search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6533955
การเปิดหน้าเว็บ:9378426
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  “วิทยา”เผย ครม.เห็นชอบแผนคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ 7 แห่ง ป้องกันสมุนไพรสูญพันธุ์
  20 พฤศจิกายน 2554
 
 


วันที่: 20 พฤศจิกายน 2554
ที่มา: มติชนออนไลน์
ลิงค์: www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321771925


นายวิทยา  บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จำนวน 7 แห่ง  ได้แก่ พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า อุทยานสมเด็จพระศรีนครินทร์กาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี, พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร, พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา จังหวัดนครพนม,พื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก, พื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล, พื้นที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา  จังหวัดสระแก้ว, และพื้นที่อุทยานแห่งชาตินายูง – น้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น โดยจะส่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับในทางปฏิบัติต่อไป คาดว่าไม่เกินเดือนมกราคม พ.ศ. 2555

แผนคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่อนุรักษ์ดังกล่าว  มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันสมุนไพรไทยที่มักอยู่ในป่าธรรมชาติถูกฉกฉวย หรือสูญพันธุ์  ซึ่งจะส่งผลให้มีผลต่อนโยบายการส่งเสริมการใช้สมุนไพรไทยทั้งในรูปของยา สมุนไพร ใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ  ประการสำคัญยังสามารถพัฒนายาใหม่จากสมุนไพรโดยเฉพาะยารักษาโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอางต่างๆ ส่งออกสร้างรายไดเข้าประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

นายแพทย์สุพรรณ  ศรีธรรมมา  อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตั้งแต่พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรไปแล้ว 5 แห่ง  ได้แก่  1. พื้นที่เขตอนุรักษ์ภูผากูดจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดทำแผนแห่งแรก  2. พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว จ.เชียงใหม่  3.พื้นที่เขตรักษาพันสัตว์ป่าซับลังกา จังหวัดลพบุรี 4.พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติภูจอง – นายอย จังหวัดอุบลราชธานี และ 5.พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาเกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนในท้องถิ่น ทำให้เกิดระบบกลไกในการจัดการฐานข้อมูลสมุนไพรในพื้นที่จนเกิดการอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์จากสมุนไพรได้อย่างเหมาะสม โดยรวมแล้วกระทรวงสาธารณสุขมีพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรทั้งหมด 12 แห่ง

นายแพทย์สุพรรณกล่าวในตอนท้ายว่า หลังจากที่ออกประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์สมุนไพรแล้ว  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีแผนการดำเนินงานดังนี้ 1.สร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับเงื่อนไขในการอนุญาตให้บุคคลเข้าไปใน พื้นที่เขตอนุรักษ์อย่างถูกต้อง 2.กำหนดวิธีการจัดการเฉพาะในพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและชุมชนเพื่อให้เกิดกระบวน การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์คุ้มครองสมุนไพรและถิ่นกำเนิด  3.สำรวจและศึกษาสมุนไพรแต่ละพื้นที่ เพื่อให้มีระบบฐานข้อมูล และนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม 4.กำกับติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินการตามแผนและกฎหมาย รวมทั้งรวบรวมรายชื่อสมุนไพรที่สำรวจพบในแต่ละพื้นที่ และจำแนกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  สมุนไพรที่อาจสูญพันธุ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในพื้นที่เขตอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง  จังหวัดพิษณุโลก   ซึ่งจัดว่าเป็นแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติของกวาวเครือขาวมากกว่า 200 ปี หากมีการนำสายพันธุ์ไปปลูกหรือศึกษาวิจัย   มาตรการคุ้มครองจะต้อง  มีการปลูกทดแทน  เพราะที่ผ่านมาป่าสมุนไพรจะถูกคุกคามโดยผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์แม้ว่าทาง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   จะมีมาตรการที่เข้มงวดแล้วก็ตาม   จึงเป็นประเด็นที่กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯจะต้องเร่งอนุรักษ์  คุ้มครอง และส่งเสริมต่อไป