search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515666
การเปิดหน้าเว็บ:9358721
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  กสทช.ออกมาตรการชั่วคราว สั่งระงับออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ อาหาร และยาในทีวีดาวเทียม
  24 เมษายน 2555 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 


วันนี้(๒๔ เม.ย. ๕๕) ห้องสื่อมวลชน อาคารอำนวยการ ชั้น ๒ สำนักงานกสทช. ซอยพหลโยธิน ๘ (สายลม) สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิเสรีภาพของประชาชน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ และรองเลขาธิการฯ ประเสริฐ  อภิปุญญา ร่วมกันแถลงข่าวการดำเนินการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียมต่อโฆษณา อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย อย.

กสทช.สุภิญญา  กลางณรงค์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้(๒๓ เม.ย.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) ได้พิจารณาแนวทางการให้ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในการตรวจสอบและยุติการเผยแพร่ภาพทางโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเสนอโดยคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผ่านกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  กรณี การเผยแพร่ออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟูดส์ ซันคลาร่า และเกร็กคู
             
ซึ่งที่ประชุม กสท. ได้พิจารณาแล้ว มีมติว่า ตามที่ได้มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า อย. ได้มีข้อสรุปแล้วว่า การโฆษณาออกอากาศโฆษณาผลิตภัณฑ์เอนไซม์เจนิฟู๊ด ซันคลาร่า และเกร็กคู เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริง และได้ส่งเรื่องดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับโฆษณาดังกล่าว ในชั้นนี้จึงเห็นสมควรที่จะออกมาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการเยียวยาหรือระงับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีก จึงให้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ให้แจ้งกับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมทุกช่องเพื่อทำการระงับการเผยแพร่ออกอากาศการโฆษณาดังกล่าว ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำตัดสินถึงที่สุดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนั้น กสท.มีมติเห็นชอบการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกัน(MOU) กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)  สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) เพื่อกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เนื่องจากที่ผ่านมา อย.ได้เฝ้าระวังการโฆษณาเกินจริงและฝ่าฝืนกฎหมายแพร่ภาพผ่านสัญญาดาวเทียม โดยมีการดำเนินคดีพร้อมแจ้งระงับการโฆษณาแล้วแต่ยังมีการแพร่ภาพรายการดังกล่าวอยู่ ตนได้ขอความร่วมมือกับตัวแทนบริษัทไทยคม จำกัด(มหาชน) ซึ่งบริษัทฯยินดีประสานความร่วมมือในการติดตามและเชื่อมโยงฐานข้อมูลผู้ประกอบการที่ออกอากาศ ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กสท.จะนำเข้าพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในการประชุมครั้งต่อไป (๓๐ เม.ย.) และหลังจากการประชุม ในช่วงบ่าย กสทช.สุภิญญา และคณะ จะไปหารือถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานกับผู้บริหารบริษัทไทยคมอีกด้วย

อนึ่ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ เม.ย.ที่ผ่านมา กสทช.สุภิญญาได้เข้าร่วมชุมหารือกับ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ทก.) นางจีราวรรณ  บุญเพิ่ม พร้อมด้วยผู้บริหารที่เกี่ยวข้องถึงปัญหาโฆษณาอาหาร และยาที่เกิดขึ้น ได้มีข้อสรุปต่อการทำงานร่วมกัน ดังนี้

๑. จัดทำข้อมูล ฐานข้อมูล ที่เกี่ยวข้องต่อการใช้งานช่องสัญญาณของดาวเทียมไทยคม โดยมีการขอความร่วมมือไปยังบริษัทไทยคม จำกัด(มหาชน) ในการรวบรวมข้อมูลบัญชีรายชื่อผู้จดทะเบียนเช่าช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม เพื่อแจ้งให้ อย. รับทราบ และเป็นความร่วมมือในการควบคุมดูแลผู้เผยแพร่รายการหรือโฆษณาไม่ให้ฝ่าฝืนกฎหมาย และขยายผลเชื่อมโยงไปยังเจ้าของผลิตภัณฑ์ เจ้าของโฆษณา บริษัทห้างร้านหรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป

๒. กระทรวงฯ เมื่อได้รับทราบปัญหาในการโฆษณาฯ ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียม ที่ผิดกฎหมาย จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงฯ จะมีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริง ไปยังบริษัทไทยคม จำกัด(มหาชน) โดยมอบหมายสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เป็นผู้ประสานงานต่อไป

๓. มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม

๔. เห็นควรให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เข้าร่วมแก้ไขปัญหาร่วมกันในภาพรวมต่อไป อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง เป็นต้น

๕. การใช้มาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อมีการจับกุมผู้กระทำความผิดในกรณี จำหน่ายหรือโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายควรมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดมาตรการทางสังคมลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อให้สังคมเกิดความรู้เท่าทัน ให้ผู้กำลังกระทำหรือคิดจะกระทำความผิดเกรงกลัวและลดจำนวนการกระทำความผิดลง

๖. การผลิตสื่อสร้างสรรค์ประชาสัมพันธ์ การสร้างความตระหนัก การให้ความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถใช้วิจารณญาณในการอุปโภค บริโภค อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย ลดโอกาสการหลงเชื่อโฆษณาที่หลอกลวง ผิดกฎหมาย

๗. การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้มีการดำเนินงานแก้ไขปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายในโทรทัศน์ดาวเทียม อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้สำหรับ ทก. และ กสทช. นั้นมีการลงนามข้อตกลงความร่วมมืออยู่แล้ว

ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ กสทช. แก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อเป็นการเยียวยาและระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค นอกเหนือจากการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้บริโภค และสื่อมวลชน ที่มีผลให้ผู้ประกอบการตระหนักและมีความสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมและต่อสุขภาพของประชาชน

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ส่วนงานกสทช.สุภิญญา กลางณรงค์ ๐๒-๒๙๐-๕๒๑๓