search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6528734
การเปิดหน้าเว็บ:9372736
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สธ.รับลูกดีเอสไอ เร่งสอบ รพ.จ่ายยาเกินจำเป็น
  04 เมษายน 2555
 
 


วันที่: 4 เมษายน 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000042296

 


นพ.ไพจิตร์ วราชิต

สธ.รับลูกดีเอสไอ เร่งสอบ รพ.จ่ายยาเกินจำเป็น ชี้ เป็นช่องว่างของระเบียบกรมบัญชีกลาง ทำให้ ขรก.ขอยาเกินจริง แหล่งข่าววงใน ระบุ กำลังสร้างระบบราคาอ้างอิงยาทั้งประเทศ หวังควบคุมราคายา ช่วยประหยัดงบรัฐบาล นักวิชาการชี้ ปัญหาเกิดจากข้าราชการชอบใช้ยาแพง คิดไปเองว่าดี

วานนี้ (3 เม.ย.) นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี ดีเอสไอ และกรมบัญชีกลาง เปิดเผยเรื่องการใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว ว่า ระบบการใช้สิทธิรักษาของข้าราชการนั้น ถือเป็นระบบที่ได้รับสิทธิมากกว่าระบบประกันสุขภาพระบบอื่นๆ เนื่องจากข้าราชการมีเงินเดือนน้อย รัฐจึงจัดสรรให้สิทธิรักษาพยาบาล เพื่อจูงใจให้คนเข้าสู่ระบบ ซึ่งการควบคุมวิธีการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้น จะถูกควบคุมด้วยระเบียบของกรมบัญชีกลาง ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาล จะมีระบบคณะกรรมการบริหารยาและเวชภัณฑ์ ประจำโรงพยาบาล เพื่อมีหน้าที่พิจารณาการใช้ยาให้สมเหตุผล การสั่งซื้อยาเข้า จ่ายยาออก การใช้ยาราคาแพงนอกบัญชียาหลัก ซึ่งที่ผ่านมา ระเบียบราชการกำหนดให้ข้าราชการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลก่อน และนำเบิกภายหลัง แต่ต่อมากรมบัญชีกลางได้ยกเลิกระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการ แต่ทำให้เกิดช่องว่างของระเบียบขึ้นและทำให้เกิดปัญหาตามมา

“ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นช่องว่างของระเบียบปฏิบัติ ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการติดตามเพื่อแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด เพื่อควบคุมไม่ให้มีการเบิกจ่ายอย่างไม่เหมาะสม แต่ปัญหาอยู่ที่ตัวบุคคล ไม่ใช่ระบบใหญ่ เนื่องจากข้าราชการบางกลุ่ม เมื่อไม่ต้องสำรองจ่ายก็จะเกิดพฤติกรรมขอยาล่วงหน้าหลายเดือน เพราะไม่อยากเดินทางมาพบแพทย์บ่อยๆ ทำให้เกิดการใช้ยามากเกินความจำเป็น ซึ่งการแก้ปัญหาจำเป็นที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างระบบป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น” ปลัด สธ.กล่าว

ด้านภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิเภสัชศาสตร์เพื่อสังคม กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาเกินความจำเป็น เกิดจากสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีความเหลื่อมล้ำ ระบบการควบคุมยา และการบริหารจัดการของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้การแก้ปัญหาต้องเริ่มที่ประชาชนด้วยส่วนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมา ส่วนใหญ่แล้วประชาชนไม่รู้ว่าประสิทธิภาพยาตัวไหนดีแตกต่างกันอย่างไร และเข้าใจเพียงว่า ยาราคาแพง คือ ยาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า ทั้งที่จริงแล้วเป็นเรื่องของการทำการตลาดของบริษัทยา ที่นำยาสูตรเดิมมาเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย ก็โฆษณาอวดอ้างว่าเป็นยาใหม่ และมีราคาแพงขึ้น และประชาชนก็ไม่ทราบคิดว่า ยาแพง คือ ยาดี จึงจำเป็นต้องทำให้ผู้ที่ใช้สิทธิข้าราชการ ผู้ป่วยเรื้อรัง เข้าใจในเรื่องนี้ นอกจากนี้ จำเป็นต้องแก้ระบบการรักษาให้เกิดความเท่าเทียม ในเมื่อรัฐบาลประกาศให้สิทธิฉุกเฉินประชาชนอย่างเท่าเทียมได้ ก็ต้องทำให้ระบบการรักษาพยาบาลเท่าเทียมได้เช่นกัน

“การทำให้ประชาชนเข้าใจในเรื่องการใช้ยาเป็นสิ่งสำคัญที่แก้ปัญหา ระบบยาของประเทศไทยได้ ส่วนเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน การให้สินบน ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขต่อไป รวมทั้งเรื่องยานอกบัญชียาหลัก ที่มีราคาแพงกว่ายาในบัญชี ควรต้องมีมาตรการในการควบคุมระบบเบิกจ่าย เพื่อป้องกันการเบิกจ่ายมาก หรือให้ญาติ ใช้สิทธิพิเศษนั้นๆ ด้วย” ภญ.สำลี กล่าว

แหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการชุดกำหนดราคาอ้างอิงสำหรับยา นอกบัญชียาหลัก โดยหลักจะมีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และกรมบัญชีกลาง ดูแลเรื่องนี้ เพื่อให้มีระบบราคาอ้างอิงสำหรับระบบประกันสุขภาพของไทย เพื่อทำให้การสั่งซื้อยามีราคามาตรฐานที่จะใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณในการสั่งซื้อยาลง นอกจากนี้ พบว่าปัญหาการเบิกจ่ายยา ยังมาจากข้อบ่งชี้ที่ไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาลดไขมัน เดิมทีจะสั่งจ่ายยาต่อ เมื่อพบว่า ปริมาณไขมันในเส้นเลือดสูงกว่า 250 มิลลิกรัม แต่ปัจจุบัน พบว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบไขมันในเส้นเลือดเกิน 230 ก็มีการสั่งจ่ายยาทันที ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาตัวนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเกิดจากบริษัทยา ที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการให้ค่าตอบแทนแพทย์ หากมีการสั่งจ่ายยาของบริษัทตัวเอง เรื่องนี้กำลังจะมีการปรับปรุงระบบให้มีการควบคุมยาแห่งชาติ ส่วนรายละเอียดคาดว่า จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

แหล่งข่าวรายเดิม กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา จากระบบการตรวจสอบการใช้ยาในส่วนของสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เคยมี รพ.ที่ถูกตรวจสอบ และพบความผิดปกติในการใช้ยาเกินความจำเป็น โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เคยเข้าตรวจสอบที่ รพ.พระนั่งเกล้า ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐาน ยังไม่แล้วเสร็จ