search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515339
การเปิดหน้าเว็บ:9358352
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ถ้าป่วย...ก็จงตายไปซะ
  15 มีนาคม 2556
 
 


ที่มา: เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2556
คอลัมน์: ขอคุยดีๆ
โดย: สันติสุข กาญจนประกร

ถ้าป่วย...ก็จงตายไปซะ



จริงๆ ก็หลายปีมาแล้ว ตอนที่ผมพาตัวเองไปยังโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งเพื่อเฝ้าหญิงสาวรูปร่างหน้าตาดี

เปล่า-ไม่ได้ตกหลุมรัก มันไม่เกี่ยวกับเรื่องหัวใจเลยด้วยซ้ำ

"มีผู้แทนยากี่คน ไม่รู้ เป็นสปอนเซอร์ไปประชุมต่างประเทศกี่ครั้ง ไม่รู้มีงานวิจัยหลายชิ้นบอกว่า ยาในประเทศไทยหลายตัว แพงกว่าอังกฤษและสหรัฐ ทั้งๆ ที่ค่าครองชีพเราต่ำกว่าตั้งเยอะ" คือคำกล่าวของ ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนนั้น

พูดให้ฟังเข้าใจง่ายๆ คือ มีคนบางพวกกำลังค้าขายอยู่บนความเป็นความตายของเพื่อนมนุษย์ ก็เรื่องหยูกยาโรงหมอ คนสติดีๆ คงไม่มีใครอยากเข้าใกล้ บางเทศกาลมงคล แค่เผลอตัวพลั้งปากพูดถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ดีไม่ดี อาจโดนผู้หลักผู้ใหญ่เขกกะโหลกเอาได้

หญิงสาวคนที่ผมไปตามเฝ้าเพื่อเก็บข้อมูลไปเขียนสารคดีเรื่องตัวแทนยาสาวให้ 'นิตยสาร WAY' จึงกลายเป็นจำเลยของเรื่องนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ถามว่าเธอชั่วไหม ผมตอบไม่ได้หรอก คนชั่วที่ไหนจะมานั่งให้ผมซักผมถามได้เป็นชั่วโมงๆ เปิดอกคุยถึงอาชีพของตัวเองอย่างกล้าหาญ ทั้งมุมขาว มุมดำ และมุมสีเทาๆ ที่สำคัญ ผมไม่นิยมตั้งตนเป็นผู้พิพากษา เห็นอะไรโผล่นิดโผล่หน่อยไม่ได้

แต่ตอนนี้ สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าการเที่ยวไปสรุปชีวิตใครต่อใคร คือคนในอุตสาหกรรมยานี่จะเอาอะไรกันนักกันหนา อยากรวยหรือ โอเค ไม่มีใครว่า อยากค้าอยากขายทำไปเถอะ ใครจะอยากยุ่ง เพราะรู้ว่าถึงยุ่ง พวกคุณก็ไม่แบ่งเงินให้ผมใช้อยู่แล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้วิจัย 'คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening Patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น' ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ออก Policy Brief ว่าด้วย ข้อเสนอเชิง นโยบาย ด้วยการพัฒนาระบบการตรวจสอบการให้สิทธิบัตรยาเพื่อแก้ปัญหา Evergreening Patent ถึงนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในฐานะ ประธานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

Evergreening Patent คือวิธีการที่อุตสาหกรรมยาใช้เพื่อเพิ่มการทำกำไร โดยปล่อยทิ้งผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนา ให้รอคอยความตาย

ขนาดนั้นเชียว ผมพูดเกินจริงไปไหม

การทำงานของ Evergreening Patent ไม่มีอะไรซับซ้อน คือเมื่อบริษัทยาวิจัยยาตัวใหม่ออกมา พวกเขาจะได้รับสิทธิบัตรเป็นการตอบแทน โดยหวังดีตามประสาประเทศนิยมคนดีว่า จะเป็นการช่วยให้กำลังใจ เติมไฟเติมฟืนในการคิดยาใหม่ๆ เพื่อมวลมนุษยชาติ

เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นพ่วงสิทธิในการผูกขาดให้บริษัทนั้นๆ วิจัย พัฒนา ผลิต ขาย แต่เพียงผู้เดียวเป็นเวลาถึง 20 ปี

20 ปี! ดังนั้น มันก็เป็นไปตามพล็อตหนังน้ำเน่า คือบริษัทยาก็สามารถตั้งราคายาสูงเท่าไหร่ก็ได้ เพราะไม่มีคู่แข่ง และพวกเขาก็ไม่รีรอที่จะทำ

จนครบ 20 ปี บริษัทอื่นๆ ถึงจะเข้ามาแข่งขันได้ และการแข่งขันนี่แหละ จะทำให้ราคายาถูกลงตามไปด้วย เพราะขืนใครโรคจิตขายแพง ก็เตรียมตัวกินยาของตัวเองได้เลย เมื่อราคายาถูก ระบบประกันสุขภาพก็สามารถหายามาให้ผู้ป่วยได้

ยิ่งไปกว่านั้น ในความเป็นจริง บริษัทยาเองก็มิได้คิดค้นอะไรใหม่ ในแต่ละปี มียาใหม่จริงๆ เข้าสู่ตลาดเพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากงานวิจัยที่ได้รับทุนภาษีจากประชาชน

ส่วนยาที่เข้าสู่ตลาด ก็แค่เปลี่ยนแปลงจากยาเก่าเพียงเล็กน็อย ไม่ได้มีนวัตกรรมอะไรที่สูงขึ้น แถมให้ผลการรักษาที่ไม่ต่างจากเดิม แต่ยังนำมาขอสิทธิบัตร

เพื่ออะไร? ก็เพื่อเพิ่มการผูกขาดต่อไปอีก 20 ปี เรียกว่าสิทธิบัตรไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้ผมไม่ได้สรุปเอง มีคนที่สนใจเรื่องนี้วิจัยออกมาอย่างเป็นรูปธรรม

กลยุทธ์เพื่อคงสิทธิผูกขาดนี้ถูกใช้อย่างมากในประเทศที่ระบบการให้สิทธิบัตรไม่มีคุณภาพ และกำลังทวีความรุนแรงของปัญหาขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่อพิจารณาการใช้ยาในโรคสำคัญที่มีค่าใช้จ่ายด้านยาสูง 3 โรค คือโรคเอดส์ โรคมะเร็งเต้านม และโรคกระดูกพรุน พบว่า ในสถานการณ์ที่มีการใช้ยา 'ต้นแบบ' เพื่อการรักษา ยิ่งในการรักษาโรคมะเร็งนั้น ไม่มีความคุ้มค่าในด้านต้นทุน-อรรถประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์ความคุ้มค่าที่แนะนำโดยองค์การอนามัยโลก เนื่องจากยาต้นแบบมีราคาแพง

ที่สำคัญ หากมีการทดแทนด้วยยาชื่อสามัญในผู้ป่วยทุกราย จะพบความคุ้มค่าในการใช้ยามากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายยาลดลง

และในเวลา 10 ปีของการรักษาในทั้งสามโรค พบว่า การทดแทนยาต้นแบบด้วยยาชื่อสามัญทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.9 ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ร้อยละ 21.7 ในผู้ป่วยโรคเอดส์ และร้อยละ 9.3 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ใน policy Brief ของคณะผู้วิจัย 'คำขอรับสิทธิบัตรยาที่จัดเป็น Evergreening Patent ในประเทศไทย และการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น' ได้เสนอทางเลือกที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สำหรับสิทธิบัตรที่กีดกันการเข้าถึงยาซึ่งกำลังทวีความรุนแรงอยู่ในขณะนี้ คือการเร่งออกประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา

สิ่งที่เราควรทำอย่างเร่งด่วน คือยอมรับเสียทีว่ามันมีปัญหานี้อยู่จริง และจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ และอุตสาหกรรมยาข้ามชาติ อย่าพยายามปฏิเสธ โดยอ้างว่า การวิจัย เป็นนวัตกรรมต่อยอด เพราะประเด็นคือ มันทำให้ยาราคาแพง คนเข้าไม่ถึงยา และยังทำลายการวิจัยและพัฒนาอีกด้วย

ทุกประเทศ มีปัญหาแบบนี้ทั้งนั้นทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ซึ่งพวกกำลังพยายามหาทางแก้ไขและป้องกันปัญหานี้ แบบที่ อินเดีย บราซิล อาร์เจนตินา ทำ

ถ้าถามผมว่า ถ้าประเทศไทยไม่ทำล่ะ จะมีอะไรไหม คำตอบเดียวที่ผมนึกออก คือพวกเราต้องห้ามป่วย หรือถ้าจะป่วย ก็รีบๆ ตายไปซะ

จะได้ไม่เดือดร้อน