ไทยโพสต์ : วันที่ 25 ธันวาคม 2553 เมดิคัลฮับเก้อ! นายกฯ สั่งบีโอไอระงับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมสุขภาพของบีโอไอ ชี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ หมอวิชัยชี้ 10 ปีผ่านมาเอกชนช่วยตัวเองได้ดีไม่จำเป็นต้องให้สิทธิประโยชน์
ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้รับทราบกรณีที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมติเสนอให้มีการขยายการส่งเสริมการลงทุนในกิจการ รพ.จากเดิม 50 เตียง เป็น 30 เตียง และเพิ่มประเภทกิจการที่จะส่งเสริมอีก 4 กิจการ อาทิ เวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ศูนย์บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ กิจการโลจิสติกส์เพื่อการรักษาพยาบาล การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5-8 ปี อัตรา 100% ของมูลค่าการลงทุน ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรตลอดอายุโครงการ หน่วยงานรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้
แต่เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ คสช. ได้วิเคราะห์นโยบายการส่งเสริมการลงทุนพบว่า นโยบายดังกล่าวไม่สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ขณะเดียวกันมีองค์กรด้านสุขภาพ 22 องค์กร อาทิ เครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิแพทย์ชนบท เป็นต้น ได้มีหนังสือทักท้วงเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้นายกรัฐมนตรีทบทวนมติของบีโอไอด้วย
หลังจากที่ประชุมได้มีการอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คสช. สั่งให้ระงับมติของบีโอไอ และมอบให้ สช.ในฐานะฝ่ายเลขานุการจัดการหารือเพื่อทำความชัดเจนในการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ
"ผมคิดว่าบีโอไอคงไม่ทราบข้อความที่กำหนดอยู่ในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และขณะนี้มติดังกล่าวยังไม่ได้ประกาศออกไป จึงสั่งให้ระงับไว้ก่อน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
ก่อนหน้านี้ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการอาวุโสแห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยทักท้วงว่า นโนบายเมดิคัลฮับหรือการให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในภูมิภาคซึ่งได้รับบีโอไอ จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงระบบสาธารณสุขของคนไทย เกิดภาวะสมองไหลจาก รพ.รัฐไป รพ.เอกชน และนโยบายเมดิคัลฮับนี้เอื้อประโยชน์แต่เฉพาะธุรกิจเอกชนและต่างชาติเท่านั้น
ด้านนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน กรรมการ สช.กล่าวว่า การบริการสาธารณสุขไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ภาคธุรกิจสามารถแสวงหากำไรสูงสุด เพราะระบบสุขภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ต้องเป็นระบบที่ส่งเสริมคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบความมั่นคงของประเทศ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบบริการสาธารณสุขของประชาชนไทยก่อน โดยเฉพาะในสภาวการณ์ที่ยังมีความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของประชาชน มีความจำกัดของทรัพยากรและบุคลากร อีกทั้งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ภาคเอกชนมีศักยภาพสูงในการพัฒนาธุรกิจสุขภาพด้วยตนเอง จึงไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนอีก
|