search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6514803
การเปิดหน้าเว็บ:9357784
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ข้าราชการ"เบาหวาน"เสี่ยงเดี้ยง เหตุแพทย์กระหน่ำจ่ายยา Rosiglitazone
  11 พฤศจิกายน 2553 ดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็มที่นี่
 
 


โพสต์ทูเดย์  วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553

“บัญชียาหลักแห่งชาติ” ได้ประกาศถอน Rosiglitazone ออกไปแล้ว เนื่องจากมีผลการศึกษาอ้างอิงได้ว่า “เพิ่มความเสี่ยง” แก่ชีวิตของผู้ใช้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ หลายโรงพยาบาลยังมีการใช้ยาชนิดนี้อยู่   

โดย ธนวัฒน์  เพ็ชรล่อเหลียน  

ด้วยระบบ “สวัสดิการข้าราชการ” เอื้อให้โรงพยาบาลสามารถเบิก “ค่ายา” จากกรมบัญชีกลางได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักสั่งจ่ายยาราคาแพงให้แก่คนไข้ คำถามคือยาเหล่านั้นเหมาะสมต่อโรคจริง หรือเพียงเพื่อหวังผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น

ที่น่าสนใจคือผู้ป่วย “โรคเบาหวาน” ที่ปัจจุบันมียารักษาหลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือยา Rosiglitazone ซึ่งเป็น “ยาขนานแรง” และต้องใช้ตามขั้นตอน คือต้องใช้ยาชนิดอื่นซึ่งมีขนานเบาก่อน แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้นจึงต้องเพิ่มขนานยา โดยยา Rosiglitazone ถือเป็นยาแรงขนานสุดท้าย ก่อนจะข้ามขั้นไปถึงการ “ฉีดอินซูลิน”

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ “บัญชียาหลักแห่งชาติ” ได้ประกาศถอน Rosiglitazone ออกไปแล้ว เนื่องจากมีผลการศึกษาอ้างอิงได้ว่า “เพิ่มความเสี่ยง” แก่ชีวิตของผู้ใช้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ หลายโรงพยาบาลยังมีการใช้ยาชนิดนี้อยู่       

ภญ.วรสุดา ยูงทอง สำนักงานประสานการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ กองควบคุมยา อธิบายถึงสาเหตุที่บัญชียาหลักแห่งชาติไม่บรรจุยาเบาหวาน Rosiglitazone ไว้ว่า บัญชียาหลักแห่งชาติแบ่งยาออกเป็น 4 ระดับ คือ ก. ข. ค. ง. ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสมตามสภาพโรค โดยเดิมทียารักษาเบาหวานชนิด ง. (กลุ่มThiazolidinediones ใช้ตามแพทย์สั่ง) มีบรรจุไว้ 2 ชนิด คือ Pioglitazone และ Rosiglitazone   

แต่จากข้อมูลเมื่อปี 2550 พบว่ายา Rosiglitazone มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย คือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนี้ยังต้องรับประทานวันละ 2 ครั้ง ซึ่งจะมีปัญหาด้านความร่วมมือของผู้ป่วย และยาชนิดนี้มีผลช่วยเหลือผู้ป่วยเรื่องไขมันได้น้อยกว่ายาอีกชนิด เป็นเหตุให้ต้องถอน Rosiglitazone ออกจากบัญชียาหลักแห่งชาติ จนเหลือเพียง Pioglitazone อย่างเดียว

“ผู้ที่ใช้ยา Rosiglitazone จะมีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยมีความเสี่ยงเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพันสูงกว่าผู้ป่วยทั่วไปถึง 1.43 เท่า นอกจากนี้ยังทำให้เสี่ยงต่อการกระดูกแตกในเพศหญิงด้วย” ภญ.วรสุดา ระบุ

ภก.ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าว่า เมื่อปี 2548 ได้ทำการศึกษาความคุ้มค่าระหว่างยา Pioglitazone และ Rosiglitazone พบว่าทั้ง 2 ชนิด สามารถควบคุมน้ำตาลได้ใกล้เคียงกัน ส่วนผลการเพิ่มของไขมันดีคือ 4.55 และ 2.71 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้เป็นเพียงการศึกษาการใช้ยาระยะสั้นเท่านั้น จึงได้ประมาณการณ์จากฐานข้อมูลระยะสั้น เพื่อคะเนผลการใช้ยาระยะยาว

“พบว่าหากใช้ยา Pioglitazone ระยะยาวจะทำให้โอกาสการเกิดรคหัวใจลดน้อยลง และมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าผู้ใช้ Rosiglitazone ประมาณ 0.14 ปี จึงมีความคุ้มค่าในการใช้”ภก.ณธร ชี้แจง

แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการยกเลิกยา Rosiglitazone ออกจากบัญชียาหลักไปแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ยา Rosiglitazone มักจะถูกนำมาใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดแก่ผู้มีอาการรุนแรง ซึ่งกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการได้รับยามากที่สุดคือผู้ที่ประกันตนอยู่ในระบบ “สวัสดิการข้าราชการ”

ภญ.ปัทมา ตัณฑวิวัฒน์ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เปิดเผยข้อมูลว่า ได้ไปเก็บรวบรวมข้อมูลในโรงพยาบาลสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 7 แห่ง พบว่า มีเพียง 1 แห่งที่เพิกถอนยาออกไป และข้อมูลชี้ชัดว่าผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการและคนไข้ชำระเงินเองมักจะได้รับการสั่งยา Rosiglitazone ให้ แต่จะไม่ใช้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เนื่องจากมีราคาแพง

ทั้งนี้ ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2551 2552 และ 2553 พบว่าผู้ใช้สิทธิการรักษาสวัสดิการข้าราชการใช้ยา Rosiglitazone 29,003 เม็ด 36,121 เม็ด และ 37,057 เม็ด ตามลำดับ ในขณะที่สิทธิบัตรทองใช้ยา 4,386 เม็ด 200 เม็ด และ 275 เม็ด ตามลำดับ ส่วนสิทธิประกันสังคมใช้ยา 1,615 เม็ด 210 เม็ด และ 150 เม็ด ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการสั่งใช้ยา พบว่าระบบสวัสดิการข้าราชการจ่ายถึง 3 ล้านบาท 3.7 ล้านบาท และ 4 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ระบบสิทธิอื่นๆ ไม่เกิน 5 แสนบาทในแต่ละปี

นอกจากนี้ การศึกษาวิธีการใช้ยาของผู้ป่วยจากระดับน้ำตาลในเลือด พบว่ามีผู้ป่วยที่ใช้ยาเบื้องต้นคือ ชนิด ก. แล้วกระโดดข้ามมาชนิด ง. โดยไม่ผ่านยาชนิด ข. และ ค. เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ข้อมูลที่เก็บจาก 2 โรงพยาบาล พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานใหม่จำนวน 87 ราย ทั้งนี้มีถึง 55 ราย ที่ใช้ยาข้ามขั้น 

“ภาพรวมของคนไข้ระบบข้าราชการทั้งหมด ใน 5 คน จะใช้ยาถูกขั้นตอนเพียง 1 คนเท่านั้น”ภญ.ปัทมาฉายภาพความเสี่ยง

ภญ.วิมล สุวรรณเกษาวงษ์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บอกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทาง อย.มีการออกจดหมายเตือนอันตรายแล้วถึง 5 ฉบับ แต่ด้วยขณะนั้นข้อมูลยังไม่ชัดเจน อย.จึงไม่สามารถออกมาตรการทางกฎหมายใดๆ ได้ กระทั่งล่วงเข้ากว่า 1 ปี จึงสามารถเสนอขอให้แก้ไขเอกสารกำกับยาและขอให้มีการแจ้งคำเตือนทางกฎหมายได้ ล่าสุดคณะกรรมการยาได้สั่งแขวนทะเบียนตำรับยาชนิดนี้ไว้ และทราบว่าบริษัทยายินดีที่จะถอนยาชนิดนี้ออกจากท้องตลาดแล้ว

แม้ว่ายา Rosiglitazone จะไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่โรงพยาบาลต่างๆ ก็ยังฉวยใช้ได้ เนื่องจากอำนาจของโรงพยาบาลสามารถเลือกใช้ยาได้ทั้งในและนอกบัญชียาหลัก

ยังผลให้ “ความเสี่ยง” ของคนไทยทอดยาวออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด