search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6604625
การเปิดหน้าเว็บ:9454503
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เปิดคลัง อภ.ยันคืนวัตถุดิบยาพาราฯแล้ว - DSI เชิญ WHO แจง รง.วัคซีน
  03 เมษายน 2556
 
 


วันที่: 3 เมษายน 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000040500
    
    
    
       อภ.เปิดคลังสินค้าตรวจวัตถุดิบยาพาราฯ ยันส่งคืนทั้งหมดแล้วหลังเจอการปนเปื้อน ไม่มีการผลิตขายให้แก่ ปชช.ขณะที่ดีเอสไอพบ 2 ประเด็นโรงงานวัคซีนต้องสอบสวนเชิงลึก เตรียมเชิญผู้แทน WHO เข้าชี้แจง

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
    
       วันนี้ (3 เม.ย.) ที่คลังสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย แจ้งวัฒนะ นายกมล บันไดเพ็ชร เลขาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.พิพิฒน์ ยิ่งเสรี ประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) เดินทางเข้าตรวจวัตถุดิบยาพาราเซตามอลของ อภ.หลังพบว่ามีปัญหาการปนเปื้อน จนต้องส่งคืนบริษัท โดย สธ.ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบพร้อมกรณีการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ล่าช้า ทั้งนี้ ภายในอาคารคลังสินค้าดังกล่าว วัตถุดิบถูกบรรจุอยู่ในถังขนาดใหญ่ราวกว่า 100 ถัง และมีการรักษาอุณหภูมิให้เหมาะสมกับวัตถุดิบ
       
       นายกมล กล่าวว่า การมาตรวจสอบในครั้งนี้เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า สธ.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าวและมีมาตรการการป้องกันและสอบสวนเพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ส่งคืนวัตถุดิบทั้งหมดจำนวน 143 ตันให้แก่บริษัทต้นทางแล้ว รวมมูลค่า 23 ล้านบาท
       
       นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า วัตถุดิบล็อตดังกล่าวได้นำไปทดลองการผลิตเท่านั้นไม่ได้ผลิตเพื่อจำหน่าย ส่วนที่โรงงานเภสัชกรรมทหารรับต่อไปและพบการปนเปื้อนนั้น ก็ไม่มีการนำไปจำหน่ายแต่อย่างใด จึงไม่มียาอยู่ในมือผู้บริโภคแน่นอน ซึ่งขณะนี้ยังคงมีอีกบริษัทที่ผลิตยาพาราเซตามอลให้ อภ.เพราะไม่มีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ โดยจำนวนที่ต้องส่งคืนบริษัทที่ประเทศจีน มีทั้งสิ้น 148 ตัน แบ่งเก็บเป็น 2 คลัง และจะเตรียมส่งคืนภายใน 2 สัปดาห์
       
       “การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเกิดจากสิ่งแวดล้อมหรือสาเหตุใดๆ อภ.มีกระบวนการตรวจสอบมาตรฐาน (QC) ในทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าได้คุณภาพ โดยจะมีเกณฑ์มาตรฐานสากลที่สามารถยอมรับได้ในกรณีพบการปนเปื้อน และจะมีมาตรการส่งคืนสินค้าเมื่อพบปัญหา อย่างไรก็ตาม สำหรับการสั่งวัตถุดิบล็อตใหม่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาหาบริษัท ซึ่งจะมีการตรวจสอบมาตรฐานตามกระบวนการต่อไป” ผอ.อภ.กล่าวและว่า ล่าสุด ทางดีเอสไอได้แจ้งว่าจะเข้ามาตรวจสอบสินค้าในวันที่ 5 เม.ย.นี้
       
       ด้าน นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก พื้นที่ 80 ไร่ ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี วงเงิน 1,441.70 ล้านบาท ของ อภ.ว่า ภายหลัง นพ.วิทิต ได้เข้าชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ดีเอสไอพบว่า มี 2 ประเด็นที่ต้องสอบสวนในเชิงลึกคือ 1.การแยกสัญญาออกแบบก่อสร้างออกเป็น 4 บริษัท 4 สัญญา เพราะตามปกติโครงการก่อสร้างมักจะจัดทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างเป็นสัญญาเดียว ซึ่ง อภ.ชี้แจงว่าเป็นเพราะมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติงบประมาณให้แบบผูกพัน 4 ปี ทำให้ต้องแยกสัญญาเพื่อให้สะดวกกับการใช้จ่ายงบประมาณ โดยในสัปดาห์หน้าดีเอสไอจะทำหนังสือเรียกสำนักงบประมาณเข้าชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการแยกสัญญา
       
       นายธาริต กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2.คือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสเปกเครื่องจักรจากการผลิตวัคซีนเชื้อตายเป็นเครื่องจักรผลิตวัคซีนเชื้อเป็น ซึ่งประเด็นนี้ยังเป็นข้อโต้เถียงไปมาระหว่าง สธ.กับ อภ.โดยฝ่าย รมว.สาธารณสุข ระบุว่าเชื้อตายเป็นประโยชน์กว่าตรงข้ามกับ อภ.ที่ระบุว่าเชื้อเป็นมีประโยชน์กว่า ดังนั้น ต้องตรวจสอบเบื้องต้นว่า การแก้ไขสเปกถูกต้องหรือไม่ และระหว่างวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อเป็นและเชื้อตายแบบไหนมีประโยชน์กว่ากัน โดยเบื้องต้นพบว่ามีการอ้างถึงองค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนั้น ดีเอสไอจะประสานขอให้ WHO ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนเข้าให้ข้อมูลเพื่อให้ข้อมูลชี้ขาดว่า วัคซีนจากเชื้อใดมีประโยชน์กว่ากัน และเชิญผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยสากลที่ได้รับการยอมรับเข้าให้ข้อมูลเปรียบเทียบด้วย