search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6518032
การเปิดหน้าเว็บ:9361260
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  โครงการประกวดสื่อฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ
  01 พฤศจิกายน 2553 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 


โครงการประกวดสื่อสาธารณะฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ
โดยความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

หลักการและเหตุผล
ปัจจุบัน มีแบคทีเรียหลายชนิดที่ดื้อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และในบางกรณีมีแบคทีเรียบางตัวดื้อต่อยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิดพร้อมๆกัน ก่อให้เกิดปัญหาการใช้ยาที่เหมาะสมเพื่อการรักษา การต้องใช้ยาแพงขึ้น การต้องอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาลมากขึ้น และขณะที่มีความต้องการยาปฏิชีวนะชนิดใหม่เพื่อต่อสู้กับเชื้อที่ดื้อยาเก่า แนวโน้มการคิดค้นยาใหม่กลับลดลง เพราะประสิทธิภาพของยาในการรักษาโรคติดเชื้อลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเชื้อดื้อยาจึงไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวต้องสูญเสียเงินปีละ 4-5 พันล้านดอลลาร์อันเนื่องจากปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ในขณะยุโรปต้องสูญเสียปีละ 9 พันล้านยูโร สำหรับประเทศไทย ในปี 2550 พบว่า ยาปฏิชีวนะและยาฆ่าเชื้อมีมูลค่าการผลิตและนำเข้าสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ คือมีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท (ร้อยละ 20 ของมูลค่ายาทั้งหมด) และสูงเป็นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2543

สาเหตุสำคัญของเชื้อดื้อยาเกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง (misuse) หรือใช้เกินจำเป็นซึ่งเกิดขึ้นทั้งในสถานพยาบาล ชุมชน ข้อมูลของประเทศไทยชี้ว่า ประชาชนมีการใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่จำเป็น เช่น โรคหวัด ประมาณร้อยละ 40-60 ในภูมิภาค และประมาณร้อยละ 70-80 ในกรุงเทพมหานคร

ด้วยเหตุนี้ในปี 2550 องค์การอนามัยโลก (120th Session of the Executive Board) จึงย้ำความสำคัญของปัญหา และเร่งให้แต่ละประเทศส่งเสริมการใช้ยาอย่างเหมาะสม

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ไม่อาจจำกัดอยู่เฉพาะในสถานพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ทำงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วย ยังจำเป็นต้องส่งสัญญาณเตือนแก่สังคม พร้อมกับให้ประชาชนทั่วไปร่วมกันรณรงค์ใช้ยาอย่างสมเหตุผล

แผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ภายใต้การสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมมือกับคณะนิเทศศาสตร์และคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกันจัดทำโครงการจัดประกวดสื่อสาธารณะเพื่อรณรงค์เรื่องฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ประชาชนรับรู้และมีความเข้าใจถึงประเด็นการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผล โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะที่พร่ำเพรื่ออย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่มาของโครงการจัดประกวดสื่อสาธารณะเพื่อรณรงค์ฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะ

โครงการนี้มุ่งเน้นให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ได้เข้ามาร่วมแข่งขันสร้างสื่อในหลายรูปแบบ ได้แก่ การออกแบบโปสเตอร์และแผ่นพับ การสร้างสรรค์ภาพยนตร์สั้น และการกล่าวสุนทรพจน์ ภายโต้กรอบแนวคิดหลัก “อย่าใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่จำเป็น” เพื่อให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาเหล่านี้ได้เรียนรู้และเข้าใจการใช้ยาอย่างสมเหตุผล อันจะขยายผลความเข้าใจดังกล่าวสู่ครอบครัวและชุมชน และทำการสร้างสื่อเพื่อการเผยแพร่ต่อสาธารณะเกิดการรณรงค์ทั่วทั้งประเทศ

วัตถุประสงค์
1.   เพื่อสนับสนุน ให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาผู้เข้าร่วมโครงการ เกิดจินตนาการ และความสร้างสรรค์งานศิลปะผ่านการเรียนรู้ในเรื่องยาปฏิชีวนะและปัญหาเชื้อดื้อยาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม

2. เพื่อเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องในกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา สถาบันการศึกษาและผู้ปกครองนักเรียนที่มีส่วนร่วมในการประกวด

3. ได้ผลงานศิลปะในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับประชาชนในวงกว้างต่อไป

เป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมายหลัก     นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น
นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย, ปวช.หรือเทียบเท่า
นักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย,ปวส. หรือเทียบเท่า
กลุ่มเป้าหมายรอง      ผู้ปกครอง สถาบันการศึกษา สื่อสาธารณะทั้งภาครัฐ, เอกชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น 

รายละเอียดดำเนินการ

หัวข้อการประกวด “อย่าใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่จำเป็น”

เนื้อหาการประกวด
• เนื้อหาบังคับ                    สื่อที่ส่งเข้าประกวดต้องมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นหลัก คือ “ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตรายอย่าใช้อย่างพร่ำเพรื่อ อันตรายที่สำคัญมากที่สุด คือ เชื้อดื้อยา”
• เนื้อหาประกอบ              สื่อที่ส่งเข้าประกวดจะมีเนื้อหาอื่นๆ ประกอบด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่เนื้อหาที่เพิ่มขึ้นนั้นต้องไม่ขัดแย้ง ลดความสำคัญ หรือส่งผลกระทบในเชิงลบกับประเด็นหลักโดยเด็ดขาด ตัวอย่างของเนื้อหาประกอบ เช่น ความหมายของยาปฏิชีวนะ ความแตกต่างของยาปฏิชีวนะกับยาแก้อักเสบ โรคที่หายได้โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเนื้อหาอื่นๆ ตามที่ผู้ประกวดเห็นว่าเหมาะ

ข้อมูลเบื้องต้น
ยาปฏิชีวนะ คือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น (เช่น ทอนซิลอักเสบ ปอดบวม แผลเป็นหนอง) ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ยานี้ถูกนำมาใช้จนพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 โรคที่พบบ่อยที่สามารถหายเองได้ด้วยภูมิต้านทานของร่างกายเรา เช่น โรคหวัดเจ็บคอ (ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส) โรคท้องเสีย (มักเกิดจากไวรัส หรืออาหารเป็นพิษ) และบาดแผลสะอาด  ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่รู้จักกันดี เช่น เช่น เพนนิซิลิน อะม็อกซีซิลิน   เตตร้าซัยคลิน ซัลฟา

โรคหวัดเจ็บคอ เกิดจากเชื้อไวรัส ยาปฏิชีวนะใช้ไม่ได้ผลเพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาการหวัดที่พบบ่อย คือ น้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ เสียงแหบ ตาแดง บางครั้งอาจมีอาการคันคอ ระคายคอ เจ็บคอ หรืออาจมีไข้ร่วมด้วย (แต่ถ้าเจ็บคอมากไม่ไอ ไข้สูง มีจุดขาวหนองที่ต่อมทอนซิล ต่อมน้ำเหลืองใต้ขากรรไกรโตและกดเจ็บอาจเป็นต่อมทอนซิลอักเสบ อาจเป็นอาการแสดงของติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีเหล่านี้ต้องไปพบแพทย์)

โรคท้องเสียเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ (กว่าร้อยละ 95) เกิดจากเชื้อไวรัส และอาหารเป็นพิษ (ซึ่งมักมีอาการอาเจียนร่วมด้วย) ส่วนท้องเสียที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียพบน้อยมาก (ประมาณร้อยละ 5) การกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งที่ท้องเสียจึงไม่ถูกต้อง (แต่ถ้าถ่ายมีมูกเลือดปนและมีไข้ อาจเป็นอาการแสดงของติดเชื้อแบคทีเรีย กรณีนี้ต้องไปพบแพทย์)

บาดแผลสะอาด เช่น แผลมีดบาด แผลถลอก บาดแผลเล็กน้อยจากอุบัติเหตุ ซึ่งการล้างทำความสะอาดได้ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะการล้างทำความสะอาดก็เป็นการเพียงพอที่จะป้องกันแผลจากการติดเชื้อได้แล้ว  นอกจากนี้การกินยาปฏิชีวนะไม่ได้มีส่วนทำให้แผลหายเร็วขึ้น   (แต่ถ้าเป็นแผลที่เท้า ตะปูตำ สัตว์กัด หรือโดนสิ่งสกปรก เช่น มูลสัตว์ หรือเป็นเบาหวาน ต้องไปพบแพทย์)
การใช้ยาปฏิชีวนะใน 3โรคข้างต้นจึงไม่มีประโยชน์เลย แต่กลับทำให้เกิดอันตราย เพราะเพิ่มความเสี่ยงในการแพ้ยา อาการข้างเคียง และการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ดังนั้น กฎหมายจึงจัดให้ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย หากสังเกตที่ข้างกล่องยาจะเห็นคำว่า “ยาอันตราย” ในกรอบสีแดง และเตือนว่ายานี้อาจทำให้เกิดการแพ้และเป็นอันตรายถึงตายได้
นอกจากอันตรายจากการแพ้ยา อาการข้างเคียง และการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ยาปฏิชีวนะมีอันตรายที่สำคัญมาก อีกประการหนึ่ง ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับโลก และคนทั่วไปไม่รู้และไม่ตระหนัก คือ อันตรายจากเชื้อดื้อยา  การกินยาปฏิชีวนะบ่อยเกินไป ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการกลายพันธุ์ให้ทนต่อยา เรียกว่า เชื้อดื้อยา ถ้าเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆภายในเวลาไม่นาน  ผลคือจะไม่มียาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาได้ผลเหลือให้ใช้อีกต่อไป  เชื้อดื้อยาไม่ได้ก่อผลเสียเฉพาะกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น  แต่มันสามารถแพร่กระจายสู่คนในครอบครัว หรือคนรอบข้างเราได้   ซึ่งพบว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูง คือ เด็ก คนแก่ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และผู้ที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล คนเหล่านี้มักเป็นกลุ่มที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำกว่าคนทั่วไป โดยที่สถานการณ์เชื้อดื้อยาในปัจจุบันขณะนี้ได้ลุกลามเป็นปัญหาร่วมของพลเมืองโลกแล้ว
วิธีที่สำคัญในการต่อสู้กับเชื้อดื้อยาทำได้ด้วยการหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ ใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และใช้ยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของโรคเท่านั้น ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะที่ออกฤทธิ์กว้าง (ที่สามารถทำลายเชื้อได้หลายชนิดพร้อมกัน)  นั่นคือ อย่าใช้ยาปฏิชีวนะเป็นยาครอบจักรวาล และไม่ใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดร่วมกัน
สาเหตุของการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกต้องมีหลายสาเหตุ ในด้านประชาชน ปัญหาการขาดความรู้หรือมีความเข้าใจหรือความเชื่อที่ผิด หรือใช้ประสบการณ์เดิมที่เคยใช้ยาปฏิชีวนะแล้วได้ผล หรือใช้ตามคำบอกเล่าหรือคำแนะนำจากคนอื่นๆ มาตัดสินใจกินยาปฏิชีวนะโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน   นอกจากนี้ พบว่า การที่คนไทยจำนวนมากเรียก “ยาปฏิชีวนะ” อย่างผิดๆ ว่า “ยาแก้อักเสบ” เป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดๆ อีกด้วย   อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามีการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมโดยบุคลากรการแพทย์เช่นเดียวกัน อันเนื่องมาจากหลายสาเหตุ
ดังนั้นประชาชนทุกคนจึงสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดปัญหาเชื้อดื้อยา หยุดความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากการแพ้ยา อาการข้างเคียงจากยา โดยร่วมกันในการตั้งคำถามกับการใช้ยาปฏิชีวนะของตนเองทุกครั้ง  ไม่ว่าการตัดสินใจใช้ยาปฏิชีวนะนั้นจะมาจากตนเองหรือจากบุคลากรสาธารณสุข

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม              
ผู้เข้าประกวดสามารถสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแหล่งอื่นๆ เช่น เว็บไซท์ และ youtube.com ส่วนแหล่งข้อมูลแนะนำได้แก่
- ประเทศไทย (โครงการ Antibiotics Smart Use)
http://newsser.fda.moph.go.th/rumthai/asu/download.php
- ประเทศสหรัฐอเมริกา  
http://www.cdc.gov/getsmart/
- ประเทศอังกฤษ
http://www.nhs.uk/NHSEngland/ARC/Pages/AboutARC.aspx
-
ประเทศนิวซีแลนด์
http://kickthatbug.org.nz/
- ประเทศออสเตรเลีย
http://www.nps.org.au/consumers/campaigns/ccncs

ประเภทของสื่อการประกวด
1. โปสเตอร์และแผ่นพับรณรงค์ (การส่งประกวดต้องส่งเป็นชุดคู่กันทั้งโปสเตอร์และแผ่นพับ)                               
2. Clip วีดีโอ        
3. การกล่าวสุนทรพจน์

คุณสมบัติ ของผู้เข้าประกวด แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1.   สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ระดับที่ 2.  สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย , ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือเทียบเท่า
ระดับที่ 3.  สำหรับผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาบัณฑิต, ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือ เทียบเท่า


รายละเอียดในการเข้าร่วมโครงการ

  1. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดในแต่ละประเภทจะต้องลงทะเบียนและกรอกข้อมูลส่วนบุคคลผ่าน Website : www.thaidrugwatch.org
  2. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องมีหัวข้อหรือวัตถุประสงค์ในการประกวดเพื่อรณรงค์การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลตามกรอบของเนื้อหาที่กำหนด
  3. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ คัดลอก หรือ นำส่วนใดส่วนหนึ่งจากผลงานของผู้อื่น หากตรวจพบ คณะกรรมการจะดำเนินการตัดสิทธิผู้เข้าร่วมประกวดโดยทันที และจะไม่รับผิดชอบต่อปัญหาใด ๆ ที่เกิดขึ้นจากการละเมิดดังกล่าว
  4. ผลงานที่ส่งเข้าประกวดทุกชิ้น  ทางโครงการฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการคัดเลือกไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ รวมถึงการพิมพ์เผยแพร่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยไม่ถือเป็นข้อผูกมัดในการจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของผลงาน
  5. ผลงานเข้าประกวดทุกชิ้น ทางโครงการฯ ขอสงวนสิทธิ์ในผลงานดังกล่าวอย่างถาวร ผู้ส่งผลงานเข้าประกวดจะไม่สามารถนำกลับ คัดลอกหรือเปลี่ยนแปลง ใด ๆ ได้
  6. การประกวดทุกประเภท วิธีการตัดสินขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการเป็นหลัก  ซึ่งมติของคณะกรรมการถือเป็นข้อยุติ
  7. ผู้เข้าประกวดสามารถศึกษาข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกวิธีก่อนสร้างสรรค์ผลงานได้ ที่ www.thaidrugwatch.org หรือ สื่อวิชาการอื่นๆ
  8. ผู้ส่งผลงานเข้าประกวด มีสิทธิ์ได้รับรางวัลสูงสุด เพียงรางวัลเดียวในแต่ละประเภท

คะแนนการตัดสินผลงาน                     

  1. จากผลการโหวตผ่านWebsite www.thaidrugwatch.org  5%                
  2. จากการพิจารณาของคณะกรรมการ  95 %

รางวัล 
สำหรับการประกวดแบ่งออกเป็น  3 ประเภท ประเภทละ 3 ระดับ โดยมีมูลค่ารางวัลรวม 333,000 บาท ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. รางวัลชนะเลิศ มูลค่า 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) พร้อม โล่เกียรติยศ 
2. รางวัลรองชนะเลิศ มูลค่า 5,000 บาท (ห้าพันบาทถ้วน) พร้อม โล่เกียรติยศ  
3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง มูลค่า 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) พร้อมโล่เกียรติยศ    


รายละเอียด ในแต่ละสาขาการประกวด


ผู้รับผิดชอบโครงการ
1.  ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี   ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ตำแหน่ง ประธานโครงการ
2.  ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข               รองผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) รองประธานโครงการ

หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

  1. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  http://www.thaihealth.or.th/
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือของคณะเภสัชศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ และคณะศิลปกรรมศาสตร์  www.chula.ac.th/
  3. กระทรวงสาธารณสุข   www.moph.go.th/

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • กลุ่มเป้าหมายได้รับการประชาสัมพันธ์ข้อมูล ปลูกสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง
  • ประชาชนทั่วไปสนใจและเกิดความประสงค์ที่จะเข้าถึงเรียนรู้ในเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ ผ่านฐานข้อมูล หลากหลายรูปแบบ เช่น Website หรือสื่อสิ่งพิมพ์ ต่าง ๆ
  • กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความสำคัญในเรื่อง ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล
  • เปิดโอกาสให้ กลุ่มเป้าหมายเกิดจินตนาการ การสร้างสรรค์สื่อด้วยเทคนิคที่หลากหลาย และสามารถนำมาใช้เพื่อการประชาสัมพันธ์ หรือสร้างแนวทางในการพัฒนารูปแบบการประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะ ต่อไป