search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6629880
การเปิดหน้าเว็บ:9481077
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  แฉ! กลุ่มบริษัทยาล่าชื่อผู้ป่วยหนุน กม.ฉบับร่างเอง สกัด อย.ต่อรองราคา
  03 กรกฎาคม 2556
 
 


วันที่: 3 กรกฎาคม 2556
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000081014     


    
       แฉอุตสาหกรรมยาล่ารายชื่อผู้ป่วย 10,000 รายชื่อ หนุนร่างกฎหมายยาที่จัดทำขึ้นเอง ห้าม อย.ต่อรองราคายา เอ็นจีโอชี้เป็นการใช้ผู้ป่วยเป็นเครื่องมือ เพื่อทำลายกลไกระบบยาไทยไม่ให้มียาดีและราคาเหมาะสม

       นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวถึงกรณีเหล่าอุตสาหกรรมยาออกจดหมายเชิญชวนให้สมาชิกลงรายชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับเครือข่ายประชาชนรักษ์สุขภาพ โดยมีสาระสำคัญไม่ให้ อย.ทำหน้าที่ต่อรองราคายา ว่า วิธีนี้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้มาแล้วทั่วโลกเพื่อแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง โดยใช้เงินเป็นตัวล่อสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยบางกลุ่มเพื่อพูดแทนบริษัทยาข้ามชาติ หากจำกันได้เมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว มีความพยายามที่จะยุบคณะอนุกรรมการกำหนดราคากลางยา และพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ เมื่อไม่สำเร็จก็มีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกการต่อรองราคายา แต่ขณะนี้เขากำลังหลอกใช้ผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งและสถาปนาคนของตัวเองในนามผู้ป่วยเข้าไปเป็นตัวแทนเพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัทยา
       
       “ต้องตั้งคำถามกับกระบวนการสนับสนุนว่าทำเพื่ออะไร เพื่อรักษาราคาแพงเอาไว้ใช่หรือไม่ ไม่ให้รัฐต่อรองราคายา มีการล้างสมองว่า ยาต้องลงทุนวิจัย ห้ามต่อรอง มีราคาแพงก็เหมาะสมแล้ว ที่ผ่านมา คนทำงานด้านเอดส์ถูกยื่นข้อเสนอจากบริษัทยามาตลอด ให้เงิน ให้ทำกิจกรรม เสนอให้ไปดูงานต่างประเทศ เสนอความร่วมมือวิชาการ เพื่อให้ข้อมูลโดยตรงกับผู้ป่วย ซึ่งเราพร้อมทำงานกับทุกฝ่าย แต่เราไม่รับเงินบริษัทยา เพราะเงินเหล่านั้นคือเงินของเราที่เขาขโมยไปในรูปของราคายาแพงๆ” นายนิมิตร์ กล่าว
       
       นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า ระบบสุขภาพของไทยต้องได้ยาที่ดีในราคาที่เหมาะสม ซึ่งราคาที่เหมาะสม ไม่เคยได้มาจากการสำนึกของบริษัทยา แต่ได้มาจากการต่อรอง มีกลไกสำคัญที่รู้โครงสร้างราคา เจรจาต่อรองให้มีการลดราคา มีกลไกบัญชียาหลักที่คำนึงถึงประสิทธิภาพและราคา กลไกแบบนี้สำคัญ แต่บริษัทยาข้ามชาติกำลังจะยื่นกฎหมายในนามผู้ป่วยเพื่อทำลายกลไกเหล่านี้ เท่ากับการฆ่าผู้ป่วย และจงใจแบ่งแยกให้ผู้ป่วยทะเลาะกันเอง ซึ่งทำสำเร็จมาแล้วทั่วโลก
       
       ด้าน ผศ.ภญ.สุนทรี ท. ชัยสัมฤทธ์โชค ประธานกลุ่มศึกษาปัญหายา กล่าวว่า การส่งเสริมการขายยาสู่บุคลากรสุขภาพเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลกระทบต่อการสั่งจ่ายยา หรือจัดหายาทำให้เกิดการใช้ยาไม่สมเหตุผล และยังทำให้ยาราคาแพงขึ้นจากต้นทุนการส่งเสริมการขายยา ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ยา ที่เสนอโดยบริษัทยาข้ามชาติจึงเป็นการดิ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของธุรกิจตนเอง ที่ผ่านมาได้เห็นความพยายามของภาคธุรกิจที่ให้ตัดส่วนของการควบคุมการส่งเสริมการขายยาออกไปจากร่าง พ.ร.บ.ยา ที่ชัดเจนที่สุดคือร่างกฎหมายฉบับของภาคธุรกิจ ที่ไปอ้างใช้ชื่อกลุ่มผู้ป่วยมาเป็นเจ้าของ ทั้งที่กลุ่มอุตสาหกรรมยาเป็นผู้ยกร่างและให้การสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้ง
       
       ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยหลายชิ้นจากต่างประเทศ ที่แสดงความห่วงใย เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของผู้ประกอบวิชาชีพ แม้แต่สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส ยังประกาศกฎหมายให้เปิดเผยมูลค่าการสนับสนุนเงินแก่แพทย์เพื่อทำให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานระหว่าง บริษัทยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ จึงขอเสนอว่าทุกฝ่ายต้องร่วมกันจัดกระบวนการจัดการระบบธรรมาภิบาล ให้มีความโปร่งใส ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน
       
       “เรื่องแรกที่ต้องทำหากอุตสาหกรรมยาจริงใจ คือ การประกาศจุดยืนด้านจริยธรรม ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม ยอมรับและนำเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทยมาปฏิบัติ ไม่ปล่อยให้เป็นเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลในทางปฏิบัติอย่างทุกวันนี้ ทั้งที่ผ่านมติของคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ส.ค. 2555” ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าว
       
       ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นเรื่องผู้ป่วยที่ได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยา ปัจจุบันพบมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนกว่า หากให้การสนับสนุนจะต้องกระทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เปิดเผย ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ แอบแฝง มิฉะนั้นแล้ว เป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้ป่วยในเรื่องยาหลายประเด็น สำหรับยาในประเทศไทยที่เป็นยาผูกขาด (มีสิทธิบัตร) จำนวนมาก มีราคาแพงมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งนี้กลไกการควบคุมราคายาตามกฎหมายแบบหลวมๆ ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการให้แสดงราคาที่จำหน่ายเท่านั้น จึงเป็นที่ชื่นชอบของธุรกิจยา เพราะเป็นการเปิดอิสระในการกำหนดราคายา โดยภาคอุตสาหกรรม และไม่มีกระบวนการควบคุมราคาใดๆเลย
       
       “การมาพยายามทำให้กระบวนการควบคุมราคายาของไทยอ่อนแอลง ยิ่งจะสร้างเสียหายให้กับทั้งประเทศไทยและคนไทย ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการขึ้นทะเบียนตำรับยาชื่อสามัญใหม่ที่ อย. ดูแลอยู่เป็นระบบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว และก็ทราบกันดีว่าการมียาชื่อสามัญใหม่เข้าสู่ท้องตลาดเป็นผลดีกับผู้ป่วย เพราะมีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้น ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์มีเพียงบริษัทยาต้นแบบที่ต้องลดราคายา ลดกำไรของตนเองลงมาแข่งขัน ข้อเสนอนี้จึงไม่ใช่ความต้องการของผู้ป่วยอย่างแน่นอน” ผศ.ภญ.สุนทรี กล่าว