search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6519512
การเปิดหน้าเว็บ:9362758
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ชำแหละค่าต๋งบริษัทยา - รพ.
  15 เมษายน 2554
 
 


       แหล่งข่าว ด้านเภสัชกรโรงพยาบาลเอกชน ผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ยอมรับกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์ ว่า เป็นความจริง ที่เกิดขึ้นกับรพ.เอกชน โดยเฉพาะการบวกราคายาซึ่งเป็นรายได้หลักโดยตรง ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะคิดไม่เท่ากัน โดยหลักคิด คือ ถ้าเป็นยาราคาไม่แพงนัก ก็อาจจะชาร์จมากอาจจะเป็น 5-10 เท่า แต่ ถ้าเป็นยาราคาแพงก็จะชาร์จไม่มาก แต่โดยเฉลี่ยส่วนใหญ่จะชาร์จเพิ่มเริ่มต้นที่ 30% ขึ้นไป จนไปถึง 200-300%
       
       “คุณรู้ไหม ทำไมค่ารักษาพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลรัฐกับเอกชนจึงต่างกันหลายเท่า เพราะโรงพยาบาลรัฐไม่มีค่าก่อสร้างอาคาร ค่าจ้างบุคลากร หรืออื่นๆ ทั้งหมดนี้อยู่ในงบประมาณที่รัฐบาลจัดให้ แต่โรงพยาบาลเอกชนมีค่าก่อสร้างอาคาร ดอกเบี้ยเงินกู้ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ทั้งหมดเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคำนวณในการคิดค่ารักษาพยาบาลและค่ายาก็ เป็นส่วนสำคัญที่จะหารายได้มากที่สุด”
       
       กระนั้นเภสัชกรรายนี้ บอกว่า เหตุผลข้างต้าน ก็ไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดของราคายาที่แพงมากในโรงพยาบาลเอกชน แต่ส่วนหนึ่งมาจาก การแข่งขันของบริษัทยาที่ทำการตลาดกันรุนแรง โดยตั้งราคายาสูงเกินจำเป็นแล้วตัดเงินมาทุ่มกับผู้เกี่ยวข้อง
       
       “ทุกวันนี้ถ้าคุณๆไปนั่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วบังเอิญคุณเป็นคนที่กว้างขวางรู้จักบรรดาแพทย์ เภสัชกรที่ทำงานโรงพยาบาล คุณจะพบว่าแทบทุกวันมีการสปอนเซอร์จากบริษัทยา นำบุคลากรเหล่านี้เดินทางไปต่างประเทศ โดยใช้การประชุมวิชาการบังหน้า บางครั้งก็ทำรายการเที่ยวล้วนๆด้วยซ้ำไป ยิ่งเป็นแพทย์ที่อยู่ในคณะกรรมการจัดซื้อยา ที่มีอำนาจในการดันรายชื่อยา หรือหมอคนนี้มีลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศ จะเป็นแกนนำในการใช้ยา จะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ ”
       
       เขาเล่าต่อว่า อย่างไรก็ตามการเข้าไปจับคนที่มีPowerในการจัดซื้อยาอย่างเดียวไม่พอ ต้องไปหา “มือปืนมายิง”ซึ่งเป็นศัพท์แสลงใช้เรียกหมอออกตรวจคนไข้ทั่วไปในรพ. เนื่องจากแพทย์เหล่านี้จะมีอำนาจในการสั่งยาจ่ายยาโดยตรง และถ้าหมอคนเดิมทำบ่อยๆ ทางรพ.อาจจะเรียกหมอมาคุยและซื้อมาเป็นล็อต นั่นหมายถึงหมอคนนั้นก็ได้เงินทันที หรือ กรณีใช้หมอเป็นตัวกลางในการสั่งยา กรณีที่คนไข้หาซื้อยาไม่ได้
       
       โดยเฉพาะยามะเร็ง ส่วนใหญ่จะหาซื้อยาก เพราะราคาสูง ร้านขายยาไม่ค่อยนิยมสต็อกไว้ และเวลาขายแต่ละครั้งต้องขายตามใบสั่งแพทย์ แถมยังต้องมีบันทึกรายงานส่งอย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) ซึ่งยุ่งยาก หรือหากคนไข้จะไปซื้อตรงกับโรงงานก็ไม่ได้ เพราะกฏหมายระบุไว้ว่า จะซื้อขายโดยตรงกับผู้ป่วยไม่ได้ ดังนั้นคนไข้ส่วนใหญ่ก็ต้องซื้อผ่านแพทย์หรือไม่ก็โรงพยาบาลที่ได้รับการอนุญาติ
       
       “ตอนนี้เป็นเรื่องปกติของการทำการตลาดไปแล้ว เพราะบริษัทยาเหล่านี้จะมีเซลสวยๆ มีของขวัญมาให้
มีการตั้งเป้าหมายแต่ละคนจะได้ทำตัวเลขเท่าไร บริษัทจะมีสนับสนุนเช่นวิชาการ เทคนิคการขายที่จะต้องมี นอกเหนือจากนั้นเซลเหล่านี้ ยังมีงบพิเศษสนับสนุนการขายอีกด้วย เช่นการเบิกงบเอ็นเตอร์เทนต์ งบซื้อของขวัญ ขึ้นอยู่กับวอลุ่มในการทำยอดขายของเซลแต่ละคน เช่น ถ้าเซลคนนั้นมียอดขายเดือนละล้าน ถ้าจะของบสนับสนุนการขายครั้งละ 1-2 หมื่นก็จะได้รับการอนุมัติได้ไม่ยาก”
       
       อย่างไรก็ดี “เวทิต อรรถเวชกุล” ผู้อำนวยการองค์การเภสัช ได้กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”ว่า การที่ยาของภาคเอกชนแพงกว่ายาของภาครัฐนั้น เชื่อว่ามาจากหลายปัจจัย คือ 1.จำนวนการผลิตเขาต่ำกว่าหรือเปล่า 2.เขาต้องการกำไรมากไปหรือเปล่า 3.มาตรฐานที่องค์การอาหารและยา (อ.ย.) ต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และ 4.การแข่งขันของบริษัทจำหน่ายยาจากต่างประเทศ
ทั้งประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งหากมีการเปิดการค้าเสรีในปี 2558 เชื่อว่าจะควบคุมตรงนี้ได้ยากขึ้น เพราะปัจจุบันมูลค่ายาจากที่ซื้อจากบริษัทต่างประเทศมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 70,000-80,000 บาท ขณะที่มูลค่าของการซื้อยาภายในประเทศมีเพียง 30,000 ล้านบาทเท่านั้น
       
       “ รพ.เอกชนใช้ยาที่มาจากต่างประเทศทำให้ราคาจำหน่ายยาต้องสูงขึ้น โดยกำไรจากการจำหน่ายยาจะอยู่ที่นโยบายของรพ. ยาบางตัวกำไรเป็น 100% ขณะที่บางตัวก็กำไรแค่ 10% เท่านั้น ทั้งนี้ ยาที่แพงในปัจจุบันมีอยู่หลายตัว อย่าง ยารักษาโรคมะเร็ง ยารักษาโรคเลือด ยาพวกนี้ที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่ทำให้ยาเหล่านี้มีราคาจำหน่ายแพง ซึ่งสิทธิบัตรยาจะมีอายุถึง 20 ปี “
       
       ส่วนการมองว่ายาแพงเพราะส่วนหนึ่งต้องจ่ายค่าเปอร์เซ็นต์ให้กับแพทย์ นั้น ในมุมมองของ “เวทิต” แล้วเห็นว่า การจ่ายเงินค่าเปอร์เซ็นต์ให้กับแพทย์นั้น ในความเป็นจริงแล้วแพทย์ไม่มีสิทธิได้เงินตรงนั้น แต่เงินส่วนนี้บริษัทยาจะจ่ายให้เป็นเงินสวัสดิการของรพ.รัฐ ซึ่งจะมีคณะกรรมการดูแล โดยเงินดังกล่าวรพ.รัฐจะใช้ในการบริหารจัดการรพ. แต่รพ.รัฐบางแห่งก็ไม่มีนโยบายดังกล่าว ขณะที่รพ.เอกชนก็มีหลายแห่งที่ไม่มีนโยบายตรงนี้ อย่างรพ.เอกชนที่บริหารงานโดยครอบครัว
       
       ส่วนการควบคุมราคายานั้นหากเป็นรพ.รัฐก็มีหน่วยงานอย่างประกันสังคม บัตรทอง กรมบัญชีกลาง ฯลฯ ควบคุมอยู่แล้วเพื่อให้ราคายาเป็นที่พอใจของแพทย์และคนไข้ ขณะที่รพ.เอกชนหลายแห่งที่เข้าโครงการประกันสังคม บัตรทอง ฯลฯ ก็จะมีหน่วยงานพวกนี้ควบคุมเพื่อให้ค่าใช้จ่ายยามีความสมเหตุสมผล
       
       รพ.เอกชน แจงเหตุ
       ยาแพงเพราะต้นทุนสูง
       
       จากกรณีดังกล่าว “ผู้จัดการ 360 องศรายสัปดาห์”จึงได้สอบถามเรื่องนี้ไปยัง “นพ.อนันตศักดิ์ อภัยรัตน์”
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 ที่ได้ชี้แจงว่า การที่ค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนมีราคาที่สูงกว่าของโรงพยาบาลรัฐนั้น เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนมีการรวมเรื่องค่าบริการ ค่าแพทย์ และค่าอื่นๆ ในขณะที่โรงพยาบาลรัฐไม่มีการคิดค่าดังกล่าวทำให้ค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน แพงกว่าโรงพยาบาลรัฐ
       
       สำหรับกลุ่มยาที่มีราคาแพงจะเป็นกลุ่มยารักษาโรคมะเร็ง หัวใจ เบาหวาน เนื่องจากเป็นยาที่ไม่สามารถผลิตในไทยได้ทำให้ราคาแพง โดยราคายาที่ผลิตจากต่างประเทศจะสูงกว่ายาที่ผลิตในประเทศไทยมากถึง 50% อย่างไรก็ดี ราคายาของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่โรงพยาบาล อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนด้วยกันราคาจะไม่แตกต่างกันมากนัก
       
       ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าแพทย์รับเงินใต้โต๊ะจากบริษัทยาเพื่อช่วย บริษัทยาจำหน่ายยานั้น เชื่อว่าไม่มีเนื่องจากผิดจรรยาบรรณของแพทย์ นอกจากนี้ แพทย์ที่มีจรรยาบรรณจะต้องจ่ายยาให้ตรงกับโรคและตัวบุคคล ดังนั้น การรับเงินใต้โต๊ะจึงไม่มีทางที่แพทย์จะทำอยู่แล้ว
       
       สำหรับการที่บริษัทยาเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้กับโรงพยาบาลเพื่อแลกกับ การซื้อยานั้น บริษัทยามีหน้าที่ในการสนับสนุนเรื่องวิชาการให้กับแพทย์อยู่แล้ว แต่หากบริษัทยาที่เข้ามาสนับสนุนวิชาการเพื่อแลกกับการซื้อยานั้น โรงพยาบาลจะไม่สนับสนุนบริษัทดังกล่าว
       
       ส่วน การควบรวมโรงพยาบาลระหว่างเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโลกับโรงพยาบาลกรุงเทพ อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เชื่อว่าจะช่วยเรื่องของการจัดซื้อยาและอุปกรณ์การแพทย์ได้ไม่น้อย แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้เท่าใด
       
       ผู้บริหารรพ.เอกชนอีกรายหนึ่งกล่าวเสริมว่า ค่ายา เป็นเอกสิทธิ์ของโรงพยาบาลว่าจะตั้งราคาเท่าไหร่ โดยทั่วไป จะรวมค่าบริหารจัดการของโรงพยาบาลเข้าไปด้วย ไม่ใช่คิดเฉพาะต้นทุนยาเหมือนในโรงพยาบาลรัฐ ค่าอุปกรณ์ต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ที่มีการรวมค่าบริหารจัดการเข้าไปด้วยส่วน Doctor Fee กับค่าพยาบาล จะเป็นส่วนของแพทย์ หรือพยาบาล ซึ่งปกติโรงพยาบาลไม่ได้มีกำไรจากส่วนนี้อยู่แล้ว
       
       “กำไรโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงค่ายา กับค่าอุปกรณ์ครับ หักไปหักมาแล้ว กำไรจริงๆ จากการขายยาอยู่สัก 10 เปอร์เซ็นต์ ที่แพงๆ นั่น Overhead Cost ทั้งนั้น ถ้าทำใจจ่ายไม่ได้ ก็ต้องใช้บริการคลินิก หรือโรงพยาบาลรัฐ ที่มีการสนับสนุน Overhead Cost ส่วนนี้จากภาษีจะดีกว่า”
       

              สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของ “ศ.นพ.สิน อนุราษฎร์” ผู้อำนวยการด้านการแพทย์กลุ่มภูมิภาค โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งเคยชี้แจงเรื่องนี้ผ่านนิตยสารผู้จัดการว่า รายได้ จากโรงพยาบาลจะมีรายรับมาจากการหักเปอร์เซ็นต์ค่าพบแพทย์ โดยหักจากผู้ป่วยนอก (OPD) 15% เป็นค่าใช้จ่ายด้านสิ่งอำนวยความสะดวกแก่แพทย์ แต่สำหรับผู้ป่วยใน (IPD) ทางโรงพยาบาลจะไม่หักเปอร์เซ็นต์ค่าแพทย์ไว้ แต่จะมีรายได้ในส่วนของ ค่าพยาบาล ค่าเครื่องมือแพทย์ ค่าพื้นที่ ที่ได้จากการเรียกเก็บจากคนไข้ นอกจากนี้ รายได้แหล่งใหญ่ของโรงพยาบาลยังมาจากการขายยา ซึ่งราคาค่ายาจะถูกบวกค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการตรวจรักษาเข้าไปด้วย และนี่ก็คือเหตุผลว่าทำไมยาในโรงพยาบาลจึงแพงกว่าร้านขายยาทั่วไป
       
       "คนไข้มักจะลืมไปว่าในห้องตรวจมีค่าใช้จ่าย ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้แพทย์ไม่ได้เป็นคนออก จึงต้องมีส่วนอื่นเข้ามาช่วย ซึ่งบางแห่งก็คิดค่าใช้จ่ายตรงนี้ประมาณ 50-80 บาท" น.พ. สิน ไขข้อข้องใจ
       
       สำหรับอัตราค่ารักษาพยาบาล ในส่วนของค่าพบแพทย์ (doctor fee) ทางบำรุงราษฎร์จะกำหนดพิสัย (range) เป็น guideline ไว้ให้แพทย์ในการเรียกเก็บโดยจะพิจารณาเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลที่เป็น Treasury Care เหมือนกัน แต่จะไม่มีการกำหนดไว้ตายตัวเพราะอัตราค่าพบแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์แพทย์ จะสูงกว่าระดับปกติ ซึ่งนี่ก็เป็นคำตอบว่าทำไมบางครั้งบิลล์ที่คนไข้ได้รับถึงกับต้องผงะ
       
       อย่างไรก็ตาม น.พ. สินได้เปรียบเทียบว่าค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยในไทยกับอเมริกาด้วยเครื่องมือเหมือนกันจะถูกกว่าในอเมริกาประมาณ 30% แต่หากเปรียบเทียบอัตราค่ารักษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์โดยเฉลี่ยจะพบว่าไทยจะอยู่ตรงกลางระหว่างสิงคโปร์กับมาเลเซีย
       
       เช่น การเปลี่ยนไต ค่ารักษาจะตกประมาณ 397,000 บาท ขณะที่สิงคโปร์ประมาณ 975,000 บาท
และมาเลเซีย 392,000 บาท, การผ่าตัดทำคลอด ไทยประมาณ 49,000 บาท สิงคโปร์ 60,000 บาท มาเลเซีย 42,000 บาท, ผ่าตัดไส้ติ่ง ไทย 49,000 บาท สิงคโปร์ 50,000 บาท มาเลเซีย 39,000 บาท ยกเว้นการตัดต่อเส้นเลือดหัวใจ (By-Pass) การตรวจคลื่นหัวใจ การสแกนสมอง และการตรวจร่างกายผู้บริหาร อัตราค่ารักษาของไทยจะถูกที่สุด ตกประมาณ 397,000 บาท 300 บาท 3,900 บาท และ 1,000 บาท ตามลำดับ
       
       กระนั้นก็มีข้อเท็จจริงรายได้ของหมอ ซึ่งแหล่งข่าวซึ่งเป็นแพทย์หญิงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า -รพ.เอกชน หมอจะได้ค่ารักษาที่เรียกว่าDFหรือdoctor free หรือค่าทำหัตถการ ค่าตรวจเยี่ยมคนไข้ในเท่านั้น ส่วนค่าDFบางรพ.ให้หมอลงเองแต่บางรพ.ก็จะมีค่าDFตายตัวอยู่แล้ว สำหรับค่าหัตถการคือ หากเย็บแผล ใส่เผือก อันนี้ถ้าหมอเย็บให้ ถือว่าเป็นค่าหัตถการ แต่บางรพ.ก็ไม่ได้ทั้งหมดจากที่รพ.เก็บจากคนไข้แต่จะได้บางส่วนเท่านั้น
       
       “สำหรับ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ รพ.เป็นคนคิดราคา หมอไม่ได้มีส่วนได้ในตรงนี้ ซึ่งแต่ละ รพ.ก็คิดราคายาไม่เท่ากัน ดังนั้นหากคนไข้ต้องการให้เขียนชื่อยาเพื่อไปซื้อข้างนอกสามารถทำได้เนื่อง จากเป็นสิทธิผู้ป่วยค่ะ หากแต่หมอคงไมได้ถามคนไข้ทุกคนว่าต้องการชื่อไปซื้อเองหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยประสงค์ย่อมทำได้”
       
       มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคย้ำ
       คนไข้มีสิทธิซื้อยาข้างนอกรพ.
       
       กระนั้นมีการถกเถียงประเด็นเรื่องราคายา หรือราคาค่าบริการเป็นธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่ เนื่องจากใน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้มีประเด็นเรื่องการควบคุมราคายา หรือแสดงโครงสร้างราคายา คงมีแต่ในพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ซึ่งมีประเด็นที่ว่า ยาเป็นสินค้าควบคุม ตามมาตรา 24 แต่ก็ไม่เคยมีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ที่ออกมาว่ายานั้นควรมีราคาเท่านั้น เท่านี้ หรือขายในราคาที่ไม่เกินที่
       
       ทั้งนี้ คณะกรรมการกำหนดไว้ตามมาตรา 25 หรือในมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง (ยังไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเต็มที่) คงปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด (จะมีเพียงแต่สินค้าบางรายการเท่านั้นที่กำหนดราคาสูงสุดมาให้เลย) อย่างไรก็ดี ยารักษาโรค เป็นสินค้าควบคุมของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะควบคุม ไม่ให้ขายในราคาที่สูงกว่า ราคาที่กำหนด
       
       ดังนั้น ผู้เสียหาย รวมทั้งคนอื่นๆ ที่ประสบเหตุยาแพง อาจแจ้ง กรมการค้าภายในได้ รายงานข่าวดังกล่าว เป็นเครื่องสะท้อน ให้เห็นว่า จากอดีตถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยมักมีความเข้าใจผิดๆว่า การรักษาพยาบาล เป็นเรื่องตายตัว ยืดหยุ่นไม่ได้ แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค และสั่งยาเท่านั้น
       
       “สารี อ๋องสมหวัง” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และในตำแหน่งล่าสุดโฆษกชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน ให้ความเห็นกับ “ผู้จัดการ 360 องศารายสัปดาห์”ว่า ในความเป็นจริง ผู้ป่วยและญาติ มีสิทธิ์สอบถามแพทย์ ถึงอาการ แนวทางการรักษา ที่ได้ผลที่สุด และที่สำคัญ ก็คือ ยาที่ใช้รักษาโรคนั้น รวมทั้งราคายาโดยประมาณ เช่น ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐบาล สามารถแจ้งความจำนงว่า ต้องการยาที่ดีที่สุด แม้ไม่มียาในห้องยาของโรงพยาบาล ก็ขอให้แพทย์ เขียนใบสั่งยา ให้ออกไปซื้อ ที่ร้านขายยา นอกโรงพยาบาลได้
       
       แม้ไปโรงพยาบาลเอกชน ก็มีสิทธิ์ขอใบสั่งยา ออกไปซื้อ ยา นอกโรงพยาบาลได้เช่นกัน จะได้ไม่ต้องจ่ายค่ายาแพง เมื่อผู้ป่วยแจ้งเจตจำนง ให้แพทย์เขียนใบสั่งยาแล้ว อาจถามแพทย์เพิ่มเติมว่า มียาชนิดอื่น นอกจากที่ เขียนในใบสั่ง ที่มีประสิทธิผล ทางการรักษาสูงสุดหรือไม่ ถ้ามี และเราต้องการ ก็ขอให้เขียน ใบสั่งยา ให้ใหม่ เพราะบางครั้ง การถามครั้งนั้น อาจทำให้คุณและญาติๆ หายป่วยเร็วกว่าปกติด้วย
       
       “การที่ผู้บริโภคจะร้องขอให้แพทย์เขียนใบสั่งซื้อยาเพื่อนำไปซื้อยา ข้างนอกนั้นเป็นสิทธิที่สามารถทำได้
 เพราะผ่านมาตนเองก็เคยทำแบบนี้ ซึ่งการไม่ซื้อยากับโรงพยาบาลจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาต่อครั้งได้ เป็น 10 เท่าตัว จากที่เคยจ่ายค่ารักษารวมกับค่ายาและบริการครั้งละ 6,000 บาทต่อการรักษาหนึ่งครั้งก็เหลือเพียง 600 บาทต่อครั้ง”
       
       แต่ในทางกลับกัน การผนึกกำลังและเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลขนาดเล็กและกลาง ที่มีสายป่านไม่ยาวพอ จนอาจต้องถูกกลืนในที่สุด เพราะอำนาจการต่อรองที่น้อยกว่าโรงพยาบาลเครือข่ายจำนวนมาก และนี่จึงเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า อนาคตธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในไทยจะเหลือเพียงไม่กี่กรุ๊ปเท่านั้น
       
       สิ่งที่น่าสนใจคือ วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลเอกชนไทยที่ต้องการจะก้าวเป็นผู้นำในตลาดโลก และพุ่งเป้าไปที่กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่มีกำลังซื้อมากกว่าตลาดในประเทศ ปัญหาคือ ระบบการรักษาในของคนภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรพ.รัฐ ,ประกันสังคม และบัตรทอง จะพัฒนามารองรับความต้องการได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือไม่ ?