search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6518698
การเปิดหน้าเว็บ:9361944
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สรุปข้อเท็จจริง Glucosamine
  19 มกราคม 2554 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 


"ผลการวิจัยสรุปว่ากลูโคซามีนไม่มีผลในการบรรเทาอาการปวดข้อ
และไม่ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อแต่อย่างใด"

Glucosamine บทสรุปสำหรับผู้บริหาร

glucosamine


1. กลูโคซามีนเป็นสารธรรมชาติที่พบในร่างกายมนุษย์ มีน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก ร่างกายใช้เป็นสารตั้งต้นในการสร้างเนื้อเยื่อของกระดูกอ่อนและน้ำไขข้อ ผลิตได้ ทั้งจากเปลือกของสัตว์ทะเล และด้วยวิธีการผลิตอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเล ร่างกายสา มารถสร้างกลูโคซามีนขึ้นได้เองจากกลูโคส

2. กลูโคซามีนแบ่งเป็น 2 ชนิดคือกลูโคซามีนซัลเฟต (GS) และ กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์ (GH) ในประเทศไทยใช้ GS เป็นหลัก

3.  กลูโคซามีนจัดเป็นอาหารเสริมในบางประเทศ ส่วนในประเทศไทยจัดเป็นยาและมีบางประเทศจัดไว้ทั้งสองสถานะ เช่นสหราชอาณาจักรมี GH ขึ้นทะเบียนเป็นยา ในขณะที่ GS จัดเป็นอาหารเสริม

4. กลูโคซามีนเป็นที่นิยมใช้มากในประเทศไทย ทั้งการซื้อใช้เองโดยประชาชนและการจ่ายเป็นยาให้กับผู้ป่วย โดยมีมูลค่าการใช้ประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่ายาราคาสูงที่มีการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง คิดเป็นค่ายากลูโคซามีนที่ข้าราชการเบิกไม่น้อยกว่า 459 ล้านบาท/ปี โดยอัตราการใช้กลูโคซามีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างรวดเร็ว ทั้งที่จัดเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ

5. การใช้กลูโคซามีนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องนาน 1 ปี มีค่าใช้จ่ายระหว่าง 2,700-13,000 บาท ขึ้นกับผลิตภัณฑ์ซึ่งในประเทศไทยผลิตภัณฑ์จากบริษัท Rottapharm (Viartril-S) ซึ่งเป็นยาต้นแบบได้รับความนิยมสูงสุด

6. มีการกล่าวอ้างสรรพคุณของกลูโคซามีนไว้มากมายหลายประการ ในการรับรู้ของประชาชนทั่วไปคือช่วยบรรเทาอาการปวดของโรคข้อเสื่อมทำให้เคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ข้อลื่นขึ้น เสียงดังในข้อหายไป ช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่า และช่วยลดอัตราการเปลี่ยนข้อเข่า

7. ผลการศึกษาของ NIH Glucosamine/chondroitin Arthritis Intervention Trial (GAIT) ซึ่งสนับสนุนการวิจัยโดย NIH (National Institute of Health) แห่งสหรัฐอเมริกาเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับกลูโคซามีน ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (จำนวนผู้ป่วย 1,583 คน) รายงานผลครั้งแรกในปีค.ศ. 2006 สรุปผลการวิจัยไว้ว่ากลูโคซามีนไม่มีผลในการบรรเทาอาการปวดข้อ ความแข็งตึง และการเคลื่อนไหวของข้อไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและไม่ลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งเมื่อติดตามผลในระยะยาวไม่พบว่าช่วยชะลอการเสื่อมของข้อแต่อย่างใด งานวิจัยนี้ใช้ GH ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในการวิจัย

8. จากงานวิจัยข้างต้น พบว่าแพทย์ผู้รักษามีความพอใจในผลการรักษาต่ำและไม่สามารถบอกความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ให้กลูโคซามีนกับยาหลอก

9. Towheed และคณะ (2009) ได้ทำการทบทวนประสิทธิผลของ GS โดย วิเคราะห์ผลลัพธ์ ของงานวิจัยจำนวน 25 เรื่อง ซึ่งมีผู้ป่วยในงานวิจัยทั้งสิ้น 4,963 คน เมื่อคัดเลือกมาวิเคราะห์เฉพาะงานวิจัยที่มีคุณภาพดีพบว่า GS ช่วยบรรเทาปวดให้กับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมได้ไม่แตกต่างจากการให้ยาหลอก แสดงให้เห็นว่า GS ไม่มีประสิทธิผลจริง

10. ไม่มีคำแนะนำทางการแพทย์ใดในทวีปยุโรป สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาในช่วง 5 ปีหลังที่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนในโรคข้อเสื่อม

11. มีหลักฐานจำนวนมากที่แสดงว่ากลูโคซามีนไม่มีความคุ้มค่าทั้งโดยมาตรฐานของประเทศในยุโรป เช่นสหราชอาณาจักร สก๊อตแลนด์ สวีเดน และสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ประเทศต่างๆที่กล่าวมาจึงได้ประกาศงดเว้นการเบิก (reimbursement) กลูโคซามีนภายใต้ระบบสาธารณสุขภาครัฐรวมทั้งระบบสวัสดิการ เช่นข้าราชการทหารของกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาไม่สามารถเบิกกลูโคซามีนได้จากระบบสวัสดิการ

12. กลูโคซามีนไม่มีความคุ้มค่าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าของประเทศไทย โดยมีค่าใช้จ่ายต่อปีสุขภาวะระหว่าง 7 - 26 เท่า (ขึ้นกับงานวิจัย) ของค่าใช้จ่ายต่อปีสุขภาวะ ที่ยอมรับได้ของไทย

13. งานวิจัยล่าสุดในปี 2010 โดย Wandel และคณะ ระบุว่ากลูโคซามีน และคอนดรอยตินซัลเฟต ไม่มีประสิทธิผลในการบรรเทาปวด และไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภาพรังสีของข้อจึงแนะนำว่าผู้ให้บริการสาธารณสุข (ภาครัฐ) และผู้รับประกันค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (ภาคเอกชน) ไม่ควรให้เบิกจ่ายค่ายาในกลุ่มนี้ และแพทย์ไม่ควรสั่งยาเหล่านี้ให้กับผู้ป่วยรายใหม่ที่ไม่เคย ใช้ยาเหล่านี้มาก่อน

14. คอนดรอยตินซัลเฟตและไดอะเซอเรนเป็นยาที่มีเป้าประสงค์การใช้ไม่แตกต่างจากกลูโคซามีน

15. หลักฐานด้านประสิทธิผลของคอนดรอยตินมีความแน่ชัดหรือทำให้เชื่อมั่นได้น้อยกว่ากลูโคซามีน ดังนั้น National Institute for Health and Clinical Excellence (NICE) แห่งสหราชอาณาจักรจึงไม่แนะนำให้ใช้คอนดรอยตินในการรักษาโรคข้อเสื่อมในระบบบริการสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร

16. แนวปฏิบัติบริการสาธารณสุขโรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ. 2553 (ร่างฉบับประชาพิจารณ์) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า “ไม่แน่ใจว่า คอนดรอยติน และไดอะเซอเรน (รวมทั้งกลูโคซามีน) มีความเหมาะสมกับสถานการณ์และสถานภาพของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในประเทศไทย และไม่แน่ใจว่ามีความคุ้มค่าในบริบทของสังคมไทย”

17.  ไดอะเซอเรน ให้ผลการบรรเทาปวดใกล้เคียงกับกลูโคซามีน และมีราคายาต่อวันใกล้เคียงกัน  ดังนั้นไดอะเซอเรนย่อมมีความไม่คุ้มค่าในลักษณะเดียวกันกับกลูโคซามีน

18. งานวิจัยของ Arrich และคณะ (2005) ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าไฮยาลูโรแนนชนิดฉีดเข้าข้อ (IAHA) เป็นยาที่ไม่มีประสิทธิผลจริงทางคลินิก และอาจเพิ่มความเสี่ยงจากการใช้ยาให้กับ ผู้ป่วย ดังนั้นจึงไม่ควรให้การรักษานี้กับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (ยกเว้นใช้กับผู้ป่วยในงานวิจัย)

19. NICE guideline (2008) ระบุว่า IAHA ต้องมีประสิทธิผลสูงกว่าที่ปรากฏในงานวิจัยในปัจจุบัน 3 - 5 เท่า จึงจะเริ่มเห็นความคุ้มค่าของการใช้ยาตามมาตรฐานด้านความคุ้มค่าของสหราชอาณาจักร ซึ่งยายังต้องมีราคาถูกลงอีกอย่างน้อย 10 เท่า จึงจะเริ่มเห็นความคุ้มค่าตามมาตรฐานความคุ้มค่าของระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

20. ด้วยหลักฐานและเหตุผลต่างๆ ข้างต้น คณะทำงานวิชาการทางการแพทย์ฯ จึงมีความเห็นว่า รัฐไม่ควรให้มีการเบิกจ่ายยาในกลุ่ม SYSADOA ได้แก่กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน ทุกรูปแบบ รวมทั้งไฮยาลูโรแนนชนิดฉีดเข้าข้อ


download pdf fileดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม


อ้างอิงจาก

Glucosamine Report