search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6516014
การเปิดหน้าเว็บ:9359072
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เล็งปลดล็อก “ยาอันตราย-ควบคุมพิเศษ” ไม่ต้องทำบัญชีทุกตัว
  27 สิงหาคม 2557
 
 


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000098155

        
    
อย. เล็งออกประกาศคุมร้านขายยา ทำบัญชี “ยาอันตราย-ยาควบคุมพิเศษ” เฉพาะตัวที่มีปัญหาใช้ในทางที่ผิด ช่วยปลดภาระไม่ต้องทำบัญชียาทุกตัว เหตุบางตัวไร้ปัญหา ระบุยาที่ต้องเร่งทำ คือ ยาน้ำแก้ไอ ทรามาดอล สเตียรอยด์ และเดกซาเมทาโซน คาด 2 เดือนออกประกาศได้ เหตุรอ คกก. ยาครบองค์ประชุม
     
       วันนี้ (27 ส.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวร่วมกับกองพันทหารช่างที่ 1 รักษาพระองค์ ภายหลังบุกจับร้านขายยาผิดกฎหมายย่านรามคำแหง จำนวน 11 ร้าน โดยพบการจำหน่ายยาน้ำแก้ไอให้แก่วัยรุ่นนำไปใช้เป็นส่วนผสมยาเสพติดประเภท 4x100 ซึ่งบางร้านเคยถูกเจ้าหน้าที่ อย. ตักเตือนไปแล้ว ว่า อย. ได้ออกหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการบริการด้านเภสัชกรรม (Good Pharmacy Practice : GPP) ซึ่งกำหนดให้ร้านขายยาเปิดใหม่ทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องของการจัดทำบัญชียาอันตราย และยาควบคุมพิเศษ ซึ่งยาน้ำแก้ไอจัดเป็นยาอันตรายต้องมีการทำบัญชีว่า สั่งซื้อมาจากผู้ผลิตรายใด ปริมาณเท่าไร และจำหน่ายออกไปในปริมาณเท่าไร ซึ่งตามหลักเกณฑ์ปริมาณการจำหน่ายจากผู้ผลิตไปยังร้านขายยาต้องไม่เกิน 300 ขวดต่อเดือนต่อร้าน และร้านขายยาต้องจำหน่ายครั้งละไม่เกิน 3 ขวดต่อคน โดยเภสัชกรต้องเป็นผู้จำหน่ายเท่านั้น เพื่อป้องกันการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
       
       นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า แต่จากการตรวจสอบร้านขายยา 11 ร้านย่านรามคำแหง พบว่า บางร้านไม่ได้มีการทำบัญชี มีการขายยาดังกล่าวช่วงเภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ขายนอกเวลาทำการ จึงได้ยึดของกลางรวมมูลค่า 3 ล้านบาท พร้อมตั้งข้อหา 5 คดี และส่งชื่อเภสัชกรให้สภาเภสัชกรรมพิจารณาโทษทางจริยธรรม อย่างไรก็ตาม อย. จะออกประกาศเพิ่มเติมภายใต้หลักเกณฑ์ GPP ว่ายาอันตรายและยาควบคุมพิเศษตัวใดที่จะต้องทำบัญชี เพราะปกติแล้วจะต้องทำบัญชียาอันตรายและยาควบคุมพิเศษทุกตัวเก็บไว้ที่ร้าน เพื่อให้ อย. ตรวจสอบ แต่ยาในกลุ่มเหล่านี้มีปริมาณมากกว่า 100 ตัวยา เป็นภาระในการทำบัญชี ประกอบกับยาบางตัวไม่มีปัญหานำไปใช้ในทางที่ผิด จึงจะออกประกาศดังกล่าว โดยให้ทำบัญชีเฉพาะยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษที่มีปัญหานำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์เท่านั้น ส่วนตัวอื่นไม่ต้องทำก็ได้ โดยในอนาคตจะทำให้ง่ายขึ้นด้วยการกรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ ซึ่ง อย. กำลังเร่งพัฒนา
       
       “ขณะนี้ อย. มีข้อมูลแล้วว่ายาอันตรายและยาควบคุมพิเศษตัวไหนที่มีปัญหา โดยเบื้องต้นคาดว่ายาที่จะออกประกาศให้มีการทำบัญชี เช่น ยาน้ำแก้ไอ ทรามาดอล สเตียรอยด์ ยาเดกซาเมทาโซน เป็นต้น คาดว่าน่าจะออกประกาศได้ภายใน 2 เดือน เนื่องจากต้องรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการยาเสียก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประชุมได้เนื่องจาก ผู้ทรงคุณวุฒิหมดวาระไป 1 คน เมื่อ ก.พ. 2557 ซึ่ง อย.ทำเรื่องเสนอผู้ทรงคุณวุฒิคนใหม่ไปแล้ว แต่เกิดปัญหาด้านการเมืองเสียก่อน จึงต้องทำเรื่องเสนอขึ้นไปใหม่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ซึ่งตอนนี้เสนอเรื่องขึ้นไปใหม่แล้ว” เลขาธิการ อย. กล่าว
       
       นพ.บุญชัย กล่าวว่า สำหรับร้านขายยาเก่าที่เปิดก่อนมีการออกประกาศหลักเกณฑ์ GPP นั้น อย. ให้เวลาในการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน 8 ปี ซึ่งจะแบ่งเป็นเฟส โดยเรื่องการจัดทำบัญชียาอันตรายและยาควบคุมพิเศษถือเป็นเฟสแรกที่ต้องดำเนินการปรับปรุง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดว่าการปรับปรุงในเฟสแรกจะให้ระยะเวลาเท่าไร เนื่องจากการปรับปรุงบางอย่างต้องใช้เวลา เช่น เรื่องสถานที่ต้องมีขนาดมากกว่า 8 ตารางเมตร ซึ่งอาจต้องให้เวลามากในการปรับปรุงส่วนนี้ เป็นต้น