|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6646619 การเปิดหน้าเว็บ:9506940 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
กพย.เตือนปัญหาใช้ยาในโรงเรียนเสี่ยงอันตราย แนะพัฒนาถูกมาตรฐาน |
|
|
|
03 กรกฎาคม 2557
|
|
|
|
ลิงค์: www.hfocus.org/content/2014/07/7553
กพย.ออกโรงเตือนปัญหาใช้ยาในโรงเรียนสุ่มเสี่ยงเกิดอันตราย แนะสธ.จับมือศธ. พัฒนาระบบยาถูกมาตรฐานความปลอดภัย
3 ก.ค. ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เปิดเผยว่า จากการติดตามและเฝ้าระวังระบบยาในชุมชนที่ผ่านมา พบว่า โรงเรียนเป็นอีกสถานที่ที่ต้องระวังในเรื่องการใช้ยา โดยรูปแบบการใช้ยาในโรงเรียนจะมี 2 รูปแบบ คือ 1.ยาในโรงเรียนจัดหาเป็นยาสามัญทั่วไป และ 2.ยาที่เด็กนักเรียนพกมา เนื่องจากมีอาการป่วยด้วยโรคประจำตัว โรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคหอบหืด ปัญหาคือ ที่ผ่านมาไม่มีใครมาตรวจสอบว่ายาในโรงเรียนมีกี่รายการ และมียาปฏิชีวนะร่วมด้วย อย่างยาแก้ท้องเสีย ยาแก้ไอ ซึ่งตรงนี้หากไม่มีการควบคุมการใช้จะเป็นปัญหาจากการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องระบบจัดหายา ซึ่งมาจากส่วนกลาง และในพื้นที่ โดยในพื้นที่คือ บางโรงเรียนมีการจัดการดีก็จะพบว่าได้ให้โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) มาช่วยแนะนำและจัดหายาในโรงเรียน แต่บางโรงเรียนอาจให้แค่เภสัชกรประจำโรงพยาบาลเข้ามาแนะนำเท่านั้น ขณะที่เภสัชกรบางคนก็ไม่สนใจในการติดตามการใช้ยาในโรงเรียนอีก ส่วนบางโรงเรียนอาจใช้วิธีการจัดหายาจากส่วนกลาง คือ ทางกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการจัดส่งให้ เรื่องนี้ก็สำคัญ เพราะหากการจัดส่งยาไม่มีการจัดเก็บอย่างดี อาจส่งผลต่อคุณภาพยาด้วย ส่วนยาที่เด็กนักเรียนพกมา เนื่องจากเป็นโรคประจำตัว แต่ต้องให้ทางโรงเรียนเก็บไว้ให้นั้น ประเด็นอยู่ที่ครูพยาบาลประจำห้องพยาบาลจะเข้าใจตัวยามากน้อยแค่ไหน และหากให้รับประทานไม่ตรงเวลาก็อาจส่งผลต่อเด็ก
"จากปัญหาทั้งหมดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จะต้องร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ใส่ใจเรื่องนี้โดยมีการจัดระบบยาให้ถูกต้องได้มาตรฐาน กล่าวคือ การจัดหายาจะต้องมีเภสัชกรดำเนินการให้ และตรวจสอบการใช้ยาจริง โดยจะต้องมีการฝึกอบรมครูพยาบาลให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างสม่ำเสมอ โดยเรื่องนี้ต้องร่วมมือกันและจัดทำเป็นนโยบายที่ชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติ ที่สำคัญต้องมีระบบติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพด้วย" ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวอีกว่า การจัดการระบบยาที่ดีในโรงเรียน ซึ่งในต่างประเทศมีการดำเนินการแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายกำหนดให้โรงเรียนต้องจัดหาบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง รวมทั้งเด็กพิการ รวมถึงเรื่องการจ่ายยาด้วย จากกฎหมายดังกล่าวทำให้แต่ละรัฐมีการออกแนวทางต่างๆ ซึ่งส่งผลให้แต่ละโรงเรียนต้องมากำหนดกฎเกณฑ์ภายในโรงเรียนเกี่ยวกับการดูแลการใช้ยาของนักเรียนกลุ่มเฉพาะ โดยโรงเรียนส่วนใหญ่จะมีคณะกรรมการโรงเรียนที่มีบุคลากรสาธารณสุขให้คำแนะนำในเรื่องการดูแลการใช้ยาให้เกิดความปลอดภัยด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากจดหมายข่าวศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังระบบยา "ยาวิพากษ์" ฉบับเดือน ตุลาคม - ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยภก.ภาณุโชติ ทองยัง ชมรมเภสัชชนบท ได้ทำโครงการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและจัดการความเสี่ยงด้านยาในสถานศึกษาของคณะทำงานเครือข่ายเภสัชสาธารณสุข ซึ่งดำเนินงานตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554-เดือนกรกฏาคม 2555 ใน 12 พื้นที่ คือ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี อ่างทอง สมุทรปราการ สกลนคร ร้อยเอ็ด และเชียงราย ซึ่งหลายแห่งยังไม่มีการจัดการที่ดี บางแห่งมีการใช้ยาปฏิชีวนะ ยาหมดอายุ จัดเก็บยาไม่เหมาะสม ไม่มีการบันทึกข้อมูลการใช้ยาของนักเรียน เป็นต้น
|
|
|
|
|
|