search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6534037
การเปิดหน้าเว็บ:9378522
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  มูลนิธิวัคซีนฯ รุกรณรงค์คุณค่าวัคซีน นำร่องโรต้าที่สุโขทัย 1 ต.ค.
  19 กันยายน 2554
 
 


วันที่: 19 กันยายน 2554
ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000119318

มูลนิธิวัคซีนฯ รุกรณรงค์ให้ประชาชนเห็นคุณค่าวัคซีน   คร.เผย พร้อมทำโครงการสาธิตวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า อุจจาระร่วงในเด็ก นำร่อง จ.สุโขทัย  1 ต.ค.นี้

      วันนี้ (19 ก.ย.)  นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์  อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวในการเปิดงานกิจกรรมรณรงค์คุณค่าของวัคซีนเพื่อประชาชน ครั้งที่ 1 ภายใต้แนวคิด “วัคซีนเสริมรัก สร้างรอยยิ้ม” เพื่อรณรงค์ให้คนไทยตระหนักถึงการป้องกันก่อนเกิดโรค และเห็นคุณค่าของวัคซีนต่อการป้องกันโรค  ที่จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ  มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน  6 องค์กรแพทย์ อย่าง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และชมรมควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ว่า   นอกจากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องวัคซีนแล้ว  กรมฯได้ให้ความสำคัญถึงการพิจารณาเพิ่มชนิดของวัคซีนใหม่ๆ เข้าไปบรรจุในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติด้วย เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงปลอดโรค

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดี คร.และรองประธานกรรมการมูลนิธิวัคซีนฯ กล่าวว่า ขณะนี้ คร.ภายใต้คำแนะนำของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคแห่งชาติเตรียมทำ โครงการสาธิต “วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า” (Rotavirus) หรือวัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงในเด็ก โดยจะศึกษาความคุ้มค่าในการป้องกันจริง เพื่อนำมาบรรจุเป็นวัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เนื่องจากการจะนำวัคซีนใดๆมาบรรจุในชุดวัคซีนพื้นฐานจำเป็นต้องผ่านโครงการ สาธิตก่อน แม้วัคซีนดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยแล้วก็ตาม ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะนำร่องในจังหวัดสุโขทัย โดยจะให้วัคซีนในเด็กอายุระหว่าง 2-4 เดือน จำนวน 5,000 คน ภายในเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณปีละ 4 ล้านบาท ซึ่งจะเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป สำหรับการเลือกพื้นที่สุโขทัย เนื่องจากมีความพร้อมหลายด้านทั้งโรงพยาบาล กลุ่มประชากรเด็ก จำนวนเข้าร่วมโครงการ มีความพร้อมที่สุด

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า การเลือกวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า เนื่องจากที่ผ่านมาโรคอุจาระร่วงในเด็กเป็นปัญหาสำคัญ โดยแต่ละปีมีเด็กป่วยโรคนี้กว่าแสนราย ซึ่งร้อยละ 70 มาจากไวรัสโรต้า โดยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้ ซึ่งไวรัสชนิดนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ ซึ่งอาการส่วนใหญ่จะมีไข้ต่ำๆ ไปจนสูง ถ่ายเหลว หากถ่ายมากอาจถึงขั้นช็อคและเสียชีวิตได้ แต่ปัญหา คือ พ่อแม่มักไม่สังเกตอาการ ทำให้พบแพทย์ไม่ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การป้องกันที่ดีที่สุด ควรให้วัคซีน ซึ่งปัจจุบันเป็นแบบหยอดมีทั้งปีละ 2 ครั้ง และปีละ 3 ครั้ง ซึ่งแต่ละชนิดจะแตกต่างกันที่ตัวเชื้อ และราคา โดยวัคซีนไวรัสโรต้าชนิดหยอด 2 ครั้ง จะมีราคาถูกกว่าราว 200 บาท ขณะที่วัคซีนชนิดหยอด 3 ครั้งจะมีราคาแพงกว่าร่วมพันบาท ซึ่งปัจจุบันจะรับได้ในโรงพยาบาลเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่หากมีการบรรจุเข้าในวัคซีนพื้นฐาน ไม่ว่าจะใช้ชนิดใดย่อมถูกกว่าแน่นอน

 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าวว่า โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เป็นปัญหาของทั่วโลก พบว่า ทุกๆ 1 นาที มีทารกทั่วโลกเสียชีวิตด้วยโรคนี้ 1 ราย โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ 1 ใน 10 จะมีโอกาสติดเชื้อนี้สูงถึง 5 ครั้ง สำหรับไทยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ทุกๆ 8 คนจะมี 1 คนป่วย 

อนึ่ง ภายในงานมีการเปิดตัวแอปพลิเคชันสมุดวัคซีนบนมือถือ “Vaccine Application book” ครั้งแรกของไทย โดยแอปฯดังกล่าวจะเป็นการบันทึกข้อมูลการรับวัคซีนของลูก ซึ่งจะช่วยให้สะดวกสบาย ง่ายต่อการจดจำ ทั้งนี้ จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมดาวน์โหลดฟรีผ่าน App store หรือ Android Market ได้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ สามารถใช้กับโทรศัพท์ระบบ IOS และ Android