search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6531945
การเปิดหน้าเว็บ:9376065
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ราคากลางยา-เครื่องมือแพทย์ ลดภาระด้านสุขภาพของประเทศ
  24 กุมภาพันธ์ 2555
 
 


วันที่: 24 กุมภาพันธ์ 2555
ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
ลิงค์: www.komchadluek.net/detail/20120224/123730/ราคากลางยาเครื่องมือแพทย์.html

เพราะค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของรัฐในรอบ 6 ปีโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่ายาที่โตขึ้นถึง 111% ด้วยเหตุนี้จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือเพื่อจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ ระหว่างนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) และ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.เทียม อังสาชน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพแห่งชาติ (สพคส.)

การกำหนดราคากลางร่วมกันจะเริ่มทันทีในกลุ่มยาบัญชี จ(2) ของบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2554 มีประมาณ 7-8 ตัว แต่จะเริ่มดำเนินการตัวแรกคือยาไอวีไอจี (Immunoglobulin G) ซึ่งเป็นยาที่ใช้สำหรับการรักษาโรคยากๆ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากภูมิคุ้มกันต่อต้านเกล็ดเลือดของตนเอง โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคคาวาซิ และโรคภูมิต้านทานตั้งแต่กำเนิด ชนิดที่ร่างกายไม่สร้างอิมมูโนโกลบูลิน เป็นต้น ส่วนยาตัวอื่นที่อยู่ในบัญชี จ(2) คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะมีกระบวนการเจรจาต่อรองราคายา สำหรับเครื่องมือแพทย์ ยังไม่มีการกำหนดราคากลางเครื่องมือแพทย์ตัวใดตัวหนึ่ง โดยจากนี้จะมีคณะทำงานร่วมกันเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว

 
ยาที่อยู่ในบัญชี จ (2) นอกเหนือจากยาไอวีไอจี อาทิ ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะลุกลาม ชนิด non small cell มะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย มะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมนแล้ว โรคคอบิดและโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก เป็นต้น

นพ.วินัย ให้ข้อมูลว่า ตลอดที่ผ่านมารัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน 15-16% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งประเทศ และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโตเร็วกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยในช่วงปี 2547-2553 จีดีพีโตประมาณ 5.8% ขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพโตถึง 9.6% เฉพาะค่ายาโตถึง 111% การที่ทั้ง 3 ระบบสุขภาพดำเนินการจัดทำราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน จะทำให้ราคามีความสมเหตุสมผล ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายประเทศ

รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์

ขณะที่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง รับปากว่า การกำหนดราคากลางไม่ได้ยึดจากราคาที่สปสช.จัดซื้อได้ แต่การกำหนดราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ร่วมกัน จะมีคณะทำงานที่จะมีผู้เชี่ยวชาญ ตัวแทนราชวิทยาลัยต่างๆ ตัวแทนจากทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งแพทย์ที่เป็นผู้ใช้ยา และบริษัทยามาทำงานและกำหนดราคาร่วมกัน จะไม่ดำเนินการเฉพาะตัวแทนจาก 3 หน่วยงานคือกรมบัญชีกลาง สปสช.และสปส.อย่างแน่นอน

"การกำหนดราคากลางยาและเครื่องมือแพทย์ร่วมกันของทั้ง 3 ระบบประกันสุขภาพ ไม่ได้เป็นการลดสิทธิของข้าราชการลง แต่เป็นการลดราคาในส่วนของยาและเครื่องมือแพทย์ที่สูงเกินจริง เช่น สเต็นท์ สปสช.ซื้อได้ในราคา 2 หมื่นบาท แต่ในส่วนของสิทธิข้าราชการ โรงพยาบาลซื้อในราคา 4 หมื่นบาท เป็นต้น ถ้ามีราคากลางร่วมกันจะทำให้ราคายาและเครื่องมือแพทย์ ที่โรงพยาบาลจัดซื้อสำหรับผู้ป่วยสิทธิข้าราชการลดลง และขอยืนยันว่าไม่มีการตัดสิทธิประโยชน์ข้าราชการและประสิทธิภาพยาและเครื่องมือแพทย์ต้องเท่าเดิม" นายรังสรรค์กล่าว

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางจะจัดทำ อี-ฟาร์มาซี(E-Pharmacy) โดยจะนำราคากลางของยาและเครื่องมือแพทย์หลากหลายราคาและคุณภาพจัดแสดงไว้บนเว็บไซต์แล้วให้โรงพยาบาลมาเลือกซื้อตามราคากลางที่มีการกำหนดไว้ เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลจัดซื้อให้แก่ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการในราคาที่สูงกว่าที่สปสช.จัดซื้อได้ทั้งที่ลักษณะและคุณภาพเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะสปสช.จัดซื้อครั้งละจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลอาจจะมีพนักงานขายไปเจรจากับแพทย์และขายให้โรงพยาบาลแต่ละแห่ง ซึ่งในอนาคตหากมีโรงพยาบาลใดจัดซื้อเกินราคากลางที่กำหนดจำเป็นต้องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)เข้าไปดำเนินการตรวจสอบ


"การกำหนดราคากลางไม่ได้ดำเนินการในยาทุกตัวและเครื่องมือแพทย์ทุกชนิด แต่จะพิจารณาเฉพาะในส่วนที่เห็นตรงกันว่าสามารถกำหนดราคากลางร่วมกันได้เท่านั้น นอกจากนี้ กรมอาจจะมีการพิจารณาเพิ่มในส่วนของสิทธิประโยชน์ให้แก่ข้าราชการ เช่น ค่าห้องพักรักษา ที่ปัจจุบันกำหนดอัตราเบิกได้สำหรับห้องพิเศษที่ 600 บาทและห้องทั่วไป 300 บาท ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่กำหนดราคาค่าห้องพักในราคานี้น้อยมาก เป็นต้น" นายรังสรรค์ย้ำ