search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517941
การเปิดหน้าเว็บ:9361150
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  “เชื้อดื้อยา” วิกฤติระดับชาติ เหตุใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
  11 พฤษภาคม 2554
 
 


วันที่: 11 พฤษภาคม 2554
โดย: พรประไพ เสือเขียว (article@dailynews.co.th)
ที่มา: เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์
ลิงค์:  www.dailynews.co.th/mobile/article.cfm?categoryId=330&contentId=138132

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อจัดลำดับอยู่ในความสำคัญของปัญหาระดับ โลก แม้ประเทศที่เจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา สเปน ก็ต้องเผชิญปัญหานี้เช่นกัน พฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อย ที่มีการศึกษาในคนไทย ได้แก่โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจส่วนบน โรคท้องร่วง-ท้องเสีย และแผลฉีกขาด

อาทิเมื่อเจ็บป่วยด้วยโรคหวัด ซึ่งมีอาการ ครั่นเนื้อครั่นตัว เจ็บคอ น้ำมูกไหล ไอ จาม หรือมีเสมหะสีเขียวเหลือง การมีไข้สูงเช่น 39 องศา หรือมีคอแดง ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป ส่วนโรคท้องร่วงเฉียบพลัน ใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดอาการท้องร่วงชนิดแบคทีเรียรุกล้ำเข้าไปในผนังลำไส้ (Invasive) มีไข้สูงกว่า 38 องศา อุจจาระมีเลือดปนเห็นด้วยตาเปล่า ส่วนอาการบาดแผลฉีกขาด สำหรับบาดแผลสะอาด คือ บาดแผลเปิดที่มีขอบเรียบสามารถล้างทำความสะอาดได้ง่าย บาดแผลไม่มีเนื้อตาย บาดแผลที่แม้มีสิ่งสกปรกติดอยู่ แต่สามารถล้างออกได้ง่าย บาดแผลที่ไม่ปนเปื้อนแบคทีเรียจำนวนมาก เช่น อุจจาระ มูลสัตว์ น้ำครำ เหล่านี้ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ

ผลข้างเคียงของการใช้ยาปฏิชีวนะจนเกินความจำเป็น นอกจากสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพคนไทยอยู่ในขณะนี้

ล่าสุด ที่กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กร ReAct, Uppsala University, Sweden จัดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 เรื่อง การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมีตัวแทนนักวิชาการแพทย์ เภสัชกรจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วม

โดย นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งชาติ (NARST) พบว่า เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อ Acinetobacter baumannii (อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ) ดื้อต่อยาหลายชนิดถึง 50-60% โดยเฉพาะดื้อต่อยา carbapenems (คาร์บาพีแนม) ซึ่งเคยมีประสิทธิผลที่ดี แต่ในเวลาเพียง 10 ปี พบการดื้อต่อยานี้สูงขึ้น เป็น 30-60 เท่า (จากปี 2543 พบดื้อเพียง 1-2% ต่อมาในปี 2553 ดื้อเพิ่มเป็น 60-62%) และยังพบเชื้อ Escherichia coli (เอสเชอริเชีย คอไล) ดื้อต่อยากลุ่ม beta-lactam (แบต้า-แลคแตม) ถึง 79-80% เป็นต้น

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ เช่น ห้องไอซียู ในหลายโรงพยาบาล พบเชื้อดื้อยาถึง 100% และพบเชื้อดื้อยาทั้งในโรงพยาบาลใหญ่และโรงพยาบาลเล็ก เชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหา เช่น Acinetobacter baumannii  ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ทางเดินปัสสาวะ ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง และแผลผ่าตัด เป็นต้น เมื่อติดเชื้อดื้อยานี้แล้วมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง

“พบคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่ถูกต้อง มักซื้อยามากินเองโดยไม่จำเป็น และกินไม่ครบตามจำนวนที่เหมาะสมกับการรักษาโรค ส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยา เมื่อมีอาการป่วยครั้งต่อไปก็ต้องใช้ยารักษาที่แรงขึ้น” ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้ารระวังและพัฒนาระบบยา บอกเล่า ในผู้ป่วยที่นิยมซื้อยากินเองหรือไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านยาปฏิชีวนะอาจ มองภาพไม่ออกแต่จากการวิเคราะห์ของแพทย์นั้นคือการเก็บงำอาการเจ็บป่วย เรื้อรังให้อยู่ในร่างกายตลอดไป และควรรับรู้ด้วยว่ายาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ “ขณะนี้สถานการณ์เชื้อดื้อยา เชื้อ “E.coli (อีโคไล) เป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ แต่เมื่อกินไม่ครบกำหนด กินยาที่ออกฤทธิ์กว้างเกินไป จะส่งผลให้เชื้อดังกล่าวดื้อยา เซฟาโลสปอริน (cephalosporins) จึงต้องหันไปใช้ยากลุ่มคาร์บาพีแนม รักษาแทน หากใช้ยานี้รักษาไปนาน ๆ จะเสี่ยงต่อการดื้อยาตัวใหม่ ที่เรียกว่า ซูเปอร์บั๊ก ขณะนี้แพร่กระจายอยู่ในอินเดีย จนรัฐบาลในอังกฤษและสวีเดนเตือนให้ประชากรของประเทศระมัดระวังการรักษาพยาบาลในอินเดีย ขณะนี้ประเทศไทยพบเชื้อกลุ่ม Enterobacteriaceae ที่ดื้อต่อยาคาร์บาพีแนมแล้วแต่ไม่มาก หากไม่มีการแก้ไขจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการเดินทางมาประเทศไทยของนัก ท่องเที่ยว” ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ในฐานะเลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย อธิบายปฏิกิริยาเชื้อโรคดื้อยาที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามปัญหาการใช้ยาพร่ำเพรื่อของคนไทยพบกลุ่มคนที่น่าห่วงคือกลุ่ม วัยรุ่น จากการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายผู้ปกครอง พบว่าในแต่ละเดือนพ่อแม่ต้องจ่ายเงินค่ายาปฏิชีวนะในการรักษาสิวให้กับลูก เมื่อสิวหายก็หยุดกิน ทั้ง ๆ ที่ยังกินยาไม่ครบชุดการรักษา

ด้าน ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ (สสส.) ย้ำว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้น สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ หากปล่อยให้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรังต่อไป จะนำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว สุดท้ายจะไม่มียาที่ใช้รักษาโรคได้ ปัญหานี้ต้องการการแก้ไขในระดับชาติ โดยต้องมีนโยบายและแผนยุทธศาสตร์หลักที่ชัดเจน รวมถึงแผนปฏิบัติการจากหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ สสส. ได้กำหนดให้เรื่องระบบยาเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบสูงต่อสุขภาพใน เวลานี้.