search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6531981
การเปิดหน้าเว็บ:9376111
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เครือข่ายภาค ปชช.จับตาเจรจาเอฟทีเอของอียู หวั่นกระทบผู้ป่วย
  06 มีนาคม 2555
 
 


วันที่: 6 มีนาคม2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

เครือข่ายภาคประชาชน จับตาการเจรจาเอฟทีเอของอียู หวั่นเกิดกระแสการตัดตอนกระบวนผลิตยาชื่อสามัญในอินเดีย กระทบคุณภาพชีวิตผู้ป่วย 
จากกรณีที่การเจรจาเอฟทีเอระหว่างสหภาพยุโรปหรือียู และอินเดียเมื่อกลางเดือนก พ. 2555 ที่ผ่านมา เกิดกระแสการรณรงค์ต่อต้านไปทั่วโลก ในกรณีที่อียู ได้พยายามดำเนินการในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามีเนื้อหามุ่งไปที่การเพิ่มศักยภาพให้กับบริษัทยาข้ามชาติ สามารถทำการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ได้ยาวนานขึ้น ซึ่งภาคประชาชนหลายส่วนกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยนั้น

ล่าสุดวันนี้ ( 6 มี .ค.) นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ได้นำเสนอข้อมูลการเจรจาเอฟทีเออียู-อินเดีย ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่ามีข้อเจรจาที่ส่งผลต่อการเพิ่มการผูกขาดและตัดตอนระบบผลิตยาชื่อสามัญในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิ์ หรือทำให้การนำยาชื่อสามัญมาขึ้นทะเบียนยาไม่ได้หรือทำได้ยากยิ่งขึ้น การขยายอายุสิทธิบัตรจาก 20 ปีให้ยาวนานขึ้น หรือแม้แต่การตีความกรณียาปลอม โดยมีการเหมารวมว่ายาชื่อสามัญที่ผลิตและขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฏหมายให้กลายเป็นยาปลอม ส่งผลให้อินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาชื่อสามัญที่ใหญ่ที่สุด ไม่สามารถส่งออกยาชื่อสามัญไปยังประเทศที่จำเป็นต้องใช้ยาได้

 “ที่สำคัญหากอินเดียยอมรับข้อตกลงดังกล่าว จะส่งผลต่อประเทศที่กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพและจำเป็นต้องมียารักษาที่ราคาเป็นธรรมมาใช้ในประเทศ ไม่สามารถใช้มาตรการยืดหยุ่นในทริปส์เช่น มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาหรือซีแอล (CL) ได้ เพราะไม่สามารถนำยาเหล่านั้นมาขึ้นทะเบียนได้ หรือหากแม้ใช้ซีแอลเพื่อนำเข้ายาได้แต่ในกระบวนการจัดส่งยาก็จะสุ่มเสี่ยงที่จะถูกยึดยาเหล่านั้น เนื่องจากถูกตีความจากศุลกากรว่าเป็นยาปลอม ส่งผลให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาขาดยา เหมือนดังเช่นกรณียึดยาที่ส่งจากอินเดียไปยังประเทศแถบแอฟริกาและถูกยึดยาเมื่อเรือที่บรรทุก ต้องผ่านไปพักเรือในประเทศแถบยุโรปก่อนไปถึงแอฟริกา"

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อชท์) กล่าวว่า “ขณะนี้มีแนวโน้มว่า รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าเจรจาเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ค้าขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรป แต่กระบวนการภายในประเทศกลับขาดความชัดเจนและขาดการมีส่วนร่วมจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แม้ว่าได้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จนมีความสมบูรณ์มากขึ้นแล้ว แต่กฏหมายลูกซึ่งมีหน้าที่กำหนดรายละเอียดขั้นตอนในการเจรจากลับยังไม่มีการเสนอต่อสภาฯเพื่อพิจารณาแต่อย่างไร อีกทั้งที่ผ่านมากระบวนการยกร่างกฏหมายลูกฉบับนี้ยังกีดกันการมีส่วนร่วมจากสาธารณะ

“ทั้งนี้มีการรายงานข้อมูลว่าร่างกฏหมายที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการจัดทำอยู่นั้นมิได้สะท้อนเจตนารมณ์ว่าด้วยหลักการความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 แต่อย่างไร “ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะนำไปสู่ปัญหาเดิมๆ แลความขัดแย้งต่อไป” นายจักรชัยกล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวเสริมว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งปะทุขึ้นมาในสังคมอีก การทำความเข้าใจเรื่องผลดีและผลเสียของเอฟทีเอคงไม่สามารถทำได้ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ “แต่หากต้องช่วยกันทำความเข้าใจผลกระทบต่างๆอย่างรอบด้านมากกว่าจะไปพูดง่ายๆว่า “หากจำเป็น...ก็ต้องแลก” ที่ผ่านมา หน่วยราชการของไทยมีความเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เข้ามามีส่วนในการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพจากการทำเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปค่อนข้างแข็งขัน ซึ่งอยากสนับสนุนให้เดินหน้าทำต่อไปเพื่อที่เราจะได้มีความพร้อมมากที่สุดสำหรับการเจรจา และหากผลการประเมินเสร็จสิ้น ภาคประชาสังคมก็ต้องการให้ภาครัฐมีความกล้าหาญทางการเมืองที่จะกำหนดจุดยืนไปในกรอบการเจรจาที่จะนำเข้าสู่รัฐสภา อาทิ ต้องไม่เจรจาเรื่องยา ไม่รับการผูกขาดข้อมูลทางยา ไม่เปิดโอกาสให้เอกชนฟ้องรัฐในนโยบายสาธารณะและการลงทุนสาธารณะ เช่นที่กล้าหาญพอที่จะยืนยันในทุกกรอบการเจรจาว่า ต้องมีมาตรการปกป้องกรณีที่เกิดปัญหาด้านดุลการชำระเงิน”

นายนิมิตร์ ยังกล่าวว่า การที่ภาครัฐสนใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำเอฟทีเอ โดยเฉพาะผลกระทบเชิงสังคมและสุขภาพ เกิดจากการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ และด้านผู้บริโภค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน และเครือข่ายนักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ ที่ได้ติดตามตรวจสอบการเจรจาเอฟทีเอของไทยมาอย่างใกล้ชิด และทำงานวิชาการเพื่อชี้ให้เห็นผลกระทบและกระตุ้นให้มีการเตรียมพร้อมในการเจรจา เชื่อว่า Animation ที่ได้จัดทำขึ้นนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศการถกแถลงในประเด็นเหล่านี้อย่างกว้างขวางในสังคมไทยเพื่อให้การเจรจาการค้าต่างๆเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนจริงๆ