search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6526079
การเปิดหน้าเว็บ:9369936
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  วิกฤต! สมุนไพรไทยในป่า ใกล้สูญพันธุ์ เหตุป่าถูกบุกรุก
  08 พฤษภาคม 2555
 
 


วันที่: 8 พฤษภาคม 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์

“วิทยา” เผยสมุนไพรไทยในป่า อยู่ในภาวะวิกฤต ใกล้สูญพันธุ์ จากเหตุบุกรุกป่า ขณะที่ผลการสำรวจพื้นที่ป่า พบสมุนไพรไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด พร้อมทุ่มงบ 76 ล้านบาท ใช้เพื่อทำแผนส่งเสริม และอนุรักษ์สมุนไพรไทยทั้งที่หายาก และที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์

วันนี้ (8 พ.ค.) ที่ห้องประชุมกรรมาธิการ 219 อาคารรัฐสภา 2 กทม. นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงทั้ง 3 กระทรวง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่ออนุรักษ์ คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพรและถิ่นกำเนิดอย่างยั่งยืน ทั้งด้านบุคลากร วิชาการ ข้อมูล องค์ความรู้ งบประมาณ มีผลบังคับใช้ 3 ปี

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดโลกมีความต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพืชสมุนไพรที่ซื้อขายในตลาดการค้าส่วนใหญ่มาจากป่าธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยนับว่าเป็นป่าเขตร้อนที่มีพืชสมุนไพร ที่ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น รู้จักคุณสมบัติ และนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์รูปแบบต่างๆ ประมาณ 800-1,800 ชนิด นำมาใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาไทย บางชนิดใช้เป็นยาเดี่ยว ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤต หรือใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากมีการลักลอบบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ทำเป็นพื้นที่ทำกินและเป็นที่อยู่อาศัย เป็นการทำลายแหล่งกำเนิดของสมุนไพรด้วย ทำให้พืชสมุนไพรหลายชนิด ถูกคุกคาม และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เรื่อยๆในอนาคต และสมุนไพรบางตัวยังไม่มีการศึกษา เพื่อนำมาเพาะปลูกทดแทน

ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครอง อนุรักษ์พันธุ์พืชสมุนไพรป่าให้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน หรือพัฒนาเป็นสารสกัดต่างๆ ที่ทันสมัย เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย หรือบำรุงสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง เกิดความมั่นคงทางยาในประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดทำแผนความร่วมมือว่าด้วยการอนุรักษ์ คุ้มครอง และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร และถิ่นกำเนิด พ.ศ.2555-2559 โดยบูรณาการกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เครือข่ายภาคเอกชน และประชาชน โดยพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์สมุนไพร จะห้ามไม่ให้ใครยึดครอง ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป หากมีการบุกรุกจะมีโทษตามกฎหมายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการสำรวจพื้นที่ป่าในประเทศไทย พบว่า ในป่าเขาจะมีพืชสมุนไพรขึ้นไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด ทั้งนี้ แผนการอนุรักษ์ คุ้มครอง ส่งเสริมการใช้สมุนไพรและถิ่นกำเนิด พ.ศ.2555-2559 ตั้งเป้าอนุรักษ์สมุนไพรหายาก เช่น เถาวัลย์เปรียง กำลังวัวเถลิง เจตมูลเพลิงแดง เนระพูสี ฮ่อสะพายควาย กำลังเสือโคร่ง จันทน์ขาว จันทน์แดง สบู่เลือด สมอ (ทุกชนิด) พญารากดำ และแส้ม้าทะลาย รวมทั้งสมุนไพรชนิดอื่นของแต่ละพื้นที่ และสมุนไพรที่ใช้บ่อยและกำลังอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ เช่น กวาวเครือขาว จันทน์ขาว จันทน์แดง ฯลฯ ให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ชนิด ใช้งบประมาณจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขตลอดแผนฯ ตลอดแผนฯ ดังกล่าวประมาณ 76 ล้านบาท

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า จนถึงขณะนี้มีพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตคุ้มครองสมุนไพรแล้ว 20 แห่ง และจะขยายพื้นที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกันไปยังพื้นที่ในและนอกเขตอนุรักษ์ อีก 9 แห่ง ได้แก่ 1.ป่าคำหัวแฮด อ.ทุ่งฝน จ.อุดรธานี 2.ป่าหนองแปน อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ 3.ป่าดงเค็ง บ้านหนองพลาง หมู่ที่ 3 ต.ดงเค็ง อ.บ้านหนองสองห้อง จ.ขอนแก่น 4.ป่าวัดเขาพนมกาว หมู่ที่ 9 บ้านเขาพนมกาว ต.หนองพยอม ต.งิ้วราย ต.หนองปล้อง อ.ตะพานหิน และ อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร 5.ป่าวัฒนธรรมหนองฮี อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม 6.ป่าชุมชนหนองสำแฮด บ้านม่วงไข่ บ้านเชียงเครือ บ้านคำสร้างบ่อ ต.กระจาย อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร 7.ป่าศูนย์การศึกษาพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร 8.ป่าชุมชนบ้านท่าสามัคคี หมู่ที่ 11 ต.แม่ถอด อ.เถิน จ.ลำปาง 9.ป่าวัดโป่งคำ อ.สันติสุข จ.น่าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจและศึกษาสมุนไพรในพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณากำหนดรูปแบบการอนุรักษ์ คุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเหมาะสมต่อไป