search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6517709
การเปิดหน้าเว็บ:9360894
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  E. coli : อีโคไล เชื้อมรณะ
  02 มิถุนายน 2554 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 


บทความโดย นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล
วุฒิบัตรกุมารเวชศาสตร์ ภาควิชาเภสัชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีชาวเยอรมันเสียชีวิตไปแล้ว 15 ราย และอีก 1 รายในประเทศสวีเดนเนื่องจากโรคท้องร่วงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าอีโคไล โดยคาดว่ามีผู้ติดเชื้อนี้และป่วยมากถึง 1,150 ราย ในเยอรมนี นอกนั้นมีรายงานประปรายในประเทศสวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร

e coli outbreak in eu


การแพร่ระบาดของโรคท้องร่วงที่รุนแรงถึงชีวิตนี้เริ่มขึ้นในเยอรมนีเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในวันที่ 15 พฤษภาคม โรงพยาบาลแห่งหนึ่งได้รับหญิงชราอายุ 83 ปีผู้หนึ่งเข้ารับการรักษาด้วยอาการท้องร่วงและถ่ายอุจจาระมีเลือดปน ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ได้เสียชีวิตลงในอีก 2 วันต่อมา นับเป็นผู้ป่วยรายแรกที่เสียชีวิต หลังจากนั้นผู้ป่วยจำนวนมากเริ่มทยอยเจ็บป่วยด้วยอาการเดียวกัน และผู้ป่วยจำนวนหนึ่งได้เสียชีวิตลง

เชื้ออีโคไล มีชื่อเรียกเต็มๆว่า เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) เป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในอุจจาระของคนและสัตว์ อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ แต่โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง มักถ่ายเป็นน้ำโดยไม่มีเลือดปน และแทบไม่มีรายงานการเสียชีวิต แต่เชื้ออีโคไลที่เป็นสาเหตุของการระบาดครั้งนี้เป็นเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ O104:H4 ซึ่งไม่เคยมีรายงานของการระบาดด้วยเชื้ออีโคไลสายพันธุ์นี้มาก่อน

เชื้ออีโคไลสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในกลุ่มของเชื้ออีโคไลที่ทำให้ มีเลือดออกในอุจจาระที่เรียกว่ากลุ่ม EHEC (Enterohaemorrhagic Escherichia coli) และเชื้อ EHEC ที่รู้จักกันดีในวงการแพทย์และพบได้เป็นระยะๆ คือเชื้อสายพันธุ์ O157:H7

เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ O157:H7 มักทำให้เกิดโรคในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และในผู้สูงอายุ เชื้อนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ใหญ่ของวัวโดยไม่ทำให้เกิดโรคต่อวัว ติดต่อสู่คนจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนกับเชื้อดังกล่าวเช่น การรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะที่ทำจากเนื้อวัวบด (เช่นในแฮมเบอร์เกอร์) การกลืนน้ำจากสระว่ายน้ำที่ปนเปื้อนกับแบคทีเรีย หรือการดื่มน้ำที่ไม่สะอาด รวมทั้งการกินผักสด ในแต่ละปีเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ O157:H7 ทำให้ชาวอเมริกันป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 2,100 คนต่อปี

เชื้อ EHEC มีความสามารถในการติดต่อสูงมาก เนื่องจากหากรับเชื้อเพียง 100 เซลล์เท่านั้นเข้าสู่ร่างกายก็สามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วงได้ ผู้ป่วยบางรายอาจถ่ายเป็นน้ำโดยไม่มีเลือดปน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ทั้งที่ถ่ายเป็นน้ำและที่ถ่ายมีเลือดปนมักไม่มีไข้ ซึ่งต่างจากโรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อบิดชิกเกลลา (Shigella) ซึ่งทำให้ถ่ายมีเลือดปนได้แต่ผู้ป่วยจะมีไข้ร่วมด้วย
 
โดยทั่วไปอาการท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อ EHEC ไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต และมักหายได้ภายใน 5-10 วันหลัง แต่ในกรณีของเชื้อสายพันธุ์ O157:H7 จะมีผู้ป่วยราวร้อยละ 2-7 ที่เกิดโรคแทรกซ้อนทำให้เม็ดเลือดแดงแตก เกล็ดเลือดลดต่ำลงทำให้เลือดออกง่าย โดยอาจทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือดและถ่ายดำ และต่อมาผู้ป่วยจะปัสสาวะไม่ออกเนื่องจากไตหยุดทำงาน (ไตวายเฉียบพลัน) โรคแทรกซ้อนนี้มีชื่อเรียกว่า hemolytic uremic syndrome หรือ HUS

สาเหตุของการเกิด HUS เกิดจากพิษ (toxin) ที่เชื้ออีโคไลสายพันธุ์ O157:H7 สร้างขึ้น ได้แพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด แล้วเข้าทำลายเม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด และผนังเส้นเลือดแดงของไตทำให้ไตวาย

หากเกิดโรคแทรกซ้อน HUS ขึ้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาในไอซียู ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องได้รับการฟอกไต โดยจะมีผู้ป่วยราวร้อยละ 5-10 ที่เสียชีวิตลง ผู้ที่รอดชีวิตอาจมีไตวายเรื้อรังและต้องรอเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนไตต่อไป

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างโรคที่เกิดจากเชื้ออีโคไล O104:H4 กับ O157:H7 คือ ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดของการระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก และเป็นการระบาดครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีรายงานมา ซึ่งถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงหรือยัง และจะแพร่กระจายไปยังประเทศต่างๆ ได้ห่างไกลกว่าทวีปยุโรปหรือไม่

สาเหตุของการติดเชื้ออย่างกว้างขวางในครั้งนี้ มีรายงานข่าวในเบื้องต้นว่าอาจเกิดจากการบริโภคแตงกวาที่ส่งมาจากประเทศสเปน ซึ่งอาจปนเปื้อนกับปุ๋ยที่ทำจากมูลสัตว์ แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการยืนยันเนื่องจากเชื้อที่พบบนผิวแตงกวานั้นเป็นคนละสายพันธุ์กับที่พบในอุจจาระของผู้ป่วย

ความยากลำบากในการรักษาโรคท้องร่วงที่เกิดจาก EHEC สายพันธุ์ O157:H7 ก็คือ ไม่มียาที่ใช้รักษาเชื้อนี้ได้โดยตรง ทั้งที่โดยสามัญสำนึกแพทย์ควรใช้ยาปฏิชีวนะเข้าทำลายเชื้อเพื่อรักษาโรคให้หายไป แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะกลับกระตุ้นให้เกิดโรคแทรกซ้อน HUS มากยิ่งขึ้น การรักษาที่ถูกต้องคือการวินิจฉัยโรคให้ได้โดยเร็วโดยไม่ผลีผลามให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย ร่วมกับการให้สารน้ำและเกลือแร่อย่างพอเพียง ติดตามอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และให้การรักษาตามปัญหาที่เกิดขึ้น

ยังไม่มีผู้ใดทราบว่าเชื้อ O104:H4 ที่พบแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ จะก่อให้เกิดโรค HUS ได้มากยิ่งขึ้น หากถูกกระตุ้นด้วยยาปฏิชีวนะหรือไม่ แต่ควรคาดไว้ก่อนว่าน่าจะมีลักษณะไม่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามจากรายงานเบื้องต้นพบว่าเชื้อมีความสามารถในการดื้อต่อยาปฏิชีวนะสูง ซึ่งยังไม่ทราบว่าหากจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการใช้ยาปฏิชีวนะ จะมียาปฏิชีวนะใดเหลือไว้ให้ใช้
 
e coli


ประชาชนในประเทศไทยไม่ควรแตกตื่นไปกับข่าวข้างต้น เนื่องจากโรคดังกล่าวยังคงจำกัดวงอยู่ในทวีปยุโรป แต่สิ่งที่ควรปฏิบัติในชีวิตประจำวันในการป้องกันโรคท้องร่วง คือการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ดื่มน้ำสะอาด ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานแบบสดๆ และล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังถ่ายปัสสาวะ อุจจาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีหน้าที่ปรุงอาหารหรือจับต้องอาหารของผู้อื่น

จากสรุปรายงานการเฝ้าระวังโรคในปี พ.ศ. 2550 ของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยโรคท้องร่วงที่ได้รับรายงานจากทั่วประเทศทั้งสิ้น 1,433,230 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 101 ราย น้อยกว่าผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วันอันตรายของวันสงกรานต์ซึ่งมีจำนวนมากถึง 229 รายในปีนี้

ปัญหาของโรคท้องร่วงในประเทศไทยที่ควรได้รับการแก้ไขคือ การลดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละปีลง เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยมากกว่าล้านคนต่อปี (เฉพาะที่ได้รับรายงาน) แสดงให้เห็นถึงสุขลักษณะที่ยังด้อยมาตรฐานของสังคมไทย นอกจากนี้สิ่งที่ควรแก้ไขอย่างจริงจังคือการให้ความรู้กับประชาชนว่าอย่าใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรคท้องร่วง ทั้งนี้เพราะมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 0.3 ที่มีอาการท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด และมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการทางคลินิกที่บ่งว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะเกิดประโยชน์กับผู้ป่วย หากถ่ายเป็นน้ำ ไม่มีไข้ หรือมีอาการอาเจียนเป็นอาการเด่น หมายถึงโรคท้องร่วงหรืออาหารเป็นพิษซึ่งหายได้เอง โดยไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยาปฏิชีวนะ

การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อในโรคท้องร่วงในประเทศไทย ทำให้เชื้ออีโคไลซึ่งอาศัยอยู่ในลำไส้ของคนไทย ถูกรบกวนด้วยยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้อีโคไลพัฒนาการดื้อยาขึ้น จนในขณะนี้ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดกินขนานใดในประเทศไทยใช้รักษาโรคติดเชื้อจาก อีโคไลได้ผลเกินร้อยละ 70 อีกต่อไป

เชื้ออีโคไลมิได้เป็นสาเหตุเฉพาะโรคท้องร่วง แต่ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของโรคติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ เช่นทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และยังเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อในโรงพยาบาลเช่นการติดเชื้อในกระแส เลือด เป็นต้น

การลดการใช้ยาปฏิชีวนะลงเป็นวิธีเดียวที่ใช้ต่อสู้กับปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างได้ผล

เชื้ออีโคไลมรณะ กำลังทำให้ชาวเยอรมันเสียชีวิตเป็นจำนวนไม่น้อยอยู่ในขณะนี้ แต่เชื้ออีโคไลดื้อยาในประเทศไทย รวมทั้งแบคทีเรียดื้อยาอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิด เป็นมหันตภัยที่กำลังคุกคามสุขภาพและชีวิตของประชาชนไทยอยู่ทุกวินาที พวกเรากลับรับรู้เรื่องราวใกล้ตัวได้น้อยกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแดนไกล และยังคงใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อกันอยู่ต่อไป

ตื่นเถิดชาวไทย อย่ามัวหลับใหล...........หากมัวหลับมัวหลง เราก็คงมลาย....


******************************************************************************************