search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515886
การเปิดหน้าเว็บ:9358943
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  หยุดเพาะเชื้อ"ดื้อยา" เลิกใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ
  12 พฤษภาคม 2554
 
 


วันที่: 12 พฤษภาคม 2554
เขียนโดย: เมธาวี มัชฌันติกะ
ที่มา: ข่าวสดรายวัน ปีที่ 21 ฉบับที่ 7469 หน้า 21
ลิงค์: www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEV5TURVMU5BPT0




"ดื้อยา" สถานการณ์ไม่ธรรมดาที่เราต้องรีบทำความรู้จัก!!

จากความไม่รู้ และใช้ยาไม่เป็น ทำให้ขณะนี้ประเทศไทย กำลังตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่จะเกิดความเสี่ยงเชื้อดื้อยาระบาด โดยที่ประชาชนในประเทศยังไม่ได้เตรียมตัว รับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว

พฤติกรรมของคนไทยในการใช้ยา พบว่า มีความเข้าใจผิดและนำไปสู่การใช้ยาแบบผิดๆ ลักษณะที่พบได้บ่อย คือ การซื้อยารับประทานเอง การกินยาไม่ครบตามคำแนะนำ การใช้ยาผิดประเภท เช่น ใช้ยาแรงเกินไป หรือใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การใช้กลุ่มยาปฏิชีวนะ แบบผิดๆ เหตุเพราะคนไทยมักเรียกจนติดปากว่า "ยาแก้อักเสบ" แต่ความจริง ยาปฏิชีวนะ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียบางประเภท เช่น บาดแผล ก็ทำให้เกิดอาการบวมแดงได้เช่นกัน เมื่อกินยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ก็สามารถทำให้อาการบวมแดงยุบได้เช่นกัน จึงเกิดเป็นความเข้าใจผิด ว่า ยาปฏิชีวนะ คือ การแก้อักเสบ

ในทางการแพทย์ ยาแก้อักเสบ คือ ยาที่ช่วยลดอาการปวดบวม เช่น ยากลุ่มแอสไพริน (Aspirin) เอ็นเซด (NSAI) โดยรักษาการปวดกล้ามเนื้อ การอักเสบของกล้ามเนื้อ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อติดเชื้อแบคทีเรียแล้วเข้าใจผิดว่า ต้องรักษาการอักเสบ จึงทำให้คนไทยใช้ยาผิดประเภทเป็นจำนวนมาก

ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจและผิวหนัง ได้ดี คานามัยซิน มีสรรพคุณทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของระบบทางเดินอาหารและทางเดิน ปัสสาวะได้ดี โคไตรม็อกซาโซล ทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคของทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร และทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

ดังนั้นเมื่อนำไปใช้ผิด นอก จากไม่ช่วยทางการรักษา ยังทำให้เซลล์ในร่างกายพัฒนาตัวเอง จนเมื่อป่วยหรือร่างกายได้รับเชื้อแบคทีเรียจริงๆ ยาปฏิชีวนะก็ไม่สามารถเข้าไปทำลายเชื้อนั้นๆ ได้ เช่น เมื่อเป็นหวัด ไม่มีความจำเป็นต้องกินยาแก้อักเสบ เพราะหวัดเกิดจากเชื้อไวรัส ไม่ใช่เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิด "การดื้อยา" และยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้อีกด้วย

เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 เรื่อง "การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา" ซึ่งมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ กว่า 150 คนจาก 30 ประเทศ อาทิ ไทย สวีเดน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม เนเปาล ฯลฯ จัดโดยแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการระดมข้อมูลทางวิชาการ และแผนการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ดื้อยาวงกว้างในประเทศไทย
ผศ.ภญ.ดร. นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า สถานการณ์ในประเทศไทย ถือว่าน่าเป็นห่วง แม้ว่ายังไม่พบการระบาดของเชื้อดื้อยาก็ตาม แต่การสร้างระบบเฝ้าระวังและสร้างพฤติกรรมการใช้ยาที่ถูกต้องให้กับประชาชน ถือเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างยิ่ง

ผศ.น.พ.กำธร มาลาธรรม เลขาธิการสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย อธิบายว่า การใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ จะเป็นแหล่งเพาะเชื้อดื้อยา และหากดื้อยามากขึ้นอาจเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาตัวใหม่ ที่เรียกว่า "ซูเปอร์บั๊ก" ที่ไม่มียาชนิดไหนสามารถฆ่าเชื้อได้ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่ประเทศอินเดีย

ส่วน ประเทศไทยพบว่าเริ่มมีการดื้อยาของเชื้อ E.coli (อีโคไล) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในลำไส้ เมื่อเกิดการดื้อยา ก็ทำให้ต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงมากขึ้น คือ ยาในกลุ่ม carbapenems (คาร์บาพีแนม) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง และเหลือยาไม่มีตัวที่จะใช้รักษาได้หากดื้อยาดังกล่าว จึงเสี่ยงที่จะเกิด "ซูเปอร์บั๊ก" ขึ้นได้

สถานการณ์เหล่านี้ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาผิดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งยังเปลี่ยนได้ โดยภายในงานยังมีโครงการประกวด "สื่อฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ" ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก "อย่าใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่จำเป็น" เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกัน โดยให้นักเรียน นักศึกษา สร้างสรรค์ผลงานสื่อรณรงค์ยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยา สื่อไปยังสังคม



ด.ญ.จุฬาลักษณ์ โสภา นักเรียนชั้น ม. 3 โรงเรียนนารีวิทยา จ.ราชบุรี ผู้ชนะการประกวดประเภทสุนทรพจน์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น กล่าวถึงความภูมิใจที่ได้เข้าร่วมประกวดครั้งนี้ว่า ดีใจที่ได้อธิบายให้เกิดความเข้าใจถึงอันตรายหากใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และจุดประกายให้สังคมหันมาเข้าใจและเลิกกินยาปฏิชีวนะแบบผิดๆ เพราะยาปฏิชีวนะใช้เฉพาะบางโรค อย่าใช้ความคิดของเราตัดสินว่ากินยาแล้วจะ หายจากโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

น.ส.มนัสพร บุสศระ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสุรนารีวิทยา จ.นครราชสีมา ผู้ชนะการประกวดประเภทภาพยนตร์สั้น ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวถึงการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ว่า ดีใจที่ได้รณรงค์ให้คนเข้าใจในสิ่งที่ผิด จากความเชื่อว่ากินยาปฏิชีวนะแล้วจะหายจากอาการป่วย อยากฝากถึงผู้ที่ชอบซื้อยาปฏิ ชีวนะมากิน ว่า เมื่อป่วยการพบแพทย์ หรือ ปรึกษาเภสัชกร ดีกว่าการซื้อยากินเอง ซึ่งอาจเกิดเชื้อดื้อยาจนเป็นอันตรายต่อตัวเอง

น.ส.อริสสา โพธิสิริสกุลวงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัย มหิดล ผู้ชนะการประ กวดประเภทสุนทร พจน์ ระดับปริญญาบัณฑิต กล่าวว่า ยาปฏิชีวนะหรือที่คนมักเรียกว่าเป็นยาแก้อักเสบนั้นมีอันตรายเพราะทำให้เกิด เชื้อดื้อยามากที่สุด จึงอยากให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่ มีความรู้เรื่องยาในการจ่ายยา เพื่อทุกคนจะปลอดภัยจากการใช้ยา

แม้ว่ายาจะมีประโยชน์ แต่ก็มีโทษได้หากใช้ไม่ถูกวิธี


ใช้ยาถูกวิธีไม่มีอันตราย

กินยาอย่างไร ให้ถูกต้อง และปลอดภัย เป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถาม และปฏิบัติให้ถูกวิธี หลังพบว่าพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยยังเกิดขึ้นแบบผิดๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายจากการใช้ยา
การใช้ยาที่ถูกวิธี ที่ควรรู้ มีหลักง่ายๆ
ถูกคน-ถูกโรค-ถูกขนาด-ถูกวิธี-ถูกเวลา
กล่าว คือ ยาไม่ใช่สิ่งที่แบ่งกันได้ เมื่อแพทย์จ่ายยาแล้ว ไม่ควรนำไปแบ่งคนอื่น หรือขอยาจากคนอื่นมารับประทาน เพราะยาจะมีประโยชน์เมื่อกินถูกโรค ตรงตามอาการ กินตามปริมาณที่สั่งจ่าย ไม่เพิ่มหรือลดปริมาณเอง โดยเฉพาะเด็กต้องคำนึงถึงน้ำหนักตัวด้วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ตับ ไต หรือหญิงตั้งครรภ์ ก็มีข้อจำกัดในการรับยาต่างกับคนทั่วไป
"ถูก วิธี" เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ และปฏิบัติไม่ถูก "ยา" เป็นสิ่งต้องใช้ความระมัดระวัง


-สิ่งที่ควรทำเมื่อต้องใช้ยา

- ปรึกษาเภสัชกร ให้เข้าใจก่อนการใช้ยา เช่น ชื่อสามัญของยา เพื่อประโยชน์ หากแพ้ยา และป้องกันการได้รับยาซ้ำซ้อน, สรรพคุณของยา, ข้อควรระวัง, ระยะเวลาในการกิน, อาการไม่พึงประสงค์ จากการใช้ยา เพื่อสังเกตอาการของตนเอง เพราะยาบางชนิดหากแพ้อาจอันตรายถึงชีวิต
- ทราบอาการข้างเคียง เพราะยาบางชนิด ในเอกสารกำกับยาอาจระบุข้อควรระวังจากการใช้ยาเช่น รับประทานยานี้แล้วอาจทำให้ง่วงนอนไม่ควรใช้เครื่องจักรหรือขับขี่ยานพาหนะ ยานี้จะระคายเคืองกระ เพาะอาหาร ถ้ารับประทานขณะท้องว่างอาจจะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ เป็นต้น
- อ่านฉลากทุกครั้ง ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น ยากิน ยาทา ยาอม ยาแปะ ยาใช้เฉพาะที่ และสังเกตวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ หากฉลากยาเลอะเลือนก็ไม่ควรรับประทานเพื่อความปลอดภัย
- เก็บให้ถูกวิธี เพราะยาแต่ละประเภทจะมีวิธีเก็บที่ต่างกัน เช่น ต้องเก็บที่อุณหภูมิห้อง, เก็บในอุณหภูมิต่ำ, ห้ามโดนแสง, ทิ้งทันทีเมื่อเปิดใช้ 1 เดือน เช่น ยาหยอดตา เป็นต้น นอกจากนี้ ควรสังเกตลักษณะของยาเพื่อป้องกันการใช้ยาเสื่อมสภาพ เช่น เม็ดยาสีซีดจากเดิม กลิ่นเปลี่ยนไป หรือฉุนผิดปกติ ยามีความหนืด หรือเกิดตะกอน
นอกจากนี้ ควรเก็บยาให้พ้นมือเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และควรจัดเก็บ ยารับประทาน ยาทา ยาอันตรายให้เป็นหมวดหมู่ ไม่ควรนำมาไว้รวมกันเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด


-ต้องศึกษาวิธีใช้ให้ ถูกต้อง

น.พ.พงพันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อธิบายเพิ่มเติมว่า ยาสามัญประจำบ้าน เป็นยาที่ใช้รักษาการเจ็บป่วยง่ายๆ ที่ไม่ต้องพบแพทย์ ตามกฎหมายจะมีข้อบังคับให้ต้องระบุ ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดไว้ในเอกสารคำแนะนำการใช้ยา ทั้งชื่อ วันเดือนปีที่ผลิต ลักษณะการใช้ ข้อบ่งชี้ คำเตือน ฯลฯ ในขนาดที่สามารถมองเห็นได้ โดยจะผ่านความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแล้วว่า ขนาดที่ระบุสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
แต่หากเป็นยาที่จำหน่ายในร้าน ขายยา สิ่งที่ต้องตระหนัก คือ ซื้อร้านที่มีเภสัชกรประจำร้าน ซึ่งยาที่อนุญาตให้จำหน่ายในร้านขายยา กำหนดไว้แล้วว่า เภสัชกร มีความรู้เพียงพอในการสั่งจ่าย ซึ่งประชาชนควรถามคำแนะนำจากเภสัชกรอย่างละเอียดเพื่อใช้ยาอย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ยาอันตรายที่ต้องควบคุมพิเศษ จะต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อให้การรักษาปลอดภัย ถูกต้อง เป็นไปตามอาการที่เกิดขึ้นจริง
หาก ปฏิบัติตามคำแนะนำ และศึกษาวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง เชื่อว่า ทุกคนจะสามารถใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และไม่เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพตามมาอย่างแน่นอน


-ยามีทั้งคุณ-โทษ

รศ.จิ ราพร ลิ้มปานานนท์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การใช้ยาให้ถูกต้องปลอดภัย สิ่งที่ต้องทำ 2 ประการ คือ
1.บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข จำเป็นต้องสั่งจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผล ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใส่ชื่อสามัญของยาแทนชื่อทางการค้า เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและเลือกใช้ยาที่มีคุณภาพ ต้องมีราคาถูกและไม่ถูกผูกขาดทางสิทธิบัตรยา สิ่งสำคัญ คือ การจ่ายยาแบบสมเหตุสมผลตามความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้น และต้องให้ประชา ชนคุ้มค่ากับสิ่งที่จ่ายไป ทั้งนี้บุคลากรทาง การแพทย์ หรือผู้สั่งจ่ายยา ควร ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่พึ่งของ ผู้บริโภค ซึ่งเรียนรู้การใช้ยาจากบุคคลเหล่านี้อีกต่อหนึ่ง หากอยากให้ผู้บริโภคใช้ยาอย่างเหมาะสม ก็จำเป็นต้องเป็นตัวอย่างที่ดี
2. ผู้บริโภคต้องเรียกร้องและรักษาสิทธิของตนเอง ทั้งเรื่องการทราบชื่อยาสามัญ ทราบโรคของตนเองและทราบว่ายาที่ต้องกินนั้น ออกฤทธิ์อย่างไร มีผลข้างเคียงอย่างไร ต้องระมัดระวังอย่างไร โดยเฉพาะการซื้อยากินเอง ผู้บริโภคจำเป็นต้องรักษาสิทธิที่กฎหมายกำหนดว่าการสั่งจ่ายยาต้องทำโดยผู้ ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ไม่ใช่ว่าจะรับยาจากใครก็ได้

"สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทราบ คือ ยานั้นมีทั้งคุณและโทษ การใช้ยาทุกครั้งต้องทำอย่างระมัด ระวัง และรู้เท่าทัน ซึ่งการสร้างพฤติกรรมการใช้ยาอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องทำร่วมกัน ทั้งผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพ"

รศ.จิราพร กล่าวด้วยว่า ในระบบยาของประเทศไทย จำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลระบบการใช้ยาทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันระบบยามีการพัฒนาไปอย่างมาก การที่มีกฎหมายล้าสมัย ทำให้การคุ้มครองดูแลเป็นไปอย่างไม่ทันการ นอกจากนี้การให้ทะเบียนยาตลอดชีพ ทำให้กระบวนการทบทวนความรู้ทางวิชาการขาดหายไป จำเป็นจะต้องมีการเพิ่มระบบการต่อทะเบียน เพื่อให้เกิดการทบทวนวิชาการในตัวยานั้นๆ

ส่วนการขึ้นทะเบียนตำรับยา นอกจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยแล้ว จำเป็นต้องเพิ่มระบบการประเมินความคุ้มค่าของยาชนิดนั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการเปรียบเทียบหรือศึกษาความคุ้มค่าในการขึ้นทะเบียน ยาชนิดใหม่ๆ ซึ่งพบว่า มียาหลายชนิดที่ปรับปรุงตำรับยาเดิมเพียงเล็กน้อย และนำมาขึ้นทะเบียนใหม่ ทำให้เสียทรัพยากรโดยใช่เหตุ


-ของแพงไม่ใช่ของดีเสมอไป

ด้านผศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และรองผจก.แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สังคมไทยจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการใช้ยา เพราะหากเปรียบเทียบพฤติกรรมการใช้ยาของคนไทยกับชาวตะวันตก ชาวตะวันตกจะซักถามอย่างละเอียดว่ายาที่ได้รับจะออกฤทธิ์อย่างไร มีความจำเป็นมากน้อยอย่างไรที่ต้องใช้ และมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องใช้ยาหรือไม่ ต่างจากคนไทย ที่รับยาโดยไม่ทราบว่ามีกล ไกการออกฤทธิ์อย่างไร จำเป็นต้องใช้หรือไม่

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่คนไทยเชื่อมั่นในบุคลากรทางการแพทย์ และกลัวว่าจะถูกตำหนิหากซักถาม จึงต้องสร้างวัฒนธรรมในการรับรู้ เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง เนื่องจากพบว่าการใช้ยาชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ ซึ่งมักมีราคาแพงไม่ได้มีประโยชน์อย่างเดียวเสมอไป ที่ผ่านมาเคยมีการเพิกถอนยาเบาหวานชนิดใหม่ คือ โรสิกลีตาโซน (Rosiglitazone) ในกลุ่มข้าราชการที่มีการเบิกจ่ายยาดังกล่าวจำนวนมาก เพราะพบว่ามีผลข้างเคียงทางด้านภาวะหัวใจ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต แสดงให้เห็นว่าความเชื่อในการใช้ยาราคาแพง ยาชนิดใหม่ที่เพิ่งค้นพบ ไม่จำเป็นว่าจะดีเสมอไป