search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6514909
การเปิดหน้าเว็บ:9357891
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สสส.-กพย. จับมือภาคีเครือข่าย ดันแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นวาระแห่งชาติ
  03 พฤษภาคม 2554
 
 


วันที่: 3 พฤษภาคม 2554
ที่มา: เว็บไซต์มติชนออนไลน์
ลิงค์: www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1304420631

 

สสส.-กพย. จับมือภาคีเครือข่าย ดันแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นวาระแห่งชาติ ปลุกจิตสำนึกคนไทยตระหนักอย่าซื้อยามากินเอง สธ. เผยเชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิดถึง 50-60% ภายใน 10 ปี

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ  แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กร ReAct, Uppsala University, Sweden จัดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 เรื่อง การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมีตัวแทนนักวิชาการแพทย์ เภสัชกรจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วม

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหลายหน่วยงานที่มีภารกิจในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาและ การใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่ 1.ศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (NARST) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 2. โครงการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล (ASU) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ 3. กรมควบคุมโรค มีงานป้องกันการดื้อยาในกลุ่มโรคเฉพาะคือ มาลาเรีย วัณโรค เอดส์ เป็นต้น จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งชาติ (NARST) พบว่า เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อ Acinetobacter baumannii (อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ) ดื้อต่อยาหลายชนิดถึง 50-60%  โดยเฉพาะดื้อต่อยา carbapenems (คาร์บาพีแนม) ซึ่งเคยมีประสิทธิผลที่ดี แต่ในเวลาเพียง 10 ปี พบการดื้อต่อยานี้สูงขึ้น เป็น 30-60 เท่า (จาก ปี 2543 พบดื้อเพียง 1-2%  ต่อมาในปี 2553 ดื้อเพิ่มเป็น 60-62%) และยังพบเชื้อ Escherichia coli (เอสเชอริเชีย คอโล) ดื้อต่อยากลุ่ม beta-lactam (แบต้า-แลคแตม) ถึง 79-80% เป็นต้น

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงจากการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้น สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤต หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรังต่อไป จะนำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว สุดท้ายจะไม่มียาที่ใช้รักษาโรคได้ ปัญหานี้ต้องการการแก้ไขในระดับชาติ โดยต้องมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลักที่ชัดเจน รวมถึงแผนปฏิบัติการจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สสส. ได้กำหนดให้เรื่องระบบยาเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงต่อสุขภาพ สำหรับการประชุมครั้งนี้ สสส. หวังว่าจะได้นำไปสู่คำตอบใหม่ๆ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากปัญหาเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ ทั้งในระดับภูมิภาคและในประเทศไทย

ด้านผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)  กล่าวว่า กพย. ที่ได้เฝ้าระวังระบบยามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2553  เพื่อประมวลสถานการณ์เชื้อดื้อยาและปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ พบว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น ห้อง ICU ในหลายโรงพยาบาล พบเชื้อดื้อยาถึง 100% และพบเชื้อดื้อยาทั้งในโรงพยาบาลใหญ่ และ โรงพยาบาลเล็ก เชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหา เช่น Acinetobacter baumannii (อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ) ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ทางเดินปัสสาวะ ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง และแผลผ่าตัด เป็นต้น เมื่อติดเชื้อดื้อยานี้แล้วมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง  อัตราการดื้อยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการ สั่งใช้ยาปฏิชีวนะ ในภาพรวมของประเทศ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีมูลค่าการสั่งใช้รวมสูง เป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ carbapenems (คาร์บาพีแนม), cephalosporins(เซฟาโลสปอริน), penicillin(เพนนิซิลิน) and penicillins and enzyme inhibitors (เอนไซม์ อินฮิบิเตอร์) และพบรายงานมากมายที่ระบุว่าบุคลากรด้านสุขภาพจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมการสั่ง หรือจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พบคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง ส่วนใหญ่มักไม่ไปพบแพทย์ มักซื้อยามากินเองโดยไม่จำเป็น และกินไม่ครบตามจำนวนที่เหมาะสมกับการรักษาโรค ส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยา เมื่อมีอาการป่วยครั้งต่อไปก็ต้องใช้ยารักษาที่แรงขึ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องการจัดการปัญหา เชื้อดื้อยาอย่างเป็นระบบเหมือนต่างประเทศ ดังนั้น กพย.และภาคีเครือข่ายจะร่วมกันผลักดันเรื่องการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาให้ เป็นวาระแห่งชาติ กระตุ้นให้ทุกฝ่ายในสังคมทั้ง ภาคนโยบาย บุคลากรทางสุขภาพ และประชาชนตระหนักถึงอันตรายของเชื้อดื้อยาที่ส่งผลร้ายต่อสุขภาพคนไทย ต้องเร่งปลุกจิตสำนึกสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ใช้ยาอย่างฉลาด ถูกต้อง สมเหตุผล