|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6604616 การเปิดหน้าเว็บ:9454493 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
มหกรรมการจัดการปัญหาสเตียรอยด์ในระดับชาติ |
|
|
|
21 กรกฎาคม 2557
|
|
|
|
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2557 เครือข่ายรณรงค์การใช้สเตียรอยด์ให้ปลอดภัยและเหมาะสม ซึ่ง กพย. เป็นภาคีหลัก ได้จัดงานมหกรรมการจัดการปัญหาสเตียรอยด์ในระดับชาติขึ้น ที่โรงแรมแมนดาริน
ภายในงานได้มีการนำเสนอนิทรรศการเกี่ยวกับสเตียรอยด์ โดยทีมจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นและน้องๆนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มีการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับอันตรายของสเตียรอยด์ และเปิดตัวแอปพลิเคชันสำหรับจัดการปัญหาสเตียรอยด์ รวมถึงการแถลงข่าวความร่วมมือในการจัดการปัญหาสเตียรอยด์
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังในระบบยา (กพย.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์การใช้สเตียรอยด์ในประเทศไทย พบว่ามีการใช้ปริมาณสเตียรอยด์จำนวนมหาศาล โดยพบว่า ปี 2550 มีการใช้มากที่สุดถึงจำนวน 853 ล้านเม็ด ปี 2556 มีการใช้ 737 ล้านเม็ด เฉลี่ยคนไทยใช้สเตียรอยด์อยู่ที่ 13.2 เม็ดต่อคนต่อปี ซึ่งยังไม่นับรวมการใช้ในยาชนิดทา ทั้งนี้ การเติมสเตียรอยด์พบได้ทั้งในยาชุด ยาสมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำผลไม้ ยาแผนโบราณ ฯลฯ โดยใน 20 จังหวัดเครือข่ายที่ทำการสำรวจพบว่า แหล่งการกระจายสเตียรอยด์มักอยู่ในรถเร่ และวิทยุชุมชน เป็นจุดสำคัญที่ทั้งการโฆษณาและการขาย ภก.เด่นชัย ดอกพอง โรงพยาบาลขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อาการข้างเคียงที่สังเกตได้จากการใช้สเตียรอยด์ คือ หน้ากลม รูปร่างกลม ตัวบวม แต่อาการข้างเคียงที่ไม่ทราบ คือ ภาวะช็อก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีไข้ ปวดตามข้อ เพราะต่อมหมวกไตถูกกระตุ้นจากยาจนไม่สามารถทำงานเองได้ เมื่อหยุดยาจึงเกิดอาการดังกล่าวขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่กินจนติด การเลิกกินอย่างฉับพลันทำให้เกิดอาการช็อกได้สูง ซึ่งการหยุดยาจำเป็นต้องมีกระบวนการรักษา เพื่อไม่ให้เกิดผลข้างเคียง แต่พบว่าส่วนใหญ่โรงพยาบาล สั่งให้ผู้ป่วยหยุดการใช้สเตียรอยด์ แต่ยังไม่มีการให้ข้อมูลถึงอาการข้างเคียงที่จะตามมา แหล่งกระจายยาที่พบ คือ ยาชุดจากร้านยา ร้านชำ พบว่า สถานการณ์ลดลง ยาลูกกลอน สถานการณ์คงเดิม ยาจากรถเร่ ยังพบมากและเปลี่ยนเป็น NSAID ขนาดสูงแทน ซึ่งไม่สามารถตรวจพบ ยาจากพระ เยอะขึ้นมาก รวมทั้งยาจากชายแดน ซึ่งพบสถานการณ์ดังกล่าวใน จ. ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม โดยจากการซักประวัติและเฝ้าระวังในประชากร 5 พันราย เจอ คุชชิ่งซินโดรม 4 ราย ภก.เด่นชัย กล่าว
ภญ.กนกพร ธัญมณีศิลป์ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากการสำรวจและเก็บอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับสเตียรอยด์หรือผลิตภัณฑ์ปลอมปนสเตียรอยด์ ในโรงพยาบาลชุมชน 10 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2556 - 31 พ.ค. 2557 พบว่า มีผู้ที่ป่วยจากการใช้สเตียรอยด์ 60 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากอาการไตวายเฉียบพลัน โดยแบ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 45 จากอาการต่อมหมวกไตผิดปกติร้อยละ 18 โรคคุชชิ่งซินโดรม ร้อยละ 6 เป็นต้น ทั้งนี้ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีการผสมสเตียรอยด์ พบในยาสมุนไพรไม่มีทะเบียนตำรับ ร้อยละ 30 ยาเม็ด ร้อยละ 28 ยาชุด ร้อยละ 21 ยาน้ำแผนโบราณ ร้อยละ 16 และเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร ร้อยละ 3 โดยพบแนวโน้มการใส่สเตียรอยด์ลงในเครื่องดื่มสมุนไพรมากขึ้น ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย. ได้พัฒนาระบบและกลไกการดูแลสเตียรอยด์ ตั้งแต่การนำเข้า การผลิต และการจำหน่าย ซึ่งทุกขั้นตอนต้องมีการทำทะเบียน และรายงานข้อมูล ทำให้สามารถทราบข้อมูลแบบทันเหตุการณ์ รวมถึงได้ ออกกฎกระทรวงเพื่อบังคับเรื่องช่องทางการจำหน่ายด้วย หากการแก้ปัญหายังไม่ได้ผล อย.ก็จะพิจารณาการห้ามขายในช่องทางทั่วไป ให้จำหน่ายได้ในโรงพยาบาลเท่านั้นต่อไป นอกจากนี้ ยังมีหน่วยติดตามดูแล ผู้ลักลอบวัตถุดิบเข้ามาในประเทศ รวมทั้งการนำเคมีภัณฑ์ ลักลอบขายให้โรงงานยาบางแห่ง เพื่่อนำไปลักลอบขาย และนำไปเติมในอาหารเสริม โดยได้ประสานกับ บก.ปคบ.หากพบว่า เป็นสถานประกอบการที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง แต่ลักลอบผลิตยาตัวนี้โดยไม่รายงาน หรือร้านขายยาที่ได้รับใบอนุญาตนำมาจำหน่ายโดยไม่รายงาน ก็จะมีโทษการระงับใบอนุญาตต่อไป นางมะลิ บุตรพรม ผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สเตียรอยด์ กล่าวว่า ใช้สเตียรอยด์มาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถเลิกได้ เพราะเมื่อพยายามเลิกจะมีอาการอ่อนเพลีย คล้ายจะเป็นอัมพฤษ์ อัมพาต ทานอะไรไม่ได้อาเจียน ซึ่งมีพี่สาว และพี่ชาย ที่เคยกินยาเตียรอยด์อยู่เหมือนกัน โดยจะกินยาทุกครั้งที่รู้สึกปวดและไม่มีแรง ไม่ได้กินยาตามที่เภสัชบอก และได้หยุดกินยาเอง ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เป็นไข้ จึงไปโรงพยาบาลแต่เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็เสียชีวิต ซึ่งแพทย์บอกว่าเกิดจากการใช้สเตียรอยด์ที่รุนแรงจนทำให้เกิดผลต่อระบบหัวใจ และไต
|
|
|
|
|
|