ประธานชมรมเภสัชชนบท เรียกร้องฝ่ายการเมืองแสดงความจริงใจกับบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยการปลดล็อกคำขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เปิดช่องให้ อภ.ผลิตใช้ในประเทศ
ภก.สุภนัย ประเสริฐสุข ประธานชมรมเภสัชชนบท เปิดเผยกับ The Coverage ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ปริมาณยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการรักษาโควิด-19 ในพื้นที่กำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยยาที่รัฐบาลสั่งเพิ่มมาอีก 2 ล้านเม็ดนั้น คาดว่าจะพอใช้แค่ 2-3 เดือนเท่านั้น แต่ถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอีก ก็อาจจะหมดเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
ภก.สุภนัย กล่าวว่า ข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่าหากผู้ติดเชื้อโควิดได้รับยาฟาวิพิราเวียร์เร็ว ก็จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ในประเทศไทยกลับเป็นว่าต้องรอให้เชื้อลงปอดก่อนถึงจะได้รับยา ฉะนั้นหากประเทศไทยผลิตยาขึ้นมาใช้ในประเทศเองได้ ก็จะครอบคลุมผู้ป่วยได้มากและเร็วขึ้น
สำหรับราคายาในปัจจุบัน พบว่ามีราคาสูงขึ้นจากเม็ดละ 120 บาท เป็น 150 บาท โดยผู้ป่วย 1 ราย จะต้องใช้ยา 90-110 เม็ด จากเดิมที่ใช้ 70 เม็ด ค่าใช้จ่ายจึงอยู่ที่รายละราวๆ 1.3-1.6 หมื่นบาท แต่ถ้าประเทศไทยผลิตยาเอง จะทำให้ราคาถูกลงกว่าครึ่งหนึ่ง หรืออยู่ที่ราวๆ รายละ 5,000-6,000 บาทเท่านั้น
องค์การเภสัชกรรมไทยมีศักยภาพผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ แต่ปัจจุบันติดข้อจำกัดคือมีบริษัทญี่ปุ่นได้ยื่นขอสิทธิบัตรยาเอาไว้ ซึ่งจะทำให้เกิดการผูกขาดสิทธิบัตรยา ส่งผลให้ไทยไม่สามารถผลิตยาเองได้ทั้งๆ ที่มีศักยภาพพอ จึงอยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทบทวนเรื่องนี้ ภก.สุภนัย กล่าว
ภก.สุภนัย กล่าวอีกว่า จุดยืนของชมรมเภสัชชนบทคือสนับสนุนให้รัฐบาลประกาศใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) เพื่อผลิตยามาใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็น แต่กรณีของการประกาศ CL ยานั้นจำเป็นต้องพิจารณาในหลายเงื่อนไข ฉะนั้นทางที่รวดเร็ว ง่าย และสะดวกกว่า คือการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรยาของบริษัทญี่ปุ่น
ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการเรื่องสิทธิบัตรได้ เราก็ยังไม่สามารถผลิตได้ เพราะถึงเราจะผลิตได้ ก็จะติดเรื่องของสิทธิบัตร และราคาเองก็ไม่ได้ถูกลงอยู่ดี ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าว
ประธานชมรมเภสัชชนบท กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ประเทศอินเดียซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาขนาดใหญ่ของโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด-19 อย่างรุนแรง นั่นอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่จะทำให้ประเทศไทยสั่งซื้อยาและได้รับยาช้า หรือยามีราคาแพงขึ้น ดังนั้นแนวทางการแก้ไขคือประเทศไทยต้องผลิตยาเอง โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ต้องปลดล็อกเรื่องสิทธิบัตรยา
ถ้าปลดล็อกตรงนี้ได้ผล ผมเชื่อว่าเราจะสามารถมียาใช้ได้อย่างสบายใจ ภก.สุภนัย กล่าว
ภก.สุภนัย กล่าวด้วยว่า ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายนโยบายและฝ่ายการเมือง หากมองว่าเรื่องนี้มีความจำเป็น ถือเป็นการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ในสนามที่อยู่หน้างานด้วย ก็ต้องตัดสินใจ
การตัดสินใจจะสะท้อนถึงความจริงใจกับบุคลากรทางการแพทย์ว่าคุณจริงใจกับเขามากน้อยขนาดไหน เพราะถ้าปลดล็อกคำขอสิทธิบัตรยาก็จะช่วยให้บุคลากรหน้างานมีอาวุธเพิ่ม มีขีดความสามารถเพิ่ม สามารถดูแลประชาชนและกลุ่มเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น ภก.สุภนัย กล่าว
|