search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515523
การเปิดหน้าเว็บ:9358545
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  จากเริ่มยาต้านไวรัสที่ CD4 350 สู่ระบบมาตรฐานการรักษาเดียวกัน
  02 ตุลาคม 2555
 
 


วันที่: 2 ตุลาคม 2555
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นิมิตร์ เทียนอุดม : มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ /คอลัมน์ได้อย่างไม่เสียอย่าง
       
วันที่ 1 ต.ค.2555 นี้ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการจะได้รับยาต้านไวรัสเมื่อภูมิคุ้มกัน (CD4) อยู่ที่ระดับ 350 ซึ่งถือเป็นมาตรฐานการรักษาเดียวกันในทุกระบบและนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ กล่าวได้ว่า นโยบายดังกล่าว คือ รูปธรรมของการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และถือเป็นการกระจายงบประมาณรัฐบาลที่ทั่วถึงเท่าเทียม และถ้าเราเข้าใจว่านี่คือก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งของการเริ่มต้นเดินทางไปสู่เป้าหมายของการมีระบบหลักประกันสุขภาพที่ดีที่มีระบบการจัดการการเงินและมาตรฐานเดียว ผมอยากชวนให้พวกเราช่วยกันติดตามและสนับสนุนช่วยให้มีก้าวต่อๆ ไป ที่มั่นคงยิ่งขึ้นครับ


การที่ทุกระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศใช้แนวทางการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ ซึ่งกำหนดโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาเอดส์จากหลายๆ สถาบัน มาทำงานด้วยกัน ในนามของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และประกาศเป็นแนวทางให้แพทย์/ผู้รักษาทั่วประเทศใช้ ถือเป็นการใช้กลไกที่สำคัญของกรมควบคุมโรคในด้านวิชาการ นับว่าเป็นการทำให้ผู้เกี่ยวข้องชัดเจนต่อบทบาทด้านวิชาการของกรมควบคุมโรคมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีตที่อาจจะเน้นบทบาทด้านการรักษา การจัดหายา เมื่อกรมควบคุมโรคได้ทำในสิ่งที่ต้องทำ ถูกที่ ถูกเวลา จึงทำให้ประเทศมีแนวทางการรักษาเอดส์ที่เป็นวิชาการ มีข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นไปในแนวทางเดียวกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทำงานง่ายขึ้น และเป็นหลักประกันด้านคุณภาพการรักษาที่ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับ
       
เมื่อแนวทางการรักษาเป็นแนวทางเดียวกันทุกระบบ จะส่งผลดีต่อระบบการบริหารจัดการยาด้วยเพราะจะทำให้ประเทศ มีอำนาจต่อรองราคายา ราคาน้ำยาตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ทำให้ได้ยาที่ดีมีคุณภาพในราคา “เบาๆ” ประหยัดค่ายาในแต่ละกองทุนได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังช่วยให้ห้องยาต่างๆ ในแต่ละโรงพยาบาล ลดภาระการจัดการยาที่ต้องแยกตู้ แยกที่เก็บ ของแต่ละกองทุน ในส่วนของผู้ติดเชื้อที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งแต่เดิมหมอผู้รักษาอาจจะสั่งจ่ายสูตรยาที่เกินความจำเป็นที่ต้องได้คือให้ยาสูตรสำรองกับผู้ติดเชื้อประกอบกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีอาจจะได้รับข้อมูลเรื่องการกินยาที่ไม่ดีพอจะเข้าใจว่าต้องกินยาอย่างต่อเนื่อง ตรงเวลาทำให้เกิดการกินยาไม่ต่อเนื่อง ไม่ตรงเวลา ก่อให้เกิดภาวะดื้อยา และทำให้ไม่มีทางเลือกในการปรับสูตรยาได้เท่ากับผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่มีสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพอื่นๆ ที่เริ่มรับยาจากสูตรพื้นฐานเมื่อเกิดภาวะดื้อยาจากสาเหตุต่างๆ จะมียาต้านไวรัสสูตรสำรองไว้เปลี่ยนมากกว่าคนที่เอายาต้านในสูตรสำรองมาใช้ตั้งแต่เริ่มต้นซึ่งปัญหานี้ได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากเรื่องยาแล้ว เรื่องการใช้งบประมาณค่ารักษา ค่ายา ค่าการตรวจต่างๆ ตามสิทธิประโยชน์ก็จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน หมายความว่า ไม่ว่าเราจะมีสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพใด เมื่อป่วยด้วยโรคเดียวกันจะได้รับการรักษาด้วยคุณภาพ มาตรฐานทางการแพทย์ ทางการเงิน เดียวกันนั่นเอง
       
นอกจากนี้ ยังมีอีกเรื่องที่น่ายินดี เพราะในอนาคตทั้งสามระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะใช้ระบบการบันทึกข้อมูลร่วมกันที่เรียกว่า “NAP” ซึ่งเป็นระบบบันทึกการให้บริการกับประชาชนที่มารับบริการดูแลรักษาเอชไอวี/เอดส์ ตั้งแต่เริ่มต้น โดยจะเก็บบันทึกรายละเอียดต่างๆ พร้อมทั้งการให้รหัสเพื่อใช้ในการติดต่อเข้ารับบริการ ระบบดังกล่าวเป็นการให้ความมั่นใจเรื่องความเป็นส่วนตัว การรักษาความลับ ดังนั้น เมื่อทั้งสามระบบเริ่มใช้ระบบการเก็บบันทึกข้อมูลเดียวกัน จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อที่เปลี่ยนสิทธิการรักษา ย้ายสถานที่รักษาได้รับการรักษาต่อเนื่องที่หน่วยบริการใหม่เพราะข้อมูลการรักษาจะตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม การที่จะใช้ระบบบันทึกระบบเดียวกันนี้ ทั้งสามระบบหลักประกันสุขภาพต้องใช้เวลาปรับแก้ระยะหนึ่ง หากปรับแก้สำเร็จแล้วระบบบันทึกร่วมกันนี้จะเป็นต้นแบบให้กับอนาคตต่อไปสำหรับโรคอื่นๆ ต่อไปได้
       
และนี่คือบทเรียนสำคัญที่บอกกับเราว่า การทำให้ทุกคนได้รับสิทธิการดูแลรักษาจากรัฐที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียว เป็นสิ่งที่ทำได้