|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6604613 การเปิดหน้าเว็บ:9454490 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
สธ.เตือนระวังใช้ครีมทาผิวแบ่งขาย |
|
|
|
16 ธันวาคม 2556
|
|
|
|
วันที่: 16 ธ.ค. 2556 ที่มา: สำนักข่าวไทย TNA News ลิงค์: www.mcot.net/site/content?id=52aeb38a150ba0e865000256#.Uq-00n92DGh
กรุงเทพฯ 16 ธ.ค.- สธ.เตือนใช้ครีมทาผิวแบ่งขาย ตลอดจนครีมทาผิวที่ไม่ผ่านการจดแจ้งกับ อย.ระวังมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ใช้แล้วเสี่ยงขาลาย
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ในช่วงหน้าหนาวผิวหนังมักแห้งจำเป็นต้องอาศัยครีมบำรุงผิวเพื่อให้ความชุ่มชื้น ซึ่งปัจจุบันมีการโฆษณาชวนเชื่อทางสังคมออนไลน์เกี่ยวกับครีมทาผิว นอกจากให้ความชุ่มชื้นยังทำให้ผิวขาวใส การบอกต่อในกลุ่มเพื่อน ทำให้เกิดพฤติกรรมการอยากลองใช้ และด้วยค่านิยมผิวขาวใส ดูอ่อนวัยของวัยรุ่น ทำให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ทำให้ผิวขาวได้รับความนิยมมากจนมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากเครื่องสำอางนั้นๆ โดยพื้นที่เครือข่ายบริการที่ 5 พบกลุ่มนักเรียนอายุ 16-18 ปี มีอาการแพ้ ผื่นคัน ผิวหนังแตกเกิดจากการใช้เครื่องสำอางที่มีการปลอมปนสเตียรอยด์ ดังนั้น กรมฯ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 5 สมุทรสงคราม จึงร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี ทำการศึกษาวิจัยและสุ่มเก็บตัวอย่างครีมจำนวน 11 ตัวอย่าง ที่วางขายในท้องตลาด
ทั้งนี้ แบ่งครีมเป็น 4 ประเภท ได้แก่ครีมผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกที่ไม่มีฉลาก ครีมที่ผสมเองแบ่งขายใส่กระปุกมีฉลากแต่ไม่ได้จดแจ้ง ครีมมีฉลากภาษาจีน และครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอกซึ่งมีข้อมูลว่าใช้เป็นส่วนผสมของครีมที่ผสมใช้เอง ผลการวิเคราะห์ตรวจพบสารสเตียรอยด์ชนิดโคลเบทาซอลโพรพิโอเนต ในตัวอย่างครีมทั้ง 11 ตัวอย่าง ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในช่วง 8.0 - 449.8 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม นอกจากนั้นยังตรวจพบคีโตโคนาโซลในทุกตัวอย่าง และตรวจพบวัตถุกันเสียชนิดเมทิลพาราเบน และโพรพิลพาราเบนในบางตัวอย่างอีกด้วย
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า โคลเบทาซอลโพรพิโอเนต จัดเป็นสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องกำหนดวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เป็นยาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอกที่มีความแรงสูงสุด มักใช้ในโรคสะเก็ดเงิน ผื่นผิวหนังที่ดื้อยาสเตียรอยด์แบบความแรงอ่อนและปานกลาง หรือใช้ในบริเวณผิวหนังที่หนา เช่นที่ขาหรือเท้า ผลข้างเคียงของยาเมื่อทาไปนานๆ ทำให้ผิวหนังบางลง เกิดจ้ำเลือดง่าย หรือมีรอยแตกบริเวณผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการเดียวกันกับที่พบในเด็กนักเรียนที่ใช้เครื่องสำอางที่ตรวจพบว่ามีสารชนิดนี้ปลอมปน ส่วนครีมที่มีฉลากภาษาจีนที่เป็นยาใช้ภายนอก มีข้อมูลว่าใช้เป็นส่วนผสมของครีมที่ผสมใช้เองนั้น เมื่อสังเกตข้างกล่องจะมีตัวย่อ OTC (Over the counter drug) ปรากฏอยู่หมายถึงกลุ่มยาที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อใช้ได้เองจากร้านขายยาและร้านค้าทั่วไปในประเทศจีน แต่ยาประเภทครีมที่มีตัวยาดังกล่าวในประเทศไทยจัดเป็นยาอันตรายต้องซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำอยู่
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ครีมทาผิว ไม่ควรซื้อครีมที่มีการผสมเองหรือครีมแบ่งขายมาใช้ ครีมที่เลือกซื้อฉลากต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ สารที่ใช้เป็นส่วนผสม วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ คำเตือนและหมายเลขที่จดแจ้งกับ อย. จำนวน 10 หลักอย่างชัดเจน และควรเลือกซื้อเครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้ หากใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้วเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน ควรหยุดใช้ทันที อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย
|
|
|
|
|
|