|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6646718 การเปิดหน้าเว็บ:9507039 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
พบสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรอายุวัฒนะ อย.ชี้ไม่มีผู้ผลิตจริง |
|
|
|
13 สิงหาคม 2557
|
|
|
|
ลิงค์: www.thairath.co.th/content/442964
อย.เตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อยาสมุนไพรอายุวัฒนะ หลังตรวจพบสเตียรอยด์ปนเปื้อน แถมแสดงฉลากปลอม แจงชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดนครสวรรค์ไม่มีตัวตนจริง...
เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 57 ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ตามที่มีผู้บริโภคร้องเรียนผ่านสายด่วน อย. 1556 ให้ตรวจสอบ "ยาสมุนไพรอายุวัฒนะ" ใช้เลขทะเบียนปลอม ซึ่งฉลากระบุสถานที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์นั้น ทาง อย. จึงส่งเรื่องให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ตรวจสอบกรณีดังกล่าว ซึ่งทาง สสจ.นครสวรรค์ ได้แจ้งกลับมายัง อย. ว่ายาดังกล่าวเคยได้รับการร้องเรียนให้ตรวจสอบอยู่เนืองๆ ซึ่ง "ยาสมุนไพรอายุวัฒนะ" ลักษณะบรรจุอยู่ในกระป๋องพลาสติก ฉลากระบุทะเบียนเลขที่ G 463/46 ผลิต โดยชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 1/8 หมู่ 2 ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โดยพบการจำหน่ายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคใต้
และล่าสุดได้รับแจ้งจากจังหวัดระนองว่า โรงพยาบาลชุมชนตรวจพบสารสเตียรอยด์ในยาดังกล่าวที่ได้จากผู้ป่วย หลังการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่พบว่า สถานที่ตั้งดังกล่าวในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ไม่มีอยู่จริง และชมรมแพทย์แผนไทยจังหวัดนครสวรรค์ก็ไม่มีตัวตน ที่สำคัญไม่มีการขึ้นทะเบียนยาดังกล่าวในจังหวัดนครสวรรค์แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ให้ตรวจสอบการจำหน่ายยาสมุนไพรดังกล่าวในพื้นที่ หากตรวจพบให้ดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ในส่วนของ อย. กำลังดำเนินการสืบสวนหาแหล่งผลิตอีกทางหนึ่งด้วย รองเลขาธิการฯ กล่าวอีกว่า ยาสมุนไพรอายุวัฒนะ ที่ตรวจพบการปนเปื้อนยาสเตียรอยด์ หรือยาสมุนไพรใดก็ตาม ที่ตรวจพบสเตียรอยด์ ถือว่ามีความผิด และเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากยากลุ่มสเตียรอยด์ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องใช้ภายใต้ความดูแลของแพทย์ เพราะเป็นยาที่มีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ในร่างกายแทบทุกระบบ มีผลข้างเคียงสูง เช่น ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา ได้ง่าย เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลงอาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ กล้าม เนื้อลีบ กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลง บางรายอาจถึงขั้นไตวายเป็นอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้ หากผู้บริโภคจะเลือกซื้อยาแผนโบราณ ขอให้ซื้อยาจากร้านที่มีใบอนุญาตขายยาเท่านั้น อย่าหลงเชื่อซื้อยาจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เช่น ตลาดนัด ตามวัด รถเร่ขายยา แผงลอย หรือซื้อยาผ่านทางอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก เป็นต้น เพราะอาจได้รับยาที่มีการลักลอบใส่สเตียรอยด์ และขอให้ซื้อยาที่บนฉลากมีเลขทะเบียนตำรับยา ซึ่งแสดงว่าได้รับอนุญาตจาก อย.แล้ว โดยทะเบียนยาแผนโบราณกรณีที่ผลิตในประเทศ ฉลากจะระบุตัวอักษร G ตามด้วยลำดับที่/ปี พ.ศ. สองหลักสุดท้าย และมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ฉลาก เช่น ชื่อผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิต เลขที่หรือครั้งที่ผลิต ปริมาณยาที่บรรจุ รวมทั้งควรสังเกตว่า หีบห่อต้องอยู่ในสภาพดี ไม่เปียกชื้น หากผู้บริโภคพบเห็นแหล่งผลิต/จำหน่าย ยาสมุนไพรที่ผิดกฎหมาย แจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่พบเห็นการกระทำความผิดนั้นๆ.
|
|
|
|
|
|