ที่มา: คม ชัด ลึก
พบนักลงทุนจ้างเลี้ยงหมู บังคับฉีดยาอันตรายโคลิสติน ตัวแพร่ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ แพทย์เตือนสารพิษตกค้างในฮอร์โมนเนื้อหมู อาจทำให้ผู้บริโภคไตวาย หลังจากทีมข่าว คม ชัด ลึก สำรวจพบฟาร์มหมูหลายจังหวัดใช้ยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดรุนแรงที่ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นตัวแพร่กระจายยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ เอ็มซีอาร์-วัน ล่าสุดพบว่ามีนักลงทุนมาจ้างเกษตรกรเลี้ยงหมู โดยมีเงื่อนไขให้ฉีดยาโคลิสตินและมีสูตรอาหารเฉพาะสำหรับเลี้ยงหมู โดยผู้เลี้ยงไม่ทราบว่ามียาหรือสารเคมีชนิดใดบ้างเจือปนในอาหารถุงสำเร็จรูปที่มอบให้ ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อดื้อยาเตือนพิษอันตราย จากการให้หมูกินและฉีดโคลิสติน ทำให้เกิดยีนดื้อยาเอ็มซีอาร์-วัน และสารตกค้างในฮอร์โมนเนื้อหมู อาจทำให้เกิดพิษกับผู้บริโภค มีอาการไตวายได้ ด้านสัตวแพทย์จุฬาฯ เสนอให้ยาปฏิชีวนะ โคลิสติน เป็นยาสั่งโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ไม่ให้วางขายทั่วไป เพราะเจ้าของฟาร์มหมูใช้ผิดวิธีมานาน ทำให้เกิดปัญหาการแพร่เชื้อดื้อยา
แฉนายทุนจ้างเลี้ยง-บังคับใช้ยา
ล่าสุดทีมข่าว คม ชัด ลึก ออกสำรวจฟาร์มหมูในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี ซึ่งบางส่วนเป็นฟาร์มขนาดเล็ก มีนายทุนมาจ้างให้เกษตรกรเลี้ยงหมู โดยลงทุนค่าก่อสร้างรวมถึงยาขวดและถุงอาหารให้เลี้ยงหมูตามที่กำหนด โดยนายวีระ (นามสมมุติ) เจ้าของฟาร์มรับจ้างเลี้ยงหมูในสุพรรณบุรีรายหนึ่งอนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปดูภายในฟาร์มพร้อมเปิดเผยข้อมูลว่า ฟาร์มมีหมูอยู่ประมาณ 400 ตัวแบ่งเป็น พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์และหมูขุน โดยรับเลี้ยงหมูจากนายทุนคนหนึ่งที่เคยรู้จักกัน และมีอาชีพเป็นสัตวแพทย์ด้วย โดยมีเงื่อนไขว่าการเลี้ยงหมูในแต่ละรอบจะมีประมาณ 400 ตัว ต้องเลี้ยงไม่ให้หมูตายเกิน 3 ตัว หากตายมากกว่านั้นจะโดนหักเงิน นักลงทุนผู้จ้างเลี้ยงจะเป็นผู้รับผิดชอบในการส่งยาขวดจำนวนหลายชนิดมาให้ฉีดหมูในฟาร์มเป็นระยะๆ ตั้งแต่ยังเป็นลูกหมูจนตัวใหญ่กลายเป็นหมูขุน รวมถึงอาหารจะส่งมาให้เป็นถุงสำเร็จรูป โดยไม่รู้มาสูตรอาหารในถุงนั้นมีอะไรเป็นส่วนผสมบ้าง สำหรับการแบ่งรายได้ใช้วิธีการนับจำนวนจากหมูขุนที่ขายได้ โดยจะได้ส่วนแบ่งกิโลกรัมละ 20
เขาก็มาแนะนำว่า ถ้าหมูป่วยมีอาการนอนซมจะฉีดยาเจนตา (GENTA) และเซฟโฟแทกซ์ (CEFOTAX) ผสมกัน ฉีดประมาณ 3 ครั้งคือ เช้า เย็น เช้า แต่ถ้าหมูยังป่วยอยู่แสดงว่าดื้อยา 2 ตัวนี้ ให้ฉีดโคลิสตินกับยาอะม็อกซิล พวกนี้จะช่วยแก้หมูป่วยที่เป็นโรคบิด ท้องเสีย ฯลฯ ส่วนใหญ่จะฉีดให้หมูเกือบทุกเดือน นายวีระกล่าว
ผู้สื่อข่าวพบว่ายาโคลิสตินที่เกษตรกรรับจ้างเลี้ยงหมูข้างต้นฉีดนั้น บรรจุในขวดที่มีชื่อยี่ห้อกำกับอยู่ที่ฉลากด้านหน้าขวดเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า เดลต้าซิน DELTACIN พร้อมด้วยข้อความว่า ยาใช้เฉพาะฟาร์ม ยาอันตราย ยาสำหรับสัตว์ ส่วนฉลากด้านหลังขวดระบุว่า ส่วนประกอบใน 1 ซีซี มีส่วนผสมของ ไดเมทธิดาโซล 120 มก. และ โคลิสติน ซัลเฟต 6 แสนไอยู สรรพคุณ ใช้รักษาโรคบิด บิดมูกเลือด พีไอเอ ท้องเสีย ลำไส้อักเสบที่เกิดจากเชื้ออี.โคไล. และมีแถบสีแดงตัวอักษรสีขาวระบุไว้ชัดเจนเป็นภาษาอังกฤษว่า FOR VETERINARY USE ONLY หรือสำหรับสัตวแพทย์ใช้เท่านั้น โดยไม่มีเลขทะเบียนยาแต่อย่างใด
แฉฟาร์มหมูใช้โคลิสตินกันอื้อ
ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ กล่าวถึงปัญหาการปล่อยให้ซื้อขายยาปฏิชีวนะ โคลิสติน โดยไม่ควบคุมว่า จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรุนแรง และไม่ใช่เชื้อดื้อยาธรรมดา แต่เป็นยีนดื้อยาที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังกลัวกันว่าจะทำให้มนุษย์ในอนาคตเสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะในฟาร์มหมูของไทยนั้นไม่ได้แค่พบเพียงยาโคลิสตินที่ถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังพบโคลิสตินที่เป็นยาเถื่อนหรือยาไม่มีทะเบียนยารวมอยู่ด้วย จากการตรวจสอบรายละเอียดขวดยาใช้แล้วจำนวน 96 ขวดที่ได้จากฟาร์มหมูขนาด 300 กว่าตัวแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ตามที่ คม ชัด ลึก รายงานข่าวไปแล้วนั้น ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวสรุปถึงปัญหาที่น่าเป็นห่วง 3 ประการ คือ
จุดที่น่าเป็นห่วงมาก คือ จำนวนยา 96 ขวดที่ใช้แล้วนั้น 1.พบว่าใช้ยาต้านแบคทีเรียหลากหลายชนิด มีถึง 9 ชนิด ที่ไม่ซ้ำกัน และเป็นยาชนิดที่ค่อนข้างแรง 2.เอายาสำหรับคนมาใช้ในสัตว์ เช่น ยาเซฟไตรอะโซน 7 ขวด เป็นยาคนสำหรับฉีดฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่ใช้กับผู้ป่วยที่มารักษาในโรงพยาบาลเท่านั้น แสดงว่าลักลอบใช้ยาคนในสัตว์ ยาคนไม่ควรมาใช้ในสัตว์ 3.ใช้ยาโคลิสตินที่ไม่มีทะเบียนยา หรือยาเถื่อน ทั้งที่ยาตัวนี้แพทย์ทั่วโลกหวาดกลัวว่าหากใช้ผิดวิธี จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายอย่างรุนแรง การพบยาโคลิสเตือนเถื่อนในฟาร์มหมูหลายแห่งในประเทศไทย แสดงให้รู้ว่ามีการลักลอบใช้ยาเถื่อนและมีปัญหาการควบคุมการกระจายยาโคลิสติน
เผยเชื้อดื้อยาลามถึงคน
ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา กล่าวต่อว่า ยาโคลิสตินไม่นิยมใช้ในคนเพราะมีพิษ ส่วนในร่างกายสัตว์นั้น ยาโคลิสตินไม่ค่อยมีพิษ ทำให้ในอดีตแนะนำให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ทางเกษตร และใช้แพร่หลายในการปศุสัตว์ โดยใช้ในรูปยาสูตรผสมร่วมกับยาปฏิชีวนะอื่น เช่นการใช้ร่วมกับอะม็อกซีซิลลิน(Amoxycillin) ที่เป็นยารักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ แต่พอประเทศจีนเปิดเผยผลวิจัยล่าสุดเมื่อปี 2558 พบการดื้อยาโคลิสตินในฟาร์มหมูของจีน ที่เป็นชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ (horizontal gene transfer) มีการวิเคราะห์หาองค์ประกอบของสายพันธุกรรมนี้ ที่เรียกว่า ยีนเอ็มซีอาร์ วัน (MCR-1 gene)
ช่วงนั้นถือเป็นการพบครั้งสำคัญของโลก ทำให้รู้ว่ามีการส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาคนและจากคนไปสัตว์ได้เนื่องจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 สื่อมวลชนของสหรัฐอเมริการายงานข้อมูลการพบ คนไข้ ติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ เอ็มซีอาร์-วัน ซึ่งไม่เคยมีรายงานมาก่อนในวงการแพทย์ของอเมริกา โดยยีนตัวนี้เป็นเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรงที่แม้แต่ยาต้านทานปฏิชีวนะ โคลิสติน ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุดยังใช้ไม่ได้ผล ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกส่งเสียงเตือนถึงอันตรายของการใช้ยาโคลิสตินอย่างผิดวิธี เพราะจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาโคลิสตินตามตัวอย่างที่พบจากคนไข้รายแรกของอเมริกา ผศ.ภญ.นิยดา กล่าว
ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเชื้อดื้อยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่างว่ากรณีที่เกิดขึ้นในอเมริกา สร้างความตกใจให้แพทย์ที่นั่นมากพอสมควร เนื่องจากคนไข้หญิงรายที่ตรวจพบ ยีนดื้อยา เอ็มซีอาร์-วัน กลายเป็นยีนตัวที่ดื้อยาโคลิสตินด้วย ปกติเชื้ออีโคไล หากแพทย์ใช้ยาโคลิสตินจะได้ผลในการรักษาทันที แต่กรณีผู้ป่วยรายนี้กลับพบว่าเป็นเชื้อแบคทีเรียอีโคไลที่ดื้อยาโคลิสติน ซึ่งวงการแพทย์ในอเมริกาไม่เคยเจอมาก่อน
ชี้ถ่ายทอดยีนดื้อยาในร่างกายมนุษย์
ส่วนปัญหาที่พบว่าฟาร์มหมูในประเทศไทยใช้ยาโคลิสตินนำไปเป็นส่วนผสมของอาหารหรือใช้เป็นยา โดยไม่ได้ปรึกษาสัตวแพทย์นั้น นพ.พิสนธิ์ กล่าวว่ามีอันตรายที่อาจเกิดขึ้น 2 ประการคือ ประการแรก สารที่ตกค้างในฮอร์โมนนั้น โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะหากผสมในอาหารกินหรือฉีดเข้าร่างกายสัตว์แล้ว ต้องมีเวลาพักให้ร่างกายกำจัดออกไปอย่างน้อย 2-3 วันจึงจะนำมาชำแหละเพื่อจำหน่ายให้ผู้บริโภค แต่ถ้าผู้ขายไม่เว้นระยะ สารตกค้างที่อยู่ในเนื้อสัตว์อาจมาสะสมเป็นพิษในตัวผู้บริโภค ถ้าสะสมในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการไตวายได้ ประการที่สอง โคลิสตินเป็นยาปฏิชีวนะที่มักใช้กรณีที่เกิดเชื้อดื้อยา และไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะตัวอื่นได้ผล โดยปกติแล้วยาโคลิสตินสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียทั้งหมดในร่างกาย เช่น ที่ปาก ลำไส้ ผิวหนัง แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีแบคทีเรียจะพัฒนาตัวเองให้ดื้อยาโคลิสติน และจะถ่ายทอดยีนดื้อยาไปให้แบคทีเรียตัวอื่นในร่างกายมนุษย์ด้วย
โคลิสตินเป็นเสมือนทางเลือกสุดท้าย เมื่อยาปฏิชีวนะกลุ่มรักษาไม่ได้ผล หมอจะใช้ตัวนี้ โดยเฉพาะเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาลที่มักเกาะติดอยู่ตามเครื่องมือแพทย์ เช่น เชื้อดื้อยา อซีเนโตแบคเตอร์ บอมมานิไอ (Acinetobacter baumannii) หรือบางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า เชื้อแบคทีเรีย เอบอม (A-bomb) พบบ่อยในท่อช่วยหายใจ สายสวน ฯลฯ ถ้าวันใดก็ตามที่ใช้ยาโคลิสตินไม่ได้ผล จะเกิดผลกระทบร้ายแรง ทุกคนจึงช่วยกันเฝ้าระวัง เชื้อดื้อยาแพร่หลายเป็นอันตรายมากกว่าที่เราคิด ไม่ควรให้ฟาร์มสัตว์ใช้ยาโคลิสตินโดยไม่ควบคุม และที่สำคัญคือต้องมีการควบคุมการซื้อขายยาปฏิชีวนะ ไม่ควรปล่อยให้คนไทยซื้อกินเอง เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ การกินแบบผิดวิธีและกินโดยไม่จำเป็น ผศ.นพ.พิสนธิ์กล่าว
จี้ให้ใช้แต่ต้องสัตวแพทย์สั่งเท่านั้น
ขณะที่ ผศ.นสพ.ดร.อธิภู นันทประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญการดูแลและจัดการสุขภาพในสุกร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเตือนถึงวิธีการใช้ยาโคลิสตินในฟาร์มสุกรว่า ควรให้โคลิสตินเป็นยาปฏิชีวนะที่สั่งโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ไม่ควรให้มีวางขายทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมามีเจ้าของฟาร์มหมูซื้อไปใช้โดยผิดวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ยาโคลิสตินที่ถูกวิธีคือ การละลายในน้ำป้อนให้สุกรกิน ไม่ควรใช้วิธีฉีดเข้าร่างกายหรือผสมในอาหาร
เพราะยาโคลิสตินใช้เพื่อรักษาอาการโรคท้องร่วง การป้อนผสมน้ำจะทำให้รักษาได้โดยตรงในระบบทางเดินอาหาร ที่สำคัญควรชำแหละหมูขายหลังใช้ยาแล้วอย่างน้อย 30 วันเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อเนื้อหมูไปบริโภค
ผศ.นสพ.ดร.อธิภู กล่าวว่า สำหรับปัญหาเชื้อดื้อยานั้น สัตวแพทย์ข้างต้นยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่หมูจะดื้อยาโคลิสตินและยาตัวอื่นๆ ที่ใช้กันมานานในฟาร์มหมู โดยการแพร่เชื้อดื้อยาจะผ่านทางแม่หมูสู่ลูกหมูโดยตรง หรืออาจติดมาจากสภาพแวดล้อมในฟาร์มหมูที่มีเชื้อโรคดื้อยาแพร่กระจายสะสมอยู่ตามที่ต่างๆ แต่ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อดื้อยาแพร่ข้ามจากหมูตัวหนึ่งสู่หมูอีกตัวในลักษณะของการระบาดวิทยา
ส่วนปัญหาที่กลัวว่า คนเลี้ยงหมูจะติดเชื้อดื้อยามาจากหมู ก็มีความเป็นไปได้ เพราะฟาร์มหมูบางแห่งมีเชื้อดื้อยาแพร่กระจายตามสิ่งแวดล้อมในฟาร์มหมูอยู่แล้ว อยากให้ควบคุมการใช้ยาโคลิสติน ให้ใช้เฉพาะเท่าที่จำเป็นจริงๆ และใช้ให้ถูกวิธี หรือหากจำเป็นต้องห้ามใช้โคลิสตินอย่างเด็ดขาด ก็มียาตัวอื่นสามารถใช้แทนกันได้ นสพ.อธิภู กล่าว
ปศุสัตว์คุมเข้มการใช้ยาในฟาร์ม
ขณะที่ นสพ.อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น ด้วยการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดสอดคล้องกับมาตรฐานโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เข้าสู่ระบบมาตรฐานฟาร์ม ซึ่งปัจจุบันมีฟาร์ม 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ที่ได้รับการรับรอง โดยกรมปศุสัตว์ได้ควบคุมและติดตามการใช้ยาสัตว์ในฟาร์มเหล่านี้อย่างเข้มงวด ทั้งเรื่องวิธีการใช้ คุณภาพของยาสัตว์ และตรวจสอบการตกค้างของยาทั้งก่อนและหลังการเชือดชำแหละ ดังนั้นผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์ที่มาจากฟาร์มมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างแน่นอน
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้เร่งปราบปรามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ลักลอบใช้ยาเถื่อน-ใช้เกินขนาด ตลอดจนผู้ประกอบการนำเข้า ผลิต หรือขายผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารสัตว์และยารักษาสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ที่เป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐานหรือสินค้าเลียนแบบที่ส่งผลเสียด้านสุขภาพต่อสัตว์โดยตรง ซึ่งผิดกฎหมายตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ฐานขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 72(4) ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จับมือสธ.วางแผนจัดการเชื้อดื้อยา
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวต่อว่า กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินแนวทางการควบคุมยาสัตว์ในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.25602564 เพื่อป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคปศุสัตว์อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม จากการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วนและดำเนินการอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการมุ่งเน้นสร้างระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์ม ส่งผลให้การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
นสพ.อภัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมือในการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต โดยเฉพาะการผลักดันจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย มาตรฐานปศุสัตว OK ที่ดำเนินการแล้วถึงกว่า 2,700 ร้าน
ชงโคลิสตินยาควบคุมพิเศษ
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ควรคุมการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่จะนำมาใช้ผสมอาหารให้หมูกิน แต่หากสัตว์มีอาการติดเชื้อแบคทีเรียก็ยังจำเป็นต้องให้ยาโคลิสตินตามความจำเป็นภายใต้การแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งยาตัวนี้ไม่ได้ตกค้างในเนื้อหมูในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่กังวลว่าจะทำให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา
ขณะที่ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวว่า ขณะนี้มียุทธศาสตร์การจัดการเชื้อดื้อยาที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องการควบคุมและป้องกันการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ โดยเบื้องต้นอย.และกรมปศุสัตว์ เห็นพ้องตรงกันที่จะยกระดับยาโคลิสตินที่ใช้ในสัตว์เป็นยาควบคุมพิเศษต้องใช้ภายใต้การควบคุมดูแลของสัตวแพทย์จากที่ปัจจุบันเป็นเพียงยาอันตรายที่สามารถหาซื้อได้ในร้านขายยาภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร นอกจากนี้ การใช้ยาโคลิสตินในคน อย.เตรียมปรับการใช้ด้วยการยกเลิกยาโคลิสตินแบบกินให้เหลือใช้เฉพาะแบบฉีดเท่านั้น เพื่อป้องกันการใช้อย่างพร่ำเพรื่อและนำไปสู่การเกิดเชื้อดื้อยา โดยจะเสนอให้คณะกรรมการยาพิจารณาในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้
นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมปศุสัตว์ และอย. ทำงานร่วมกัน โดยการดูตัวอย่างการใช้ยาปฏิชีวนะในคนและสัตว์ โดยจะนำตัวอย่างฟาร์มปศุสัตว์ที่มีการใช้ยาอย่างถูกต้องมาเผยแพร่ ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อมูลพบว่าหากมีการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานจะกระตุ้นโอกาสในการแพ้ยาและทำให้เชื้อเกิดการดื้อยาได้
ชี้โคลิสติน ใช้กรณีที่ลูกหมูท้องเสียรุนแรง
นสพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย เปิดเผยว่าปัจจุบันในฟาร์มสุกรขนาดใหญ่ที่ได้มาตรฐานของกรมปศุสัตว์ จะเน้นใช้วิธี ป้องกัน และวางระบบการบริหารจัดการฟาร์ม ในระดับไบโอซีเคียวริตี้ ตลอดจนการให้วัคซีนแก่ลูกสุกรตามระยะเวลาที่สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มเป็นผู้กำหนด ขณะที่การใช้ยาจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุในกรณีที่ลูกหมูป่วยแล้วเท่านั้น สำหรับยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวเลือกสุดท้ายนั้น สัตวแพทย์จะเลือกใช้เฉพาะในกรณีที่ลูกหมูมีอาการท้องเสียรุนแรง ซึ่งจะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้มีการตกค้างหรือส่งผลกระทบใดๆต่อการบริโภค
ดังนั้น การเลือกบริโภคเนื้อหมูอย่างปลอดภัย จึงควรพิจารณาว่าเป็นสุกรจากฟาร์มระบบปิดของบริษัทที่ดำเนินการด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) และมีมาตรฐานฟาร์มในระดับสูง มีการกำกับดูแลตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่ฟาร์ม โรงชำแหละ และจุดจำหน่าย โดยทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เท่านี้ก็สามารถมั่นใจได้ในความปลอดภัยนสพ.ปราโมทย์ กล่าว
|