search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6519810
การเปิดหน้าเว็บ:9363061
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ติง! ร่างกรอบเอฟทีเอไทย-อียู ละเมิดมติ ครม.เดิม
  21 มกราคม 2556
 
 


วันที่: 21 มกราคม 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000008223


    
       กรมเจรจาฯเตรียมเปิดรับฟังความเห็น ร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู วันที่ 23 ม.ค.นี้ ภาคประชาสังคมชี้ละเมิด มติ ครม.เดิมถึง 3 เรื่อง ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าทริปส์พลัส การใช้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศโดยไม่ผ่านมติ ครม. และการค้าเสรีแอลกอฮอล์ จวกจะทำให้กลายเป็น “การฆ่าเสรี” แทน
       
       วันนี้ (21 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในการแถลงข่าว “เปิดกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู รวบรัด ตัดตอน ผิดรัฐธรรมนูญ” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่านร่างกรอบเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2555 แต่เพิ่งมีการเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่เนื้อหาเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนในภาพรวม โดยในวันที่ 23 ม.ค.นี้ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างกรอบเจรจาฯดังกล่าว แต่เป็นการจัดขึ้นอย่างกะทันหัน ทำให้ภาคประชาสังคมมีเวลาเตรียมตัวน้อยในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆในการเจรจา ทั้งประเด็นทริปส์พลัส ทรัพย์สินทางปัญญา ความมั่นคงด้านอาหาร อนุญาโตตุลาการ หรือการค้าเสรีสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ ทางกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์จะรับฟังร่างกรอบเจรจาฯและแสดงความเห็นเป็นรายมาตรา โดยหวังว่ากรมเจรจาฯจะนำความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมไปปรับร่างกรอบเจรจาฯ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
       
       นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า จากการพิจารณาร่างกรอบเจรจาฯ พบว่า เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชนในภาพรวมจะเขียนอย่างกว้างๆ ขณะที่เนื้อหาภาคธุรกิจกลับเขียนอย่างรัดกุม อย่างประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ที่ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี (ทริปส์พลัส) นั้น หมายความว่า อนุญาตให้เจรจาตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์พลัสได้ แม้จะมีข้ออื่นๆที่ช่วยป้องกัน แต่กลับไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ เช่น การผูกขาดข้อมูลทางยา จะขัดขวางการขึ้นทะเบียนยาของผู้ผลิตรายอื่นที่ผลิตยาตามประกาศซีแอล ตรงนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของไทย โดยเฉพาะการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐอย่างรุนแรง
       
       ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การค้าเสรีจะทำให้สินค้าราคาถูกลง บริการดีขึ้น โฆษณาทำการตลาดได้อย่างเสรี หลักการนี้ควรนำไปใช้กับสินค้าที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์เท่านั้น ไม่ใช่สินค้าที่เป็นโทษต่อมนุษย์อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ฆ่าคนไทยถึง 26,000 รายต่อปี ตกชั่วโมงละ 3 คน และยังสร้างปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 60 โรค ถ้าปล่อยให้มีการค้าเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะกลายเป็นการฆ่าเสรีแทน
       
       “รัฐบาลนี้เคยเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวกจีน เมื่อปี 2555 โดยมีข้อสรุปตรงกันว่า จะถอนสินค้าเหล้า บุหรี่ ออกจากสินค้าปลอดภาษี เพราะเป็นสินค้าทำลายสุขภาพ แต่การเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู รัฐบาลกลับนำสินค้าดังกล่าวมาทำการค้าเสรี แถมยังเป็นการยกเลิกมติ ครม.สมัชชาสุขภาพที่เห็นว่าไม่ควรให้มีการค้าเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอ้างเรื่องจีเอสพีหมดอายุมาเป็นเรื่องสำคัญแบบไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมเคยมีข้อเสนอแนะเรื่องดังกล่าว ในการจัดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในเรื่องการจัดทำความตกลงเอฟทีเอ ไทย-อียู แต่กลับไม่มีเรื่องดังกล่าวในร่างกรอบเจรจาฯ” ภก.สงกรานต์ กล่าว
       
       น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ตัวแทนกลุ่มเอฟทีเอว็อทช์ กล่าวว่า ประเด็นเจรจาในร่างกรอบเจรจาฯมีการละเมิดมติ ครม.เดิมถึง 3 เรื่องด้วยกัน คือ 1.มติ ครม.ยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยา ซึ่งการเจรจาการค้าระหว่างประเทศต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์พลัส แต่ร่างกรอบเจรจาฯใช้ว่าให้มีความสอดคล้อง ซึ่งหมายความว่าสามารถมีการตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์พลัสได้ 2.มติ ครม.ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และ 3.มติ ครม.เมื่อเดือน ก.ค.2552 ที่ห้ามมิให้ใช้ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาทุกประเภทที่รัฐไทยทำ เว้นแต่ครม.จะอนุมัติเป็นรายๆ ไป ซึ่งในร่างกรอบเจรจาฯ ไม่ได้มีการขออนุมัติใดๆ แต่กลับมีปรากฏในประเด็น 5.9.5 ที่ระบุว่า เปิดโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นทางเลือกหนึ่งในการระงับข้อพิพาท และผลักดันให้มีกลไกหารือเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการลงทุนเฉพาะเรื่อง ซึ่งเสี่ยงต่อการนำมาใช้การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
       
       น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สธ.และ IHPP กำลังทำการศึกษาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ส่วน TDRI กำลังทำการศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ในการทำเอฟทีเอ ไทย-อียู ซึ่งจะทำให้เรามีข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านก่อนที่จะไปเจรจาการค้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้ไทยไม่ต้องเจรจาแบบมือเปล่าเช่นทุกครั้ง แล้วต้องไปแก้โจทย์แก้เกมตามที่กลุ่มประเทศคู่ค้าเสนอมา แต่เราจะสามารถต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศได้ โดยที่ประเทศคู่ค้าต้องพิจารณาตามเกณฑ์ที่เราต้องการ