เมื่อวันที่ 15 16 พฤศจิกายน 2561 ที่โรงแรมแมนดาริน ถนนพระรามที่4 กรุงเทพฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) และ สสส. จัดกิจกรรมสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2561
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ระหว่างวันที่ 12 18 พฤศจิกายน เป็นสัปดาห์รู้รักษ์ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้การสนับสนุน กพย. ทำงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการรณรงค์สร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยเน้นความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลทั้งในคนและในการเกษตร เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี ได้สร้างปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต โดยในปีนี้เน้นรณรงค์สร้างความเข้าใจในโรคหวัดเจ็บคอ เนื่องจากพบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นหวัดเจ็บคอ ต้องกินยาต้านแบคทีเรียถึงจะหาย
สังคมไทยยังมีความเชื่อผิดๆว่าเมื่อมีอาการหวัด เจ็บคอ จะต้องกินยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งนิยมเรียกกันอย่างไม่ถูกต้องว่ายาแก้อักเสบ ในทางวิชาการมีผลการวิจัยชัดเจนว่า ไข้หวัดมากกว่า 80% เกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาต้านแบคทีเรียนอกจากไม่ช่วยให้หายเร็วขึ้นแล้ว ยังจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาในร่างกาย หากวันหนึ่งข้างหน้าเกิดป่วยหนัก จากติดเชื้อในอวัยวะที่สำคัญ จะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล ส่งผลให้อาจเสียชีวิตได้ อย่างที่เรามักได้ยินข่าวผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่บ่อยๆ ผู้จัดการ กพย. กล่าว
ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาได้กลายเป็นวิกฤติระดับโลกแล้ว องค์การอนามัยโลกจึงต้องจัดให้มีสัปดาห์รณรงค์ทั่วโลก รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงปีละ 46,000 ล้านบาท จึงได้อนุมัติแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 เพื่อระดมกำลังจากทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกันเพื่อลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อ โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50%
การใช้ยาต้านแบคทีเรียทุกครั้ง เป็นต้นเหตุสร้างความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา พฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น จึงยิ่งซ้ำเติมวิกฤติเชื้อดื้อยาให้รุนแรงมากขึ้น ในยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา จึงกำหนดให้มียุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งมี สสส. และ กพย.เป็นองค์กรร่วมขับเคลื่อนภารกิจนี้ โดยที่ผ่านมา สสส. กพย. กระทรวงสาธารณสุข และหลายหน่วยงาน ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียใน 3 อาการ คือ ไข้หวัด ท้องเสีย และแผลสด แต่จากการสำรวจล่าสุด พบว่าคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง และยังคงมีพฤติกรรมใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นอยู่มาก ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารแผน คณะ2 และนางรัศมี วิศทเวทย์ กรรมการบริหารแผนคณะ2 ร่วมเป็นประธานการเสวนา ทบทวน/ติดตามความก้าวหน้า ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชนภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 ด้วย
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เสริมว่า สำหรับในปีนี้ กพย.และ สสส. เน้นการสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ผ่านวลีที่ว่า เป็นหวัดเจ็บคอไม่ง้อยา โดยมีการรณรงค์ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ รวมถึงได้จัดให้มีการประกวดเต้นประกอบเพลง อย่าพึ่ง ซึ่งได้นักแต่งเพลงมืออาชีพที่เคยแต่งเพลงให้ศิลปินอย่างเช่นเดอะสตาร์ มาแต่งเพลงให้ โดยผู้ที่สนใจสื่อความรู้และรายละเอียดการประกวด สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ http://atb-aware.thaidrugwatch.org หรือที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/thai.antibiotic.awareness
|