|
|
|
|
สถิติ
|
ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6646708 การเปิดหน้าเว็บ:9507029 Online User Last 1 hour (0 users)
|
|
|
|
|
|
|
ให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน ไม่ช่วยลดติดเชื้อ เพิ่มค่าใช้จ่าย เสี่ยงดื้อยา |
|
|
|
28 กันยายน 2558
|
|
|
|
ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000108824
หมอไส้เลื่อนวิจัยพบให้ยาปฏิชีวนะก่อนผ่าตัด ไม่ช่วยลดการติดเชื้อหลังผ่าตัด ชี้ เพิ่มค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น เสี่ยงแพ้ยา พ่วงเชื้อดื้อยา นพ.วิบูลย์ ภัณฑบดีกรณ์ นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรม สาขาศัลยกรรม โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยก่อนการผ่าตัด ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เป็นการใช้ยาฟุ่มเฟือยจนเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยหรือไม่ สำหรับการผ่าตัดไส้เลื่อนนั้น ในยุโรปมีแนวทางเวชปฏิบัติในการรักษาผู้ป่วยไส้เลื่อนออกมาว่า ไม่มีความจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจน ซึ่งการจะนำแนวทางของยุโรปมาใช้ ก็ต้องมาทำวิจัยก่อนว่ามีความเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากประชากรคนละเชื้อชาติกัน และภูมิอากาศประเทศไทยและยุโรปก็มีความแตกต่างกันด้วย ซึ่งอาจส่งผลให้แผลเกิดการติดเชื้อหลังผ่าตัดได้ นพ.วิบูลย์ กล่าวว่า ตนได้ทำการวิจัยโดยสุ่มคนไข้จำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด และกลุ่มที่สอง ไม่ให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัด ว่าสุดท้ายแล้วการติดเชื้อหลังผ่าตัดมีความแตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวได้รับการอนุมัติคณะกรรมการพิจารณาการวิจัยในคน โดยผลการศึกษาพบว่า การติดเชื้อหลังผ่าตัดทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเราเป็นคนไข้ย่อมไม่อยากได้รับยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ เพราะถือเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้ยา รวมถึงเพิ่มโอกาสการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะด้วย ซึ่งจะทำให้การรักษามีความยากลำบากยิ่งขึ้น ยกเว้นกลุ่มคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คนไข้เบาหวานที่ควบคุมไม่ดี คนไข้สูงอายุ คนไข้ฉุกเฉินที่มีภาวะภูมิคุ้มกันผิดปกติ "นอกจากแนวทางการผ่าตัดไส้เลื่อนโดยไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะก่อนการผ่าตัดแล้ว ยังพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่ด้วย ซึ่งช่วยให้คนไข้ไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ไม่ต้องเจาะเลือดหรือให้สารน้ำทางเส้นเลือด แต่ต้องมานอนรอให้หอผู้ป่วยเพื่อฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังผ่าตัด และช่วยให้หลังผ่าตัดไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล ทำให้งานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลชนะเลิศในงานประชุมประจำปีของ Asia-Pacific Hernia Society 2011 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทยด้วย" นพ.วิบูลย์ กล่าว
|
|
|
|
|
|