search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6531938
การเปิดหน้าเว็บ:9376053
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  อย.ร่วมมือตำรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-เครื่องสำอางเถื่อน มูลค่ากว่า 13 ล้าน
  02 มีนาคม 2555
 
 


อย.ร่วมมือตำรวจจับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร-เครื่องสำอางเถื่อน มูลค่ากว่า 13 ล้าน

วันที่: 2 มีนาคม 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์



       อย.ร่วมมือ ตำรวจ บก.ปคบ. จับอีก กาแฟเถื่อน อ้างลดน้ำหนัก และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างเสริมสมรรถภาพทางเพศ ย่านดอนเมือง-แหล่งขายส่งเครื่องสำอางผิดกฎหมายย่านลำลูกกา รวมมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท
       
       วันนี้ (2 มี.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธานในการ แถลงข่าวจับกุมกาแฟ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผิดกฎหมาย ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมมือกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ติดตามจับกุมโดยของกลางมีมูลค่ารวมกว่า 13 ล้านบาท
       
       โดย นายวิทยากล่าวว่า การดำเนินการจับกุมสินค้าและผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายทั้งหมด เป็นไปเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งสิ้น โดยมีทั้งสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอันตรายและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ ได้ผ่านการจดทะเบียนกับ อย. ซึ่งหลายยี่ห้อไม่มีข้อความภาษาไทย อาจเสี่ยงต่อการหลอกลวงผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ หากผู้ใดสนับสนุนสินค้าทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและ เครื่องสำอางปลอม ก็จะถือว่าส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องปราบปรามอย่างเข้มงวด
       
       นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการ อย.กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผกก.4 บก.ปคบ. ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบร้านค้า ณ ตลาดแอร์พอร์ต (ตลาดใหม่ดอนเมือง) ที่จำหน่ายกาแฟอันตรายจำนวนหลายร้าน เช่น ร้าน Seetwo, ร้าน MADAME และร้าน LADY Cosmetic เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบร้านดังกล่าวพบผลิตภัณฑ์อาหารผิดกฎหมายและโฆษณาสรรพคุณเกินจริง จำนวนมาก แยกเป็นประเภท ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์กาแฟอวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก นำเข้าจากต่างประเทศและเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียนตำรับอาหารกับ อย.
        
       เช่น กาแฟมหัศจรรย์ 26 วันผอม (26 FAT burning coffee ) กาแฟลดน้ำหนัก คาปานา L-360 กาแฟ L-Healty Coffe Plus+ เร่งเผาผลาญไขมัน ควบคุมน้ำหนัก ไม่มีผลข้างเคียงต่อสมอง กาแฟ Lose Weight Coffee Whole Body Slimming Coffee เป็นต้น 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ในลักษณะทางเพศ บางชนิดไม่มี อย. และบางชนิดฉลากแสดงเลขสารบบอาหารปลอม เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับสุภาพบุรุษ “กระทิงทอง” ระบุข้อความบนฉลาก “ใหม่สุด ฮิตมากไม่ว่าหนุ่มเล็กหนุ่มใหญ่ อ่อนปวกเปียก ไม่สู้ หมดสมรรถภาพ รับรองตัวนี้แข็งปั๋งแน่นอน แผงเดียวเห็นผล 100%” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร VIAGRA by magic for men ระบุข้อความบนฉลาก “อ่อนปวกเปียก ไม่สู้หมดสมรรถภาพ รับรองว่าแข็งปั๋ง” ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดสรรพคุณ “ อกฟู รูฟิต ไร้กลิ่น” ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ DOOMZ by Secret , Super DOOMZ , Slimming DOOMA by Pretty White และ DOOMA by Lady Princess
       
       3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดสรรพคุณลดน้ำหนัก ฉลากไม่มีเครื่องหมาย อย. เช่น LIPO 9 Burn Slim ลดจริง 8 กิโล ขจัดไขมันออกมาพร้อมการขับถ่าย, LIPO 8 Burn Slim , Lishou , BASCHI Quick Slimming Capsule , Cactus Slimming Capsule , DOOMZ slimming อิ่มทั้งวัน ลดพุงเร็ว, L-Carnitine , - LIPO 2 Burn Slim by Pretty White เป็นต้น และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณทำให้ผิวขาว ฉลากไม่มีเครื่องหมาย อย. เช่น Gluta 30000 Wink Wink ขาวใส วิ้งวิ้ง แบบเกาหลี , Gluta 2000 ขาวเว่อร์ ขาวเร่งรัดภายใน 1 สัปดาห์ และ Gluta 10000 เป็นต้น
       
       นพ.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ยึดผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวทั้งหมด มูลค่ากว่า 3,000,000 บาท และส่งผลิตภัณฑ์ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำหรับการดำเนินคดี ในเบื้องต้นแจ้งข้อกล่าวหา ดังนี้ 1. จำหน่ายอาหารที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท 2. จำหน่ายอาหารปลอม เนื่องจากแสดงฉลากเพื่อลวง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน - 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท 3. หากผลการตรวจวิเคราะห์ พบยาลดความอ้วนไซบูทรามีน หรือพบยาเสริมสมรรถภาพทางเพศซิลเดนาฟิลในผลิตภัณฑ์อาหาร จะจัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
       
       รองเลขาธิการ อย.กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บก.ปคบ. โดย พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล ผบก.ปคบ.ได้สั่งการให้ พ.ต.อ.พฤทธิพงศ์ ประยูรศิริ ผกก.4 บก.ปคบ. ตรวจค้นบ้านเลขที่ 802/235 ซ.ปาร์ค 12 หมู่ บ้านวังทอง-ริเวอร์ปาร์ค ซ.พหลโยธิน 70 ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี จากการตรวจค้นพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางปลอม เช่น ครีมอาบน้ำ บำรุงผิว ขัดผิว มาสก์หน้า แป้ง ลิปสติก เจลลอกผิว และอื่น ๆมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท ในเบื้องต้น พบ บางผลิตภัณฑ์เป็นเครื่องสำอางปลอมของยี่ห้อดังหลายยี่ห้อ และเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่จดแจ้ง และไม่มีฉลากภาษาไทย สำหรับความผิดในคดีนี้ได้ดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายในข้อหา
       
       1. จำหน่ายเครื่องสำอางปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ 2. จำหน่ายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3. จำหน่ายเครื่องสำอางที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่แสดงชื่อที่ตั้งผู้ผลิต ไม่แสดงวันเดือนปีที่ผลิต เป็นต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
       
       นพ.พิพัฒน์กล่าวต่อว่า ขณะ นี้กาแฟสำเร็จรูปที่บรรจุในกระป๋องโลหะ ฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ กำลังระบาดหนักในหมู่ผู้นิยมบริโภคกาแฟ ดังนั้นจึงขอเตือนมายังผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อกาแฟดังกล่าวมาบริโภค อย่าได้หลงคารมผู้ขายว่าเป็นกาแฟจากต่างประเทศและสามารถลดความอ้วนได้ เพราะกาแฟเหล่านี้ อย.เคยส่งตรวจวิเคราะห์และผลตรวจพบใส่ยาลดความอ้วนไซบูทรามีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริโภค เนื่องจากยาดังกล่าวมีผลข้างเคียงสูง ต้องใช้โดยความดูแลของแพทย์ โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อย คือ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว แม้จะไม่มากนัก แต่มีผลให้ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 5 จำเป็นต้องหยุดยา ส่วนผลข้างเคียงอื่นๆ ได้แก่ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และท้องผูก เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน อย.ได้เพิกถอนยาไซบูทรามีนออกจากตลาดแล้ว หากต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักไม่จำเป็นต้องเสี่ยงบริโภคผลิตภัณฑ์กาแฟ หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ควรควบคุมการบริโภคอาหารร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน