search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517070
การเปิดหน้าเว็บ:9360223
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ยื่น อย.6 ประเด็นด่วนแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา ก่อน ปชช.รับอันตราย
  08 ตุลาคม 2557
 
 


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000115896



        สภาเภสัชฯ เตรียมยื่น 6 ประเด็นด่วน! ควรแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ต่อ อย. วันที่ 9 ต.ค. ห่วงเกิดอันตรายต่อประชาชน ทั้งการผสมยา การโฆษณายาอันตราย การขายยาชุด ขณะที่กลุ่มเภสัชกรใต้เตรียมเดินทางร่วมสมทบหารือ อาจารย์เภสัชฯ มอ. เผยเตรียมรวมรายชื่อคนค้านเสนอ สนช. พร้อมหารูปแบบเคลื่อนไหว ยันไม่ได้คัดค้านเพื่อวิชาชีพตัวเอง แต่ทำเพื่อความปลอดภัยประชาชน


        วันนี้ (8 ต.ค.) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาฯมีความเป็นห่วงว่าช่วงเวลา 14 วัน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะต้องตอบกลับยืนยันร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จะไม่เพียงพอต่อการหารือ เพื่อแก้ไขประเด็นข้อทักท้วงต่างๆ ที่ควรมีการแก้ไข จึงได้จัดทำรายละเอียดสำคัญๆ ที่ต้องการให้มีการแก้ไขจำนวน 6 ประเด็น คือ 1. ปรับแก้นิยามประเภทของยาให้ชัดเจน 2. การจ่ายยาต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพด้านเภสัชกรรมแผนไทย ส่วนวิชาชีพอื่นๆ หากจำเป็นต้องจ่ายยาขอให้ไปเขียนไว้ในหมวดยกเว้นมาตรา 24 แทน
       
       ภก.กิตติ กล่าวว่า 3. การผสมยา ซึ่งถือเป็นการผลิตยาใหม่ ต้องมีการควบคุมเข้มข้น โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ การผสมยาเพื่อผู้ป่วย ให้วิชาชีพอื่น เช่น แพทย์ สามารถทำได้ในระหว่างการทำหัตถการให้ผู้ป่วย และเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ไม่ควรอนุญาตให้วิชาชีพอื่นๆ ผสมยาเพื่อเตรียมจ่ายให้กับผู้ป่วยที่ไม่ใช่กรณีเร่งด่วน และการผลิตยาในระบบอุตสาหกรรม ในส่วนของเจ้าของกิจการจะเป็นใครก็ได้ แต่ผู้ควบคุมการผลิตต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทางด้านยาอย่างแท้จริง ซึ่ง พ.ร.บ.ยา ฉบับเดิมระบุเอาไว้ชัดเจนว่าเป็นความรับผิดชอบของเภสัชกรควบคุม 4. ขอให้ตัดข้อความในมาตรา 24 พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ซึ่งเขียนไว้ไม่ชัดเจน ทำให้ตีความได้ว่าวิชาชีพอื่นใดก็สามารถเปิดร้านขายยาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต และให้เพิ่มข้อความว่าการเปิดร้านขายยาจะต้องมีการขออนุญาตและตรวจสอบอย่างเข้มงวด
       
       ภก.กิตติ กล่าวว่า 5. ขอให้คงข้อความเรื่องการห้ามโฆษณายาอันตรายตาม พ.ร.บ.ยา 2510 เอาไว้ เพราะถือเป็นยาควบคุมพิเศษ ห้ามโฆษณา ส่วนยาสามัญประจำบ้านสามารถโฆษณาได้ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดไว้ชัดเจน ระบุเพียงการโฆษณาต้องขออนุญาต อาจเกิดการตีความได้ว่ายาอันตรายก็โฆษณาได้ แม้บอกว่าจะออกหลักเกณฑ์ตามมา แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่าควรเขียนให้ชัดเจนเอาไว้ก่อน หากปล่อยให้โฆษณาได้ คนทั่วไปได้เห็นโฆษณาทุกวันแล้วอาจจะคิดได้ว่าไม่มีอันตราย จึงเกรงว่าจะเกิดอันตรายกับประชาชน และ 6. ขอให้เพิ่มเติมข้อห้ามการขายยาชุด ยาแบ่งขาย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายกับผู้บริโภค เพราะยาแต่ละประเภทมีลักษณะการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน ที่สำคัญมักพบการผสมสเตียรอยด์เข้าไปด้วย
       
       “อย่างไรก็ตาม ผมได้รับการประสานจาก อย. เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้รวบรวมความเห็นและรายละเอียดที่ต้องการให้มีการปรับแก้ไข พร้อมส่งตัวแทนเข้ามาหารือ ซึ่งได้มีการขยายเวลาในการตอบกลับกฤษฎีกาเป็น 30 วัน คิดว่าถ้ามีการพูดคุยหารือแก้ไขกันอย่างจริงจังก็น่าจะทัน โดยร่างประเด็นที่ควรแก้ไขทั้ง 6 ข้อ จะยื่นต่อเลขาธิการ อย. ในวันที่ 9 ต.ค. ด้วย เพื่อหารือกันก่อนว่าจะปรับแก้ได้หรือไม่ ซึ่งวันนั้นจะมีเภสัชกรจากภูมิภาคมาร่วมหารือด้วย” ภก.กิตติ กล่าว
       
       ด้าน ภญ.โพยม วงศ์ภูวรักษ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วันที่ 9 ต.ค. ตนพร้อมด้วยแกนนำเภสัชกรภาคใต้ประมาณ 4 คน จะเดินทางมาหารือร่วมกับเลขาธิการ อย. ว่าจะมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา อย่างไร หากหารือและหาทางออกในประเด็นที่เป็นผลกระทบเรื่องการใช้ยาของประชาชนได้ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี หากแก้ไขไม่ได้ทางเครือข่ายฯ ก็จะเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการแก้ไขต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมรายชื่อผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ทั้งในส่วนของประชาชนและเภสัชกรทั่วประเทศ เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยรูปแบบของการขับเคลื่อนอาจจะต้องหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
       
       “มีหลายคนบอกว่าเภสัชกรออกมาคัดค้านเรื่องนี้เพื่อวิชาชีพของตัวเอง แต่ไม่ใช่ เรารู้เรื่องยาดี รู้ว่าถ้าทำแบบนี้จะเกิดความไม่ปลอดภัยอะไรกับคนไข้บ้าง และสากลทั่วโลกก็ไม่ได้เป็นแบบบ้านเรา บ้านเราอะลุ้มอล่วยตามประสาคนไทย แต่ประเทศอื่นเรื่องการใช้ยาจะเข้มงวดมาก จะให้มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนของการใช้ยาอย่างชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย อย่างสิงคโปร์ มาเลเซียระบบของเขาจะเหมือนอังกฤษ อเมริกาที่ควบคุมอย่างเข้มงวด เพราะยาไม่ใช่ขนม ยาเป็นอันตรายสำหรับผู้บริโภคมาก” ภญ.โพยม กล่าว