search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6519937
การเปิดหน้าเว็บ:9363189
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ตะลึงวัยรุ่นฮิตใช้ยาคุมฉุกเฉิน
  01 เมษายน 2554
 
 


กรุงเทพฯ : ตะลึงวัยรุ่นนิยมกินยาคุมกำเนิดหลังมีเซ็กซ์สูง ยอดพุ่งถึง 8 ล้านกล่องต่อปี ระบุเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำ เป็นการใช้ยาผิดประเภท เสี่ยงติดเอดส์ ท้องไม่พร้อม แสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า และไม่ใช้ถุงยางอนามัย

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงพฤติกรรมการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ในการจัดเสวนาเรื่อง "เปิดมุมมองพฤติกรรมการใช้ยาคุมฉุกเฉิน อันตรายเสี่ยงติดเอดส์-ท้องไม่พร้อม" ว่าปัจจุบันคนไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นมีพฤติกรรมการใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินมากกว่ายาคุมแบบปรกติ และได้รับความนิยมมากกว่ายาทำแท้ง

จากผลการวิจัยเรื่องความรู้เกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินในนักศึกษาระดับปริญญาตรีในเขตกรุงเทพมหานครของนายเขมินท์ เอี่ยมน้อย พบว่าผู้ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินมากที่สุดคือกลุ่มวัยรุ่นอายุระหว่าง 16-24 ปี โดยกว่าร้อยละ 83.3 รู้จักยาคุมฉุกเฉิน และร้อยละ 81.85 เพื่อนแนะนำให้ใช้ อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งเข้าใจผิดหรือใช้ไม่ถูกต้อง โดยประเด็นที่เข้าใจผิดมากที่สุดคือเข้าใจว่าเป็นยาทำแท้ง

นอกจากนี้ในปี 2552 มีการผลิตและนำเข้ายาคุมกำเนิดฉุกเฉินกว่า 8 ล้านกล่องต่อปี ซึ่งล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 (กพย.)  ได้สำรวจการจำหน่ายยาคุมฉุกเฉินในเครือข่ายร้านขายยา 45 แห่งทั่วประเทศ พบว่าผู้ซื้อยาคุมฉุกเฉินส่วนใหญ่ร้อยละ 47.73 มีอายุระหว่าง 16-20 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 21-25 ปี ร้อยละ 36.36 กลุ่มอายุ 26-30 ปี ร้อยละ 13.64 และอายุมากกว่า 30 ปี ร้อยละ 2.27 ส่วนใหญ่ผู้ซื้อร้อยละ 70.45 เป็นผู้หญิง โดยอัตราการจำหน่ายยาคุมฉุกเฉินของร้านขายยาเฉลี่ยวันละ 6.5 กล่อง บางแห่งสูงถึง 25 กล่องต่อวัน ซึ่งมีแนวโน้มการจำหน่ายที่เพิ่มมากขึ้น นั่นแสดงถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เตรียมตัวล่วงหน้า และไม่ใช้ถุงยางอนามัย

"ยาคุมฉุกเฉินเป็นยาคุมกำเนิดที่ใช้ภายหลังการมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เฉพาะกรณีฉุกเฉินจำเป็นจริงๆ อาทิ กรณีการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ตั้งใจ อย่างการถูกข่มขืนหรือถุงยางอนามัยที่ใช้เกิดรั่ว-แตก เป็นต้น มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณร้อยละ 89 เท่านั้น ที่สำคัญยาคุมฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แม้กระทั่งไวรัสตับอักเสบบี และยังเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เพราะเมื่อนำยาคุมฉุกเฉินมาใช้แทนวิธีคุมกำเนิดแบบธรรมดา จะกลายเป็นการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพต่ำไปในทันที อีกทั้งยังทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง มีเลือดออกทางช่องคลอด และอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนมาไม่ปรกติ กะปริด กะปรอย บางรายเคยพบปัญหาการตั้งครรภ์นอกมดลูกด้วย" ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าว

ด้าน น.ส.อุษาสินี ริ้วทอง เจ้าหน้าที่องค์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสาธารณสุข (องค์กรแพธ) กล่าวว่า จากการทำงานเรื่องเพศศึกษาขององค์กรแพธ ในส่วนของคลินิก Lovecare บริการที่เป็นมิตร พบว่าวัยรุ่นมีความรู้เรื่องยาคุมฉุกเฉินไม่ชัดเจนมากนัก เข้า ใจผิดและคิดว่าเหมือนยาคุมกำเนิดแบบปรกติ เด็กจะกังวลเรื่องท้องไม่พร้อมมากกว่าเรื่องการติดเชื้อเอดส์จากการมีเพศสัมพันธ์

"มีข้อสังเกตด้วยว่า สถานการณ์เมื่อ 3-4 ปีก่อนวัยรุ่นไม่ค่อยไปซื้อถุงยางอนามัย แต่จะซื้อยาคุมฉุกเฉินตามร้านขายยา ซึ่งเห็นว่าควรมีการให้ความรู้และเปิดโอกาสให้ทุกคนในวัยเจริญพันธุ์ทุกช่วงวัยเข้าถึงข้อมูลรอบด้านที่ถูกต้องในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ใหญ่ หรือเภสัชกรประจำร้านขายยา เมื่อวัยรุ่นไปซื้อผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการคุมกำเนิด หากมีท่าทีซักถามหรือคาดคั้นมากเกินไปก็จะเป็นการผลักให้วัยรุ่นไม่สบายใจที่จะมาซื้อ จนนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน" น.ส.อุษาสินีกล่าว