search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6526092
การเปิดหน้าเว็บ:9369949
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  อย.จัดระเบียบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯ ขันนอตระบบยาเวชภัณฑ์ในโรงพยาบาล
  29 เมษายน 2555
 
 


วันที่: 29 เมษายน 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053072


“วิทยา” สั่งขันนอตระบบยาและเวชภัณฑ์ทั้งยาทั่วไปและยาควบคุมพิเศษ ในโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 800 แห่งด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด ให้ทุกสถานพยาบาลทำแผนประมาณการใช้ยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิดล่วงหน้าส่ง อย. ให้ อย.ดำเนินการ 3 มาตรการเร่งด่วนควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯ ทั้งระบบการจ่ายในสถานพยาบาลและของบริษัท โควตาการผลิตในอนาคต
 


นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สาธารณสุข

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของปัญหาการรั่วไหลของยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีนออกจากโรงพยาบาลในสังกัดว่า มาตรการเร่งด่วนในการควบคุมยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine)หลังจากที่ออกประกาศควบคุมยาดังกล่าวเป็นวัตถุออกฤทธิ์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555 ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรืออย.ดำเนินการ 3 เรื่อง ดังนี้ 1. จัดระบบรองรับยาส่งคืนจากร้านขายยา สถานบริการ ที่ไม่ประสงค์จะครอบครองยาตรวจสอบยอดคงเหลือเพื่อเข้าสู่ระบบการจ่ายยาวัตถุออกฤทธิ์ 2. จัดระบบจำหน่ายยาที่คงเหลือในทุกบริษัทให้แก่สถานบริการที่มีประกาศครอบครองการใช้ยาที่เป็นวัตถุออกฤทธิ์ โดยให้ทุกสถานพยาบาลทำแผนและประมาณการใช้ยาล่วงหน้ามาที่อย. และเมื่อมีใบสั่งซื้อไปที่บริษัท จะมีระบบบันทึกการรายงานเพื่อการดำเนินการตรวจสอบ และเรื่องที่ 3 การจัดระบบยาแก้หวัดสูตรผสมซูโดฯ ของประเทศให้ชัดเจนทั้งจำนวน สูตรตำรับยาที่จะผลิตในอนาคต และการมอบหมายบริษัทผู้ผลิต เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการใช้ และสามารถตรวจสอบได้ทันที

นายวิทยากล่าวต่อว่าผลการตรวจสอบระบบการบริหารยาและเวชภัณฑ์ยาในโรงพยาบาลทุกระดับที่อยู่ในสังกัดกว่า 800 แห่งทั่วประเทศพบว่าร้อยละ 99 มีระบบการควบคุมที่เข้มแข็ง และปฏิบัติตามกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 ทั้งยาทั่วไปและยาควบคุมพิเศษ มีปัญหาเพียง 8 แห่งเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก และจะดำเนินการด้านวินัยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวางระบบป้องกันในอนาคต ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นใจในศักยภาพระบบบริการ ซี่งจะมีการพัฒนาประสิทธิภาพกลไกการบริการให้มากขึ้นต่อไปเรื่อยๆเพื่อให้เป็นสถานบริการที่ใกล้บ้านใกล้ใจประชาชน

ด้านนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการควบคุมค่าใช้จ่ายของยาและเวชภัณฑ์เป็นพิเศษ และมีหนังสือกำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดทำแผนการใช้จ่ายเรื่องยาและเวชภัณฑ์ของโรงพยาบาล และให้กำกับดูแลการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเข้มงวด โดยบริหารในรูปของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด มีเจ้าหน้าที่หลายวิชาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การบริหารกรณีของยาและเวชภัณฑ์ทั่วไป ให้ทุกโรงพยาบาล เสนอขออนุมัติการจัดซื้อตามระเบียบพัสดุ จัดระบบการจัดซื้อ จัดหา ระบบการตรวจรับ ระบบการควบคุม การเก็บรักษาป้องกันการเสื่อมสภาพหรือหมดอายุ การเบิกจ่าย การสั่งใช้ตามคำสั่งแพทย์ การตรวจสอบและการรายงานเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น

ส่วนกรณียาที่จัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 ที่ใช้ในโรงพยาบาล การบริหารให้ใช้ระบบเดียวกันกับยาทั่วไป กรณียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ต้องสั่งซื้อจาก อย.และกรณีของวัตถุออกฤทธิ์ฯ ประเภท 2 ต้องส่งคำขอซื้อพร้อมหลักฐานการขอซื้อไปที่บริษัท สำหรับยาที่ส่งมาโดยไม่มีการออกใบสั่งซื้อ ให้แจ้งบริษัทและส่งคืนทันที และมีการลงนามการรับยาคืน มีระบบรายงานการใช้ยา ผู้สั่งใช้ยาชัดเจน และรายงานการใช้ประจำเดือนประจำปีที่ อย.และให้รายงานการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทประจำเดือนเข้าส่วนกลาง