ค้นหาภายในเว็บไซต์
สถิติ
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6604604
การเปิดหน้าเว็บ:9454481
Online User Last 1 hour (0 users)
ติดราคาแก้ยาแพงเริ่มใน 1 เดือน ส่วนป่วยฉุกเฉินเคาะราคาจ่ายให้ รพ.เอกชนแล้ว
08 สิงหาคม 2558
ที่มา: Hfocus
ลิงค์:
www.hfocus.org/content/2015/08/10609
คาดอีก 1 เดือน เริ่มมาตรการติดฉลากแก้ปัญหายาราคาแพง ส่วนปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉิน สพฉ.เคาะราคาจ่ายให้เอกชนแล้ว แต่ยังไม่มีงบประมาณ คาดเห็นผลจริงต้นปีหน้า
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงในโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพงว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้ข้าราชการประจำจัดทำรายละเอียดด้านต่างๆ ให้ชัดเช่น โดยในส่วนของประเด็นเรื่องการกำหนดราคายา อยู่ในขั้นตอนให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการออกประกาศ คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 1 เดือน และหลังจากประกาศใช้แล้ว จะมีเวลาให้ผู้ประกอบการปรับตัวอีก 90 วัน
ขณะที่ประเด็นการรับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนกรณีป่วยฉุกเฉิน ขณะนี้ได้มีการตกลงราคากันได้แล้วว่าในแต่ละโรค ภาครัฐจะจ่ายค่าใช้จ่ายแก่โรงพยาบาลเอกชนในอัตราเท่าใด แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการ เช่น ระบบการรับกลับหลังผู้ป่วยได้รับการรักษาแล้ว 72 ชั่วโมง เป็นต้น
ด้าน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา
ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 29 ก.ค.58 ที่่ผ่านมา ได้เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง ได้ข้อสรุปคือ 1.เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินฟรี 72 ชม. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะมาทำหน้าที่แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการเป็น clearing house อยู่ระหว่างการวางระบบ Claim Center คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน
ขณะเดียวกันทาง สพฉ.ได้ข้อสรุปราคากลางกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่าเท่าไหร่ นอกจากนี้ยังติดขัดไม่มีงบประมาณมารองรับนโยบาย ดังนั้นอาจต้องรอถึงต้นปีหน้า
ระหว่างนี้ก็อยากเตือนประชาชนว่า เจ็บป่วยฉุกเฉินหากไม่มีความพร้อมเรื่องค่ารักษาให้เข้าโรงพยาบาลของรัฐบาลจะดีที่สุด หากเลี่ยงไม่ได้ให้โทรปรึกษาสายด่วน สปสช.1330 นางปรียนันท์ กล่าว
2.ประเด็นการติดฉลากราคายา ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม อยู่ระหว่างประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมสนับสนุนบริการทางสุขภาพ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และบริษัทยาหรือผู้ประกอบการร้านยา ให้จัดทำรายละเอียดการติดฉลากราคายาให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
"อยากวอนรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการกลาง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้กับประชาชนโดยด่วน เนื่องจากยังมีประชาชนและชาวต่างชาติร้องเรียนเรื่องค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนแพงเข้ามาอยู่เรื่อยๆ ขณะที่มาตรการระยะสั้นที่ประกาศออกไปว่าต้องเห็นผลภายใน 1 เดือนนั้น ก็ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ เพราะทุกเรื่องล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น นางปรียนันท์ กล่าว