search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6519809
การเปิดหน้าเว็บ:9363060
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  กรมเจรจาฯลักไก่ ดันร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เข้า ครม.พรุ่งนี้
  03 ธันวาคม 2555
 
 


วันที่: 3 ธันวาคม 2555
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9550000147126


     
       กรมเจรจาฯ ลักไก่ ดันร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอ ไทย-อียู เข้า ครม.พรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) แบบไม่ผ่านการประชาพิจารณ์ เครือข่ายภาคประชาสังคมส่งหนังสือถึง “หมอประดิษฐ” ค้าน ชี้ เกิดผลกระทบต่อไทยแน่ ทั้งด้านยา เหล้า บุหรี่ ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายสาธารณะ ด้าน รมว.สธ.ยัน เจรจาไม่ให้เกิดผลกระทบด้านยาแน่
       
       วันนี้ (3 ธ.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค นำโดย นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อเรียกร้องให้ยุติกระบวนการการทำลายระบบสุขภาพของไทย จากการเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป เนื่องจากร่างกรอบเจรจาไม่มีเนื้อหาส่วนใดเกี่ยวกับการป้องกันสินค้าทำลายสุขภาพ (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่) และกรณีทรัพย์สินทางปัญญาใช้คำว่าสอดคล้องกับข้อตกลงในองค์การการค้าโลก ซึ่งอดีตอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้คำจำกัดความว่า ข้อตกลงนั้นเหนือไปจากการเจรจาทริปส์พลัสได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากกับประเทศไทย ทั้งนี้ ร่างกรอบเจรจาจะถูกนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.)
       
       นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า วันพรุ่งนี้คณะรัฐมนตรีจะพิจารณา (ร่าง) กรอบเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thai-EU FTA) แต่จนถึงขณะนี้ (ร่าง) กรอบดังกล่าว ยังไม่เคยเปิดเผยและยังไม่เคยถูกนำมารับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ว่า จะสามารถป้องกันข้อห่วงกังวลต่างๆ เหล่านี้ได้หรือไม่


       นายอภิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีความกังวลอย่างยิ่งหากรัฐบาลไทยจะเปิดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ที่มีเนื้อหาที่เอาเปรียบและมีข้อผูกมัดด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าสิ่งที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสากลว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส จะมีผลกระทบทางลบต่อระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่จะสกัดขัดขวางนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพที่จะควบคุมสินค้าทำลายสุขภาพ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ และทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค
       
       “ประชาชนคนไทยจะต้องเผชิญกับหายนะด้านสาธารณสุขอย่างใหญ่หลวง และไม่มีความคุ้มค่าเลยถ้ารัฐบาลจะเอาเรื่องสุขภาพ และสาธารณสุขไปแลกกับผลประโยชน์ที่อาจจะได้จากการลดกำแพงภาษีสำหรับสินค้าบางรายการ ซึ่งมีกลุ่มทุนเพียงไม่กี่กลุ่มได้รับผลประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าว แต่กลับผลักภาระด้านการรักษาพยาบาลให้กับทั้งประเทศต้องแบกรับเพิ่มขึ้น ไม่ต่ำกว่าปีละแสนล้านบาท จากข้อเรียกร้องที่เป็นทริปส์พลัสเพียงแค่ 2 ข้อ คือ การขยายอายุสิทธิบัตรออกไป 5 ปีและการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนยา (Data Exclusivity) 5 ปี ซึ่งนี่เป็นตัวเลขจากงานวิจัยของรัฐทั้งสิ้นที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขอย่างรุนแรงและทั้ง 4 งานวิจัยยังให้ข้อเสนอแนะตรงกันว่า ประเทศไทยไม่สมควรยอมรับทริปส์พลัส มีแต่บรรษัทยาข้ามชาติที่จะได้ประโยชน์เท่านั้น” นายอภิวัฒน์ กล่าว
       
       นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ค่อนข้างกังวลใจกับข้อมูลที่กรมเจรจาฯจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในวันพรุ่งนี้ เพราะที่ผ่านมา กรมเจรจาฯพยายามบิดเบือนข้อมูลผลกระทบด้านสาธารณสุขและสังคมอย่างมาก ดังนั้น ต้องระบุในกรอบเจรจาอย่างชัดเจนว่า ไม่รับทริปส์พลัส และใส่หลักการไปว่า การเจรจาความตกลงนี้จะต้องไม่กระทบต่อระบบหลักประกันสุขภาพ และต้องไม่กระทบกับการกำหนดนโยบายสาธารณะด้านสาธารณสุข สังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค
       
       ด้าน นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สธ.กล่าวว่า ในเรื่องการเจรจาตกลง สธ.มีจุดยืนต่อร่างกรอบการเจรจาว่าการจะตกลงอะไรก็ตามจะต้องไม่มีการเสียเปรียบไม่มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา สธ.จะดำเนินการต่อรองเพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ ไม่ให้มีการขยายให้เสียลิขสิทธิ์ยา จะต่อรองให้ได้เท่าเดิมซึ่งถือว่าไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องวิธีการเจรจาอยู่ที่กรมเจรจาการค้ายังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
       
       
ด้าน  น.ส.กรรณิการ์  กิจติเวชกุล   กล่าวว่า สิ่งที่กังวล คือ ในเมื่อไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของร่างกรอบเจรจา ทำให้กังวลว่า ร่างดังกล่าวจะมีเนื้อหาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์  ซึ่งจะเกิดปัญหามากมาย ทั้งการผูกขาดข้อมูลทางยา ซึ่งจะมีการขยายอายุการผูกขาดตลาดยาให้แก่บริษัทยาต้นแบบเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 5 ปีตามระยะเวลาที่ขอการผูกขาดข้อมูลทางยา โดยที่ผู้ผลิตยาชื่อสามัญจะไม่สามารถมาขอขึ้นทะเบียนยากับคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) สุดท้ายจะทำลายการพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศให้หมดไปด้วยการครอบงำตลาดอย่างยาวนานของบริษัทยาต่างชาติ และไทยก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น  

       
       รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั่วประเทศจะเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเช่นกัน เพราะสหภาพยุโรปมีท่าทีชัดเจนที่ต้องการลดภาษีแอลกอฮอล์มากถึง 90% และต้องการให้ผ่อนคลายกฎและนโยบายต่างๆในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่