากตำแหน่งผู้อำนวยการ อภ.นานกว่า 3 ชั่วโมง ในการสอบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอล ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก และการสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ล่าช้า โดยบอร์ดทั้ง 14 คน เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 13 คน ยกเว้น นพ.เรวัติ วิศรุตเวช ว่า บอร์ดมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นควรเลิกจ้าง นพ.วิทิต จากตำแหน่ง ผอ.อภ.เนื่องจากมีความบกพร่องต่อหน้าที่ และไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างของผู้ว่าจ้างคือ อภ.โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ บอร์ดยังมีมติให้ นพ.วิทิต ยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าจะมีมติ ครม.หรือมีคำสั่งเป็นอื่น โดยไม่มีการจ่ายเงินชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น และได้มอบหมายให้ ภญ.พิศสมร กลิ่นสุวรรณ รอง ผอ.อภ.รักษาการในตำแหน่งไปก่อนจนกว่าจะได้ ผอ.คนใหม่ด้วยการสรรหา
       
       นพ.พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ตามสัญญาจ้างระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งกรณีนี้บอร์ดเห็นว่าควรเลิกจ้างด้วยเหตุผล 3 ข้อ คือ 1.จงใจทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหาย 2.ประมาทเลินเล่อทำให้ผู้ว่าจ้างได้รับความเสียหาย และ 3.ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบ หรือวินัยของพนักงานองค์การเภสัชกรรมหรือคำสั่งของผู้ว่าจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและผูู้ว่าจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ทั้งนี้ หนังสือเตือนมีผลบังคับใช้ไม่เกิน 180 วัน นับแต่ที่ผู้รับจ้างได้กระทำความผิด เว้นแต่กรณีร้ายแรงผู้ว่าจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน
       
       “หลังจากบอร์ดชุดนี้ได้มาทำหน้าที่มา 6 เดือน ก็เห็นข้อบกพร่องในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯล่าช้า จึงได้มีการติดตามเรื่องนี้และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบชุดแรก เมื่อพบใครบกพร่องจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงอีกหนึ่งชุด ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ หากพบว่าเกี่ยวข้องกับพนักงานคนใดจะตั้งคณะกรรมการสอบทางวินัย ถ้าพบว่ามีการทุจริตจะส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” ประธานบอร์ด อภ.กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลิกจ้างไม่จำเป็นต้องรอผลจากการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช่หรือไม่ นพ.พิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นคนละประเด็น สิ่งที่บอร์ดพิจารณาเปรียบเหมือนการพิจารณาวินัยของข้าราชการ ส่วน ป.ป.ช.หรือดีเอสไอตรวจสอบเป็นเรื่องทางอาญา
       
       นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อวัตถุดิบผลิตยาพาราเซตามอลและการก่อสร้างโรงงานยาต้านไวรัสเอดส์ล่าช้า กล่าวว่า การพิจารณาของคณะกรรมการฯได้ยึดถือตามข้อบังคับว่าด้วยการพัสดุขององค์การเภสัชกรรม ร่วมกับเอกสารและหลักฐานต่างๆ พบว่า วิธีการจัดซื้อวัตถุดิบยาพาราฯ ด้วยการใช้วิธีการพิเศษไม่สอดคล้องกับข้อบังคับฯ ส่วนการซื้อวัตถุดิบยาพาราฯจำนวน 100 ตัน พบว่ามีการให้ข้อมูลก่อนการอนุมัติสั่งซื้อว่า ยังไม่มีแผนการผลิต ไม่มีสถานที่เก็บ และยังมีวัตถุดิบเก่าเหลืออยู่อีก 40 กว่าตัน รวมถึงมีการชะลอการส่งมอบ ทั้งที่ทำการจัดซื้อแบบเร่งด่วน เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการ Mass Production ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงงานซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ทำให้ไม่สามารถนำวัตถุดิบที่สั่งซื้อมาผลิตได้ ถือเป็นการตัดสินใจสั่งซื้อที่ไม่รอบคอบ และกลายเป็นภาระของ อภ.ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บวัตถุดิบ 100 ตัน นานหลายปี นอกจากนี้ วัตถุดิบดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ อภ.ด้วย เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนทำให้ไม่สามารถนำมาผลิตได้และหากคืนวัตถุดิบไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องทำลายวัตถุดิบมูลค่ากว่า 20 ล้านบาททิ้ง กลายเป็นปัญหาเรื่องการสูญเสียทรัพย์สิน
       
       นพ.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงาน Mass Production ที่ดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงล่าช้าไป 2 ปี พบว่าแต่เดิมสัญญาแรกต้องแล้วเสร็จภายใน 180 วัน แต่กลับมีการขยายสัญญาออกไปถึง 2 ครั้ง โดยครั้งแรกขยายไป 100 วัน และรอบสองอีก 515 วัน เพิ่งส่งมอบเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ส่อให้เห็นว่าการบริหารสัญญาไม่มีความรอบคอบ เป็นเหตุให้ อภ.ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากโรงงานในการผลิตยาตามเป้าหมายธุรกิจของ อภ.ได้ ส่วนกรณีโรงงานผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่รังสิต กำลังดำเนินการสอบสวนภายใต้การกำกับดูแลของบอร์ด อภ.โดยเรื่องคุณสมบัติของเครื่องปรับอากาศที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นได้ กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการในการหาผู้รับผิดชอบและดำเนินการแก้ไขต่อไป
       
       นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก กล่าวว่า ตามมติ ครม.วันที่ 22 พ.ค. 2550 มีมติให้จัดตั้งโรงงานวัคซีนฯระดับอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและรองรับการระบาด อภ.จึงได้เริ่มงานและจ้างในปี 2552 ซึ่งผู้รับจ้างแบ่งสัญญาเป็น 2 สัญญา ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 540 วัน ซึ่งวันลงนามคือวันที่ 18 ก.ย. 2552 เพราะฉะนั้นวันที่ครบกำหนดจะต้องเป็นวันที่ 29 เม.ย. 2554 แต่ในวันนี้ก็ยังไม่เรียบร้อยจึงถือว่าเป็นความล่าช้า ซึ่งเกิดจาก 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1.ฐานรากที่ต้องปรับใหม่ เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างที่สระบุรีมีปัญหาเรื่องน้ำใต้ดิน จึงต้องมีการยกพื้นและมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ซึ่งสำนักงบประมาณก็อนุมัติในการแก้ไขฐานรากโดยที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้น 2.จากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ซึ่ง ครม.มีมติช่วยเหลือผู้ประกอบการให้ขยายสัญญาทั้ง 2 สัญญาๆ ละ 100 วัน ซึ่งทั้ง 2 เหตุผลเป็นเรื่องของพื้นที่และอุทกภัยจึงไม่มีปัญหา และ 3.การออกแบบเพิ่มเติม ซึ่ง อภ.ต้องประสานกับผู้รับจ้างในการลงรายละเอียดการก่อสร้างให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกัน ส่งผลให้การก่อสร้างล่าช้า โดยผู้รับจ้างเสนอมา 700 กว่าวัน ทำให้มีการพิจารณาว่าต้องขยายงานขึ้น ซึ่ง อภ.ยอมรับว่าเป็นความล่าช้าของ อภ.เองที่ให้ข้อมูลกับผู้รับเหมาล่าช้า คณะกรรมการจึงเห็นว่า ผอ.อภ.ต้องรับผิดชอบในเรื่องที่เกิดขึ้น
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนหน้านี้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม เรียกร้องให้บอร์ดลาออกยกชุด นายกายสิทธิ์ พิศวงปราการ บอร์ด อภ.และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ที่ต้องการให้ประธานบอร์ดแจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายกมล บันไดเพ็ชร เลขานุการ รมว.สธ.และพิธีกรรายการเอเชียอัปเดตที่พูดพาดพิง อภ.พบว่า ยังขาดหลักฐานในการแจ้งความอีกมาก อีกทั้งการแจ้งความไม่ใช้หน้าที่ของบอร์ดหรือประธานบอร์ด แต่เป็นหน้าที่ของ ผอ.อภ.บอร์ดจึงไม่ได้ทำผิด หรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องลาออก
       
       ด้าน นพ.วิทิต กล่าวว่า เรื่องปลดตนออกจากตำแหน่งตนพอที่จะทราบผลมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากตนเป็นเพียงลูกจ้างของ อภ.ไม่ใช่ข้าราชการ หากตนไม่ถูกจ้างก็คงต้องถูกปลดออกซึ่งเป็นเรื่องปกติ ซึ่งขณะนี้ตนจะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ กับเรื่องที่เกิดขึ้น นอกจากการไปปรึกษากับฝ่ายกฎหมายก่อนว่าควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ตนดำรงตำแหน่ง ผอ.อภ.ตนก็ทำงานและทำหน้าที่ร่วมกับทีมงานอย่างตั้งใจมาโดยตลอด นอกจากนี้ ในเรื่องของข้อกล่าวหาโดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบผลิตยาพาราฯ ตนก็ยังไม่ทราบว่ากระทำผิดในเรื่องใด อย่างไรก็ตาม การดูแล อภ.คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของบอร์ดว่าจะเลือกใครมาเป็น ผอ.คนใหม่
       
       ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นพ.ประดิษฐ ถึงผลการพิจารณาของบอร์ด อภ. ที่เลิกจ้าง นพ.วิทิต ออกจากตำแหน่ง ผอ.อภ.ว่ามีความกังวลหรือไม่ เพราะถูกมองมาตลอดว่าเป็นใบสั่งทางการเมือง นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะเป็นดุลยพินิจของบอร์ด ซึ่งเรื่องนี้มีทั้งดีเอสไอ และ อภ.ที่ทำการตรวจสอบปัญหาต่างๆ ของ อภ.ซึ่งไม่มีใครไปสั่งได้ หากมีใบสั่งจริง ก็ถือเป็นการใส่ร้าย และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งตนไม่ได้ทำแบบนั้น
       
       เมื่อถามว่าทราบหรือไม่เหตุใดดีเอสไอจึงส่งสำนวนความล่าช้าในการก่อสร้างโรงงานวัคซีนฯไปยัง ป.ป.ช.ว่า อาจเกี่ยวข้องกับ นพ.วิทิต เพียงผู้เดียว นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ดีเอสไอได้มีการสอบถามเรืิ่องนี้ จนพบว่าปัญหาต่างๆ บอร์ด อภ.มีการสอบถามมาตลอด แสดงว่าไม่ได้ละเว้นหน้าที่ แต่การทำงานเป็นของผู้บริหาร จึงต้องรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ต้องแยกส่วนกับการเดินหน้าโรงงาน ซึ่งต้องทำให้แล้วเสร็จ โดยในวันที่ 27 พ.ค.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะมีการตั้งคณะที่ปรึกษาการเดินหน้าโรงงานดังกล่าว โดยทีมที่ปรึกษาดังกล่าวส่วนหนึ่งจะคัดเลือกมาจากคณะกรรมการวัคซีนฯ
       
       ทั้งนี้ นพ.วิทิต ได้เข้ารับตำแหน่ง ผอ.อภ.เมื่อปี 2550 หมดวาระแรกในปี 2554 และได้ต่อสัญญาจ้างเป็น ผอ.อภ.วาระที่ 2 อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ นพ.วิทิต จะเข้ารับตำแหน่งผอ.อภ.บอร์ด อภ.ที่มี นพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธานได้มีมติเลิกจ้าง พล.ท.นพ.มงคล จิวะสันติการ เป็น ผอ.อภ.