search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6529247
การเปิดหน้าเว็บ:9373270
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  “หวัด” เป็นได้ หายได้...ไม่ง้อยาปฏิชีวนะ
  05 สิงหาคม 2554
 
 


วันที่: 15 สิงหาคม 2554
ที่มา: เว็บไซต์ สสส.
ลิงค์: www.thaihealth.or.th/healthcontent/special_report/23858

ฝนตกทีไร บรรดาคุณแม่เป็นกังวล คอยพร่ำบอกให้ลูกระมัดระวังหลบสายฝนที่โปรยปรายมาจากฟ้า เพราะเป็นห่วงว่าจะเจ็บป่วยเพราะ “หวัด”ถามหา และเมื่อเป็นหวัด สิ่งที่ผู้คนส่วนใหญ่มักปฏิบัติกัน คือ ไปหาเภสัชกรหรือ “หมอตี๋” หน้าปากซอยเพื่อซื้อยามากินเอง คนไข้บางรายร้องขอ “ยาแก้อักเสบ” เพื่อรักษาอาการเจ็บคอมากินเองมากเกินความจำเป็น ทั้งๆ ที่อาการไข้หวัดธรรมดา ไม่ต้องรักษาหรือกินยากันยกใหญ่ก็หายได้เหมือนกัน

“หวัด” เป็นได้ หายได้...ไม่ง้อยาปฏิชีวนะ

นพ.กำธร มาลาธรรมคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในขณะนี้ว่า ปัจจุบันนี้พบผู้ป่วยส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด H3N2 ซึ่งเป็นการป่วยด้วยอาการไข้หวัดธรรมดา ซึ่งปรากฏพบได้ในทุกฤดูกาล ขณะเดียวกันเมื่อผู้ป่วยเป็นไข้หวัด จะมีทั้งรายที่ไปพบแพทย์และซื้อยากินเองตามร้านขายยา และมักได้รับยาปฏิชีวนะในการรักษาโดยไม่จำเป็น โดยมีทั้งแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งยาให้ และผู้ป่วยร้องขอ ทำให้เกิดภาวะดื้อยาจำนวนมาก เพราะเกิดการใช้ยาเกินความจำเป็น

ดังนั้น เมื่อป่วยเป็นไข้หวัดธรรมดา ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง อาจใช้การรักษาตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ถ้าแน่ใจว่าเป็นไข้หวัดธรรมดาก็ควรเลือกวิธีการพักผ่อนให้มากขึ้น ดื่มน้ำมากๆ และกินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด หรือหากผู้ป่วยเป็นเด็ก ก็ใช้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อมครั้งละ ครึ่ง-2 ช้อนชาตามอายุ แต่ถ้ายังมีไข้ให้กินซ้ำได้ทุกๆ 4-6 ชั่วโมง โดยส่วนมากอาการไข้จะลดลงภายใน 3-4 วัน ส่วนยาอื่นๆ ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาไข้หวัด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ซึ่งไม่มี ความจำเป็นในการรักษาไข้หวัดแต่อย่างใด เพราะไม่ได้กำจัดเชื้อหวัด และไวรัสทุกชนิด แต่ยานี้จะมีประโยชน์ต่อเมื่อมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปแทรกซ้อนภายหลัง ซึ่งจะสังเกตได้จากน้ำมูกหรือเสมหะที่เคยใสจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือสีเขียว ดังนั้น ถ้าพบว่าเป็นหวัด น้ำมูกใส เสมหะขาวไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าน้ำมูกหรือเสมหะเหลืองหรือเขียวจึงค่อยให้ยาปฏิชีวนะ หรือสังเกตจากอาการเจ็บคอ หากพบตุ่มหนองสีขาวในลำคอก็ควรพบแพทย์ เพื่อได้รับการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างละเอียด อย่าซื้อยามากินเอง

ขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในบ้านเรามีมากเกินความจำเป็น จนต้องมีสัญญาณจากแพทย์ เภสัชกร นักวิชาการออกมาเตือนเป็นระยะ ๆ  โดย ผศ.ภญ.นิ ยดา เกียรติยิ่งอังศุลีผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกการเฝ้า ระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ ทำงานคลุกคลีและมีความเชี่ยวชาญเรื่องของภาวะการดื้อยาเล่าว่า ปัจจุบันพบมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาอาการไข้หวัดเกินความจำเป็น จนเกิดภาวะดื้อยา โดยไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าถึง 20%ของยาทั้งหมด หรือราว 20,000ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งสาเหตุของการเกิดเชื้อดื้อยามาจากพฤติกรรมการใช้ยาของผู้ป่วย ที่มีการซื้อยามากินเองโดยไม่จำเป็น และกินไม่ครบตามจำนวนที่เหมาะสมกับการรักษาโรค หรือใช้ยาขนาดที่แรงเกินไป เนื่องจากไม่ได้ปรึกษาเภสัชกร ส่งผลให้เชื้อโรคดื้อยาอย่างรวดเร็วขึ้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณเตือนที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ยา ผศ.ภญ.นิยดา กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2554จะมีการประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาระบบยาประจำปี 2554 เรื่อง การขับเคลื่อนระบบยา : ภารกิจร่วม กพย.และเครือข่าย ที่ห้องกษัตริย์ศึก 2 โรงแรมทวินเทาวเวอร์ กทม. ที่จะเป็นการอภิปรายและนำเสนอสถานการณ์การใช้ยาที่เหมาะสม สภาพปัญหาการใช้ยาในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง นอกจากนี้หัวใจสำคัญคือการเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510โดยภาควิชาการ ให้มีความเป็นปัจจุบันมากขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญต่อผู้บริโภคมากขึ้นด้วย เช่น เรื่องการส่งเสริมการขาย โทษของการโฆษณาการใช้ยาต่างๆ และการขึ้นทะเบียนยาและการทบทวนตำรับยา เป็นต้น ทั้งนี้ในวันงานจะมีการเปิดรับร่วมลงชื่อสนับสนุนร่างดังกล่าวให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอต่อสภาฯ โดยขณะนี้มีรายชื่อผู้สนับสนุนแล้วจำนวน 8,000 รายชื่อ

“พ.ร.บ.ยาฉบับ 2510 เป็น พ.ร.บ.ยาที่ล้าสมัย เราอยากให้มีการปรับแก้ให้ทันกับความก้าวหน้าในปัจจุบัน ทั้งเรื่องโทษต่างๆ การขึ้นทะเบียนยา และเสนอให้มีกองทุนพัฒนาวิจัยให้ความช่วยเหลือผู้มีปัญหากับอาการไม่พึง ประสงค์กับยา เพราะเราพบกรณีปัญหาของผู้ได้รับผลกระทบ ที่เกิดอาการแพ้ยาเพราะความรู้ไม่เท่าถึงการณ์ของชาวบ้านผู้ใช้ยา ที่ผ่านมาจะเป็นการช่วยเหลือกันในลักษณะเฉพาะกิจ ใช้ความมีน้ำใจช่วยๆ กันไป ซึ่งหากเรามีกองทุนดังกล่าวจะเป็นการช่วยเหลือพวกเขาอย่างเต็มที่ มากกว่า”ผศ.ภญ.นิยดากล่าว 

แม้วันนี้ผู้ใช้ยาที่ เป็นคนทั่วไป ไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์อาจจะยังมองไม่ออกหรือไม่เข้าใจกับเรื่องการดื้อยา แต่สิ่งสำคัญคือ การใช้ยา อย่าซื้อยากินเอง โดยไม่ปรึกษาผู้รู้ เพราะการวินิจฉัยโรคและเลือกยากินเอง อาจไม่ตรงกับอาการของโรคแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก โดยเฉพาะอาการไข้หวัดที่มักมาพร้อมกับหน้าฝนแบบนี้ ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อยหายเองได้ ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์ เพราะ “ยา” อาจไม่เป็นคำตอบสำหรับการเจ็บป่วยเสมอไปก็เป็นได้


เรื่องโดย: สุนันทา สุขสุมิตร Teamcontent www.thaihealth.or.th