|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6604612 การเปิดหน้าเว็บ:9454489 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
ตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ผลิตยาเองในไทย ลดค่าใช้จ่าย |
|
|
|
16 กันยายน 2557
|
|
|
|
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000106564
สภากาชาดไทย ร่วม อย. อภ. สปสช. และกรมวิทย์ MOU จัดตั้งศูนย์ผลิตภัณฑ์จากพลาสมา หวังผลิตยาแฟคเตอร์ 8 รักษาฮีโมฟีเลีย และ ยาไอวีไอจี รักษาโรคคาวาซากิ และกล้ามเนื้ออ่อนแรง เผยช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดนำเข้ายาจากต่างประเทศ วันนี้ (16 ก.ย.) ที่ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย พร้อมด้วย นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ทำลงนามความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา โดยมีระยะเวลา 3 ปี เพื่อร่วมมือสนับสนุน และพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของโรงงานและผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล และได้รับการรับรองตามกำหนดเวลา พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมุ่งเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน สนับสนุนการจัดการด้านการกระจายผลิตภัณฑ์จากพลาสมาไปสู่ผู้ป่วยอย่างบูรณาการและเป็นไปตามหลักการสากล นพ.วินัย กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวนั้น สืบเนื่องจากการที่สภากาชาดไทย โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา ณ ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อผลิต แฟคเตอร์ 8 (Factor VIII concentrate) สำหรับรักษาโรคฮีโมฟีเลีย, โปรตีนแอลบูมิน (Albumin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีมากในเลือด ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีการรั่วของอัลบูมินผิดปกติ เช่น ผู้ป่วยไต ผู้ป่วยมะเร็ง และ IVIG ซึ่งเป็นยาราคาแพงที่มีการใช้หลายข้อบ่งใช้ โดยทั้ง 3 อย่างนั้น ก็เพื่อสำหรับการรักษาผู้ป่วยในประเทศ ซึ่งการจัดตั้งและดำเนินการของศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาแห่งนี้ เป็นความร่วมมือจาก 5 หน่วยงานข้างต้น ในการสนับสนุนการดำเนินงาน นพ.วินัย กล่าวต่อว่า การลงนามความร่วมมือตามข้อตกลงฉบับนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจของโครงการจัดตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาให้สัมฤทธิ์ผล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประเทศไทยมีสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาที่มีมาตรฐานสากล มีกำลังการผลิตเพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอย่างทั่วถึงในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยจะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ประเภท Life-saving drug หรือยาช่วยชีวิต เช่น แฟคเตอร์ 8, โปรตีนอัลบูมิน และ IVIG ได้ด้วยตนเอง ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและลดการพึ่งพายานำเข้าจากต่างประเทศ ในส่วนของ สปสช. นั้น มีภารกิจที่สำคัญคือการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาและยาจำเป็นต่างๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากพลาสมานี้ จะนำไปสู่การผลิต แฟคเตอร์ 8 สำหรับใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย หรือโรคเลือดออกง่าย ซึ่งในแต่ละปีนั้น มีการใช้แฟคเตอร์ 8 ในระบบหลักประกันสุขภาพประมาณ 10 ล้านยูนิต ในปี 2556 ใช้แฟคเตอร์ 8 ประมาณ 12 ล้านยูนิต ขณะที่ปี 2555 และปี 2554 ใช้ประมาณ 11 ล้านยูนิต และ 10 ล้านยูนิต ซึ่งจะเห็นว่ามีอัตราการใช้เพิ่มขึ้นทุกปี โดย สปสช. กำหนดงบประมาณในการจัดซื้อแฟคเตอร์ 8 ขนาด 250 iu ที่ 3,000 บาท และขนาด 500 iu ที่ 6,000 บาท เลขาธิการ สปสช. กล่าว นพ.วินัย กล่าวว่า นอกจากนั้น การตั้งศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา จะนำไปสู่การผลิตยา IVIG ซึ่งเป็นยาในบัญชี จ (2) ที่ สปสช. ดำเนินการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา เนื่องจากเป็นยาจำเป็นแต่มีราคาแพง จึงต้องมีกระบวนการจัดการ โดยยา IVIG นั้น มีหลายข้อบ่งใช้ ตั้งแต่การรักษาโรคคาวาซากิระยะเฉียบพลัน รักษาโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้ายระยะวิกฤต เป็นต้น โดยในการจัดหานั้น สปสช.มีการจัดซื้อรวมเพื่อให้ได้ยาราคาถูกลง ดังนั้น การที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย สร้างโรงงานสำหรับผลิตแฟคเตอร์ 8 และยา IVIG ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมา จะทำให้เกิดความมั่นคงทางยาแก่ประเทศ ทำให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพมีความมั่นคงและควบคุมค่าใช้จ่ายโดยไม่ให้เป็นภาระการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว เลขาธิการ สปสช. กล่าว
|
|
|
|
|
|