search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6531971
การเปิดหน้าเว็บ:9376099
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  อย.-กสทช.-ไอซีที ร่วมคุมอวดอ้างสรรพคุณยาผ่านเคเบิล
  08 ธันวาคม 2554
 
 


วันที่: 8 ธันวาคม 2554
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000156525
      

อย. กสทช. และกระทรวงไอซีที รับลูกร่วมเป็นแม่งานผลักดันตามร่างข้อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ยันจุดยืน มุ่งคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ปิดกั้นสิทธิรับรู้ข่าวสาร

เมื่อเร็วๆนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กรมประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย บุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ เพื่อระดมสมองและให้ความเห็นต่อร่างข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะ “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ก่อนนำเข้าไปพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 ในวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมีนายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการ ซึ่งได้ข้อสรุปเห็นชอบในหลักการ พร้อมร่วมเดินหน้ายกร่างแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปีหน้า รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับสถานการณ์ของปัญหาร่วมสมัย กำกับสื่อโฆษณายาและอาหาร รวมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างเคร่งครัด ส่งเสริมภูมิต้านทานให้ภาคประชาชนร่วมตรวจตรา ขณะเดียวกัน ก็ย้ำความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในการสื่อสาร

ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการ อย.ในฐานะรองประธานคณะทำงาน กล่าวว่า ทาง อย.พร้อมเป็นแกนหลักขับเคลื่อนงานนี้ ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของหน่วยงานอยู่แล้ว เพียงแต่การดำเนินงานที่ผ่านมา ยังมีข้อจำกัดมาก ทั้งบุคลากรและกลไกการทำงาน ทำให้ อย.ไม่อาจควบคุมโฆษณายาและอาหารในสื่อใหม่ๆ ได้ทันสถานการณ์ อีกทั้งจำนวนเว็บไซต์และวิทยุท้องถิ่นที่เปิดให้มีการอวดอ้างสรรพคุณสินค้าเกินจริงอย่างผิดกฎหมายก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กำลังของ อย.ที่มีอยู่ไม่อาจตามตรวจจับได้ดังที่ตั้งใจไว้ ดังนั้น การที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเล็งเห็นความจำเป็นสำคัญในเรื่องนี้ และเห็นชอบให้เสนอเป็นหนึ่งในร่างระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ปีนี้ ย่อมถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
       
“หากร่างมตินี้ผ่านความเห็นชอบจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และถูกผลักดันออกมาเป็นนโยบาย จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ที่ผ่านมา ช่องว่างการทำงานยังมีอยู่ ถ้าหน่วยงานที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องกับปัญหานี้มาร่วมงานกัน ก็เชื่อว่าปัญหานี้น่าจะลดลงได้มาก

“ทุกวันนี้ ลำพังอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ กำหนดโทษไว้ต่ำ ไม่อาจแก้ไขได้ทัน ซึ่งต้องปรับปรุงต่อไป แต่จากร่างมตินี้ ได้ระบุชัดให้หน่วยงานรัฐที่มีอำนาจและภารกิจโดยตรงในเรื่องนี้ เข้ามาร่วมตรวจสอบช่องทางการสื่อสารด้วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุร่วมกัน” รองเลขาธิการ อย.ย้ำความร่วมมือ

ภญ.ดร.กรแก้ว จันทภาษา จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หนึ่งในคณะทำงาน เผยข้อมูลสำคัญในอุตสาหกรรมการโฆษณายาฯ โดยระบุว่า สถานการณ์การโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทุกวันนี้ มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามมูลค่าการโฆษณา โดยพบว่า ในช่วงปี 2549-2552 มูลค่าโฆษณายาสูงกว่า 2,500 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไม่นับรวมเม็ดเงินที่ใช้ในการโฆษณาอาหารในช่วงเดียวกันนี้อีก 17,000 ล้านบาท

“การโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น ผ่านสื่อหลายรูปแบบ โดยเฉพาะวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ปี 2553 เพียงปีเดียว ทั้งประเทศ มีจำนวนวิทยุท้องถิ่นกว่า 7,700 แห่ง และคาดว่า กว่า 12 ล้านครัวเรือน รับข่าวสารผ่านสื่อนี้ และอีกราว 60 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนในประเทศที่เข้าถึงสื่อเคเบิลทีวี โทรทัศน์ดาวเทียม โดยประมาณว่ามีเม็ดเงินไหลเวียนในโฆษณาผ่านเคเบิ้ลทีวีและโทรทัศน์ดาวเทียมถึง 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี” ภญ.ดร.กรแก้ว ระบุ ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังและรับร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพของ อย. ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 ถึงเดือนกันยายน 2554 ก็พบว่ามีเรื่องร้องเรียนโฆษณายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายสูงถึง 1,461 เรื่อง จำแนกเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร 556 เรื่อง ยา 335 เรื่อง เครื่องสำอาง 319 เรื่อง เครื่องมือแพทย์ 208 เรื่อง และวัตถุอันตราย 73 เรื่อง

ด้าน เภสัชกรชำนาญการ วราวุธ เสริมสินสิริ สำนักยาของ อย.ในฐานะเลขานุการคณะทำงาน ชี้แจงสาระสำคัญของร่างข้อเสนอฯ “การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม” ว่ามีทั้งสิ้น 9 ข้อ

“เนื้อหาในร่างข้อเสนอฯ เบื้องต้น มีร่างมติ 9 ข้อ เช่น ขอระบุให้ อย.เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ และมีการเสนอให้เพิ่มโทษหากละเมิดกฎหมายว่าด้วยยาและอาหาร รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต ที่สำคัญคือ โฆษณาทางอินเทอร์เน็ต เราต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย พร้อมขอให้ กสทช. ร่วมขับเคลื่อน โดยบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ฯ ไม่ว่าจะเป็นการต่ออายุ การพักใช้ และการเพิกถอนใบอนุญาต โดยในร่างมติระบุไว้เลย ขอให้ กสทช.จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาโฆษณายาและอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณทางยาที่ผิดกฎหมายทางวิทยุท้องถิ่น เคเบิลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ภายในปี 2555” ทั้งนี้ ร่างมติดังกล่าวเมื่อได้รับการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะแล้ว จะถูกส่งให้แก่เครือข่ายและหน่วยงานต่างๆ พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

นายสุเทพ วิไลเลิศ ผู้แทนจาก กสทช. ให้ทัศนะในประเด็นที่อาจดูเหมือนเป็นการจำกัดช่องทางการสื่อสารว่า บทบาทของ กสทช.ที่ถูกระบุไว้ในร่างข้อเสนอฯ อันที่จริงอยู่ในภารกิจของ กสทช. อยู่แล้ว แต่ถ้าต้องกล่าวโทษว่าสื่อช่องไหนกระทำความผิดอย่างไร กสทช. ขอให้ อย.รับหน้าที่นี้น่าจะเหมาะสมกว่า

“ขั้นตอนที่น่าจะเป็น ผมคิดว่าน่าจะมาวางหลักเกณฑ์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน แล้ว กสทช.ถึงจะไปออกกฎระเบียบมากำกับ เช่น ถ้าสื่อช่องไหนทำผิดกฎเกณฑ์ที่ อย.ระบุสองครั้ง กสทช.อาจพักใช้ใบอนุญาต และถ้าทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่สาม กสทช.ก็จะเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ” ผู้แทน กสทช.ย้ำแนวทางความร่วมมือ

นอกจากนี้ สาระในร่างข้อเสนอฯ ยังระบุให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ดำเนินการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 โดยเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการขออนุญาตเปิดเว็บไซต์ พร้อมกลไกคณะกรรมการพิจารณาสั่งระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เหมาะสมหรือผิดกฎหมาย โดยเชื่อมโยงกับข่าวสารจากศูนย์เฝ้าระวังฯ อย่างมีประสิทธิภาพ

ในส่วนของภาคประชาชน จากร่างข้อเสนอฯ ยังระบุให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นแกนหลักร่วมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรชุมชนในการเฝ้าระวังและจัดการปัญหาโฆษณาระดับพื้นที่ ซึ่ง นพ. สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านควบคุมป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการย้ำว่า แม้วิธีนี้อาจได้ผลน้อย แต่ก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง “เราต้องทำให้สังคมเข้มแข็ง (empowerment) ซึ่งเมื่อสังคมเข้มแข็งแล้ว พวกเขาก็จะเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จด้วยดี” นพ.สุวิทย์ กล่าวทิ้งท้าย