
วันที่ : 8 มิถุนายน 2554
ที่มา :
www.manager.co.th
ลิงค์ : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000069661
อย.เตรียม
ทบทวนตำรับยาสามัญประจำบ้าน เตือนร้านใดขายยาผิดประเภท มีโทษหนัก
แนะประชาชนควรซื้อยาที่มีเภสัช ประจำการในร้าน ปลอดภัยกว่า
หลังจากที่พบว่ามีการขายยาในร้านขายของชำนั้น
ล่าสุด ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผู้อำนวยการสำนักยา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กล่าวถึงแนวทางการควบคุมการขายยาว่า
จากการที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องปัญหาการขายยาผิดประเภทในร้านขายของชำโดย
เฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้นแม้ อย.จะมีการควบคุมอย่างชัดเจนและตรวจจับเป็นประจำ
รวมทั้งมีการกำหนดประเภท ชนิดของยา และมีกฎเกณฑ์ในการขายยาไว้
ก็ยังพบว่ามีปัญหาอยู่บ้าง ทั้งนี้สำหรับยาที่อย.อนุญาตให้ขายในร้านขายของชำได้
มีเพียงยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น เพราะผ่านการพิจารณาแล้วว่า
ผลกระทบที่เป็นอันตรายต่ำ ซึ่งยาประเภทดังกล่าว จะต้องเขียนไว้บนผลิตภัณฑ์ในกรอบสีเขียว
ว่า ยาสามัญประจำบ้าน ส่วนยาควบคุม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยาปฏิชีวนะ
จะต้องขายในร้านขายยาที่มีเภสัชกรเท่านั้น หรือ ยาควบคุมพิเศษ
จะเป็นยาที่ต้องมี่ใบสั่งแพทย์เท่านั้น
ภก.วินิต
กล่าวต่อว่า ขณะ นี้คณะอนุกรรมการยากำลังมีการพิจารณาทบทวนชนิดของยาสามัญประจำบ้านใหม่
และจะออกเป็นประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยาแผนปัจจุบัน
ที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีอยู่ประมาณ 30 กว่าชนิด
ส่วนยาแผนโบราณที่เป็นยาสามัญประจำบ้าน มีประมาณ 25 ตำรับ
การพิจารณาทบทวนชนิดของยาสามัญประจำบ้าน จะเป็นการตัดยาบางชนิดที่ปัจจุบันอาจพบว่ามีผลข้างเคียง
หรือ เพิ่มยาบางชนิดที่พิสูจน์แล้วว่าไม่มีผลข้างเคียงสูง ซึ่งยาสามัญประจำบ้าน
จะเป็นยาเพื่อใช้รักษาโรคทั่วๆไป เช่น วิงเวียน ปวดศรีษะ โรคทางเดินอาหารเป็นต้น
คาดว่าการทบทวนดังกล่าวจะทยอยออกเป็นประกาศเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า
ผู้อำนวยการสำนักยา
กล่าวด้วยว่า หากพบว่ามีการละเมิดขายยาผิดประเภทจากที่กำหนด เช่น ขายยาปฏิชีวนะ
ในร้านขายของชำ จะมีความผิดฐานขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ถ้า
เป็นยาแผนปัจจุบันมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
หากเป็นยาแผนโบราณ มีความผิด จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 5 พันบาท
และหากตรวจพบว่าเป็นยาอันตรายที่ควบคุมพิเศษ
จะมีการเอาผิดไปยังผู้ผลิตที่ขายยาให้แก่ร้านค้าด้วย
เพราะยาเหล่านี้จะกำหนดว่าต้องขายให้แก่ผู้มีใบอนุญาตเท่านั้น
ซึ่งอยากเตือนประชาชน ว่า หากต้องใช้ยา โดยเฉพาะการรักษาโรคที่รุนแรง เช่น
ยาปฏิชีวนะ หรือ เบาหวาน ความดัน ให้ซื้อยาจากร้านที่มีเภสัชกร หรือ
ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเพื่อความปลอดภัย
Keywords: อย,
ร้านขายของชำ, ร้านขายยา, เภสัชกร, ทบทวน, ตำรับยาสามัญประจำบ้าน
|