search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6620531
การเปิดหน้าเว็บ:9471069
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ผอ.อภ.ชี้ถูกปลดไม่เป็นธรรม จ่อท้วงมติบอร์ด-แจง ป.ป.ช. "หมอดำรัส" คาดเหยียบตาปลาจนถูกเขี่ยทิ้ง
  01 พฤศจิกายน 2557
 
 




ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000125700




นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา

        
"หมอสุวัช" เปิดใจครั้งแรกหลังถูกปลดพ้น ผอ.อภ. ชี้มติบอร์ดไม่เป็นธรรม เตรียมทำหนังสือทักท้วง พร้อมชี้แจง ป.ป.ช. หลังถูกร้องตรวจสอบเอี่ยวผลประโยชน์ทับซ้อนส่อทุจริตโครงการศูนย์สนับสนุนงานล้างไต ชี้ตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาตัวเลขสั่งซื้อจัดส่งน้ำยาล้างไตไม่ตรงกัน ไม่ทำงานซ้ำรอย สปสช. ด้าน "หมอดำรัส" คาดเหยียบตาปลา ทำให้ถูกเล่นงาน
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) มีมติเลิกจ้าง นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการ อภ. ภายใน 30 วัน และรับเงินชดเชย 6 เดือน ด้วยเหตุผลว่าสามารถบริหารงานได้ แต่ยังไม่เพียงพอต่อการตอบสนองภารกิจเป้าประสงค์ และเป้าหมายสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในไม่ได้ นอกจากนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพยังยื่นฟ้องสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ตรวจสอบกรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน ส่อทุจริตในการว่าจ้างที่ปรึกษาโครงการจัดตั้งศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (CAPD) การเช่าที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์เนชันแนล เพื่อดำเนินการโครงการดังกล่าว และการจัดซื้ออุปกรณ์ล้างไตที่เอื้อต่อบริษัทลูกของ นพ.ดำรัส โรจนเสถียร ผอ.รพ.มหาสารคามอินเตอร์ฯ อดีตที่ปรึกษาองค์การเภสัชกรรม ซึ่งที่ผ่านมา นพ.สุวัช ยังไม่เคยชี้แจงต่อกรณีดังกล่าว
       
       ทั้งนี้ นพ.สุวัช ได้ออกมาเปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวทั้งหมดว่า ตั้งแต่ทราบมติก็รู้สึกว่าไม่เป็นธรรมต่อตน แต่เมื่อมีมติออกมาก็ต้องเคารพในการตัดสินใจของกรรมการแต่ละท่าน จึงไม่ต้องการให้ อภ. เกิดปัญหามากกว่านี้ แต่สุดท้ายกลับมีการร้องตนอย่างต่อเนื่องว่าทำความเสียหายให้กับรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์ฯ และยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. จึงยิ่งรู้สึกไม่เป็นธรรมต่อตนเอง เพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริงและสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ตน ซึ่งจากนี้ตนจะทำหนังสือทักท้วงมติดังกล่าว และยินดีเข้าชี้แจงทุกประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ และมีข้อมูลพร้อมในการชี้แจงข้อมูลต่อ ป.ป.ช.
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการฟ้องร้องในเรื่องดังกล่าวต่อ ศาลปกครองหรือไม่ นพ.สุวัช กล่าวว่า โดยปกติตามวิสัยของผม ไม่ชอบทำให้ใครไม่สบายใจ แต่จะขอพิจารณาก่อนว่า ในสิ่งที่ได้รับนั้น มีความเป็นธรรมต่อตนมากน้อยขนาดไหน
       
       เมื่อถามถึงกรณีเช่าพื้นที่ รพ.มหาสารคามอินเตอร์​ฯ เพื่อทำศูนย์สนับสนุนงานล้างไตและฟอกเลือดเพื่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จะส่อไปในทางทุจริตนั้น นพ.สุวัช กล่าวว่า ศูนย์ดังกล่าวไม่ใช่ศูนย์วิจัย และไม่ใช่ศูนย์ล้างไต จึงไม่ได้ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เป็นโครงการเพื่อพัฒนาระบบบริหารเวชภัณฑ์ของ อภ. ในภาพรวมทั้งประเทศ และแก้ปัญหาตามพันธกิจของ อภ. เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ตัวเลขการจัดส่งน้ำยาล้างไตไม่ตรงกัน โดยเฉพาะมีการสั่งเพิ่มฉุกเฉินในช่วงปลายปีงบประมาณอยู่เสมอ ทั้งที่ปกติจะมีน้ำยาล้างไตคงคลังไว้ประมาณ 7 - 8 แสนถุง ที่สำคัญ สามารถประมาณการล่วงหน้าได้ และปกติควรคำนวณปริมาณที่ต้องการใช้ทั้งปี เพื่อบริหารเวชภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
       "ผมไม่อยากออกมาพูดอะไรมาก แต่พร้อมที่จะให้ข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาก็พยายามชี้แจงมาโดยตลอดแล้ว ตามที่มีกลุ่มต่างๆ ออกมาร้องว่า อภ. บริหารยาต้านไวรัสเอชไอวี ขาดแคลน ทั้งที่ปัญหามาจากการการจัดส่งวัตถุดิบของบริษัทจากต่างประเทศล่าช้า ​หรือ กรณีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่สระบุรี ก็มีปัญหาต่อเนื่องมาหลายยุคสมัยและอยู่ในกระบวนการแก้ปัญหา ส่วนคำถามที่ว่า อภ. ยังไม่ฟ้องบริษัทผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดความเสียหายในการก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต ก็อธิบายไปแล้วว่า ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งฝ่ายกฎหมายยังทำงานไม่แล้วเสร็จ" นพ.สุวัช กล่าว
       
       นพ.สุวัช กล่าวว่า อภ. เป็นเหมือนจุดเชื่อมต่อของผู้ซื้อและผู้ให้บริการ ซึ่ง อภ. ต้องดำเนินการตามพันธกิจเหล่านี้ อนาคตอยากให้ อภ. เดินตามนโยบาย คสช. คือ การสร้างธรรมาภิบาลให้มากขึ้น และควรกำหนดให้ชัดเจน ว่า ควรทำยาตัวไหนให้สอดคล้องกับระบบสาธารณสุข และพิจารณาว่า อะไรบ้างที่ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาระบบยาชื่อสามัญ โดยร่วมมือกันมากขึ้น และตอบสนองให้คู่ค้า คือ สถานบริการ และกองทุนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา อภ.ทำหน้าที่ควบคุมราคายาได้ดีพอสมควร และในอนาคตจะต้องพิจารณาว่า จะทำงานเพื่อตอบสนองตลาดในรูปแบบใด เพราะการเปิดประชาคมอาเซียนจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงค์โปร์ ที่มีความเข้มแข็งในการผลิตยาชื่อสามัญอย่างมากเข้ามาแข่งขัน หากไทยจะแข่งขันในตลาดก็ต้องวางเป้าหมายที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ​เพื่อความเข้มแข็ง ของ อภ. ระบบธรรมภิบาลใน อภ. ต้องเกิด ซึ่งตนพยายามทำให้เกิดความชัดเจนมาโดยตลอด แต่ก็ยังมีมุมมองหลายคนที่มองต่างกันในรูปแบบที่เคยทำมา ทำให้ประเด็นที่ขับเคลื่อนองค์การไม่ง่ายนัก
       
       นพ.ดำรัส กล่าวว่า ที่ นพ.สุวัช ถูกร้องให้ตรวจสอบเรื่องศูนย์สนับสนุนงานล้างไตฯ เพราะอาจมีการไปเหยียบหางใครเข้า ทำให้เกิดการดิ้นกันสุดฤทธิ์ เนื่องจาก นพ.สุวัช เข้ามาเป็น ผอ.อภ. แล้วอนุมัติให้มีการตรวจสอบจัดซื้อน้ำยาล้างไตใหม่ และพัฒนาระบบไอที เพราะตรวจสอบพบว่า ข้อมูลการจัดซื้อของ 3 ส่วน ได้แก่ อภ. บริษัทเอกชน และ สปสช. ตัวเลขมีการเขย่ง ไม่ตรงกันเลยในแต่ละปี จากยอดที่ซื้อประมาณ 3 พันกว่าล้านบาทต่อปี มียอดที่ไม่ตรงกันถึง 1 พันล้านบาท ทั้งยังพบว่าจัดซื้อฉุกเฉินในช่วงปลายปีงบประมาณ อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ส่วนตัวคงไม่ฟ้องกลับคนที่กล่าวหา แต่ถ้าใครสงสัยว่าจะมีการทุจริตก็ให้ไปยื่นฟ้องศาลเพื่อให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง