search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6516350
การเปิดหน้าเว็บ:9359413
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ไม้หอมยิ่งทุบก็ยิ่งหอม
  31 พฤษภาคม 2556
 
 


วันที่: 31 พฤษภาคม 2556
ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
ลิงค์: www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/347995



ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส บอกว่า ในช่วงนี้เห็นข่าว บทความ บทบรรณาธิการ สรรเสริญคุณงามความดีของนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมหมาดๆ ออกขรมไป

ทำให้นึกถึงคำของคนโบราณที่ว่า...“ไม้ที่มีความหอมอยู่ในตัว...ยิ่งถูกทุบกลิ่นหอมยิ่งขจรขจาย”

“คุณหมอวิทิตจะมีคุณงามความดีอะไรอยู่ในตัว ก็มีอยู่นานแล้ว มีอยู่อย่างเงียบๆ แต่เมื่อถูกลงโทษที่หลายคนมีข้อกังขาในความเป็นธรรม คุณงามความดีของคุณหมอวิทิตจึงถูกหยิบยกขึ้นมาสรรเสริญให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั่วไป ต้องถือเป็นกำไรชีวิตอย่างหนึ่ง”

ย้ายมาที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อก่อนเวลาผู้คนเจ็บป่วยต้องไปหาบริการไกลบ้านลำบากมาก ขนาดคุณหมอประเวศอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชยังได้รับการฝากคนไข้จากท่านพระครูสาครสังวรกิจ เจ้าอาวาสวัดยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว พระนักพัฒนาที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยนั้นอยู่หลายครั้ง

ต่อมาเมื่อนายแพทย์วิทิตเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ได้พัฒนาโรงพยาบาลบ้านแพ้วจนสามารถให้บริการทุกชนิด จนคนบ้านแพ้วมีที่พึ่งใกล้บ้าน มีความสุขมาก โรงพยาบาลมีชื่อเสียงมากในการทำงานร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้นำชุมชนได้เข้ามาสนับสนุนโรงพยาบาลด้วยประการต่างๆ

รวมทั้งไปรณรงค์หาเงินบริจาคมาสร้างตึกให้โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ผู้นำชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารโรงพยาบาลด้วย ประธานผู้นำชุมชนก็ไม่ใช่ใครอื่นไกลเลย คือ อดีตพระครูสาครสังวรกิจ นั่นเอง...ในนามของอาจารย์ชุบ กล่อมจิตร

“ผู้สูงอายุไม่เหมาะที่จะมารับบริการที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลบ้านแพ้วก็จัดให้มีพยาบาลเยี่ยมบ้านไปดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน...ผู้ป่วยต้อกระจกมีจำนวนมาก นายแพทย์วิทิตคำนวณดูแล้วว่าการผ่าตัดต้อกระจกทั่วประเทศในแต่ละปีมีจำนวนน้อยกว่าคนเป็นต้อกระจกใหม่ในแต่ละปี...

ซึ่งหมายถึงผู้ป่วยต้อกระจกที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัดจะสะสมมากขึ้นทุกปี โรงพยาบาลบ้านแพ้วจึงจัดให้มีรถผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่หลายคันไปให้บริการทั่วประเทศโดยมีจักษุแพทย์อาสาสมัคร”

มักกล่าวกันว่า โรงพยาบาลของรัฐไม่สามารถดึงดูดแพทย์ไว้ได้ แพทย์ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนกันมาก แต่ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วกลับตรงกันข้าม โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลของรัฐ แต่ได้รับอนุมัติให้ทดลองบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระ

ปรากฏว่า...แพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลเอกชน มาทำงานในโรงพยาบาลบ้านแพ้วมากขึ้น

“แสดงว่าเงินไม่ใช่แรงจูงใจอย่างเดียว เสรีภาพและความคล่องตัวก็เป็นสิ่งสำคัญ ระบบราชการเป็นระบบการควบคุม ไม่ใช่ระบบการพัฒนา เต็มไปด้วยกฎระเบียบข้อบังคับที่ตายตัวและรวมศูนย์อำนาจ ทำให้คนที่อยากริเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองอิดหนาระอาใจเบื่อหน่ายท้อถอยไปตามๆกัน”

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลสาธิตในการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการไปที่โรงพยาบาล เมื่อนายแพทย์วิทิตทำได้ดี ไม่ปรากฏว่าได้เอาตัวอย่างสาธิตไปขยายการปฏิบัติ ถ้ามีการกระจายอำนาจการบริหารจัดการไปสู่หน่วยปฏิบัติ และกระทรวงสาธารณสุขปรับตัวไปทำนโยบาย จะทำให้ทำงานดีๆได้มากและลดความขัดแย้งลง...

“การรวมศูนย์อำนาจนำไปสู่ความขัดแย้งเสมอ” ศ.นพ.ประเวศ ว่า

ถึงตรงนี้...ด้วยความสามารถ นายแพทย์วิทิตจึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม “ระบบยา”...เป็นระบบที่ซับซ้อนยากที่สาธารณะจะเข้าใจ เมื่อไม่เข้าใจก็จะตกอยู่ในความมืด ในความมืดจะมีความไม่ถูกต้องซ่อนตัวอยู่และทำร้ายสังคม

ในกรณียาคือ ประชาชนต้องจ่ายค่ายาแพงเกินความจำเป็น และผู้ป่วยอาจเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต ประเทศต้องมีค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงเกิน องค์การเภสัชกรรมเป็นรัฐวิสาหกิจของกระทรวงสาธารณสุข ตามประสารัฐวิสาหกิจการบริหารจัดการมักไม่มีประสิทธิภาพ

ย้อนหลังไปนานปลัดกระทรวงมักตั้งคนที่ถูกใจมาเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัช...องค์การเคยไปตั้งบริษัทเอกชนก็ประสบการขาดทุน เพราะไม่ชำนาญเชิงการจัดการ

ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ที่รู้จักกันในนาม “เภสัชกรยิปซี” ผู้ได้ รับรางวัลแมกไซไซ เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม มีความขยันขันแข็ง และเห็นช่องทางที่จะทำวิจัย พัฒนายาขึ้นใช้เองในประเทศเป็นอันมาก เกิดความท้อถอยเพราะไม่ได้รับการสนับสนุน จึงขอลาออกไป และไปช่วยประเทศที่ยากจนในแอฟริกา ขณะนี้เป็นคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เมื่อหมอวิทิตมาเป็นผู้อำนวยการ ได้พยายามผลิตยา...ตรึงราคายาที่จำเป็น เช่น ผลิตยารักษาโรคเอดส์ และขายด้วยราคาถูก ทำให้ช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยที่ยากจนเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียจำนวนมาก โรคนี้จะสะสมเหล็กไว้ในร่างกายปริมาณมาก และเป็นเหตุให้ตาย

ยาขับเหล็กที่ซื้อจากต่างประเทศมีราคาแพงมาก คนจนไม่มีทางเข้าถึงยานี้ องค์การเภสัชกรรมได้วิจัยและผลิตยาขับเหล็กที่เรียกว่า L1 ขึ้นมาได้เอง และหมอวิทิตให้ขายด้วยราคาถูกมาก ทำให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมียในประเทศไทยเข้าถึงยานี้กันอย่างถ้วนหน้า

ยาตัวเดียวกันในชื่อทางการค้ากับชื่อสามัญ ราคาต่างกันมากเป็นหลายสิบเท่าหรือแม้ร้อยเท่า เช่น โรคซึมเศร้าในชื่อทางการค้าเม็ดละกว่า 40 บาท แต่ตัวยาอย่างเดียวกันที่องค์การเภสัชผลิตในชื่อสามัญ สามารถกดราคาลงมาเหลือเม็ดละ 1-2 บาท เท่านั้น และรับประทานเพียงวันละ 1 เม็ด

“แม้มุ่งรักษาผลประโยชน์ของคนจน ระหว่างหมอวิทิตเป็นผู้อำนวยการ ก็ยังทำยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีละสี่พันล้านบาท...เป็นหมื่นกว่าล้าน หากองค์การเภสัชกรรมทำงานได้ดี คนจนได้ประโยชน์ แต่ภาคธุรกิจยาเสียประโยชน์ แต่จริงๆแล้วก็เป็นส่วนน้อยของยอดขายและยอดกำไรทั้งหมดของภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น”

กรณีเฉพาะหน้าเรื่องปลดนายแพทย์วิทิต ศ.นพ.ประเวศ บอกว่า ไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงที่จะให้ความเห็นที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้ จึงกล่าวเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคุณงามความดีของคุณหมอวิทิต เพื่อให้กำลังใจแก่คนที่ตั้งใจทำดีเพื่อชาติ เพื่อประชาชน เป็นการทั่วไปไม่ให้เสียกำลังใจ

“ไม้หอมยิ่งทุบความหอมยิ่งขจรขจาย ทำให้สังคมเห็นคุณค่าและสามารถทำประโยชน์ที่ใหญ่ยิ่งขึ้น ระบบสุขภาพที่เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ... ที่ไม่ใช่การเอาอำนาจเป็นตัวตั้ง หรือเอาผลกำไรเป็นตัวตั้ง ยังต้องก้าวอีกยาวไกล”

ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอันเกรียงไกรของเจงกิสข่าน จิ๋นซีฮ่องเต้ หรือของฮิตเลอร์ สตาลิน หรือผู้ใดอื่น ล้วนไม่จีรังยั่งยืน...มีแต่ความดีต่อประเทศชาติ ประชาชน เท่านั้นที่ประดับโลกให้งดงาม คนที่ประกอบคุณงามความดีมีเป็นอันมาก ถ้านำเรื่องราวดีๆมาสื่อสารให้รู้กันอย่างกว้างขวาง แผ่นดินก็จะมีพลัง

ในที่สุดพลังพลเมืองที่รู้เท่าทันเท่านั้นที่จะกำกับให้เกิดความถูกต้องเป็นธรรมในบ้านเมือง.