search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6562782
การเปิดหน้าเว็บ:9409084
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ผู้แทนยา - ปิดยอดให้ได้ อะไรก็ทำ
  29 กันยายน 2554
 
 


ผู้เขียน: สุภาพร ศรีตระกูลรัตน์
ที่มา: นิตยสาร ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 124, มิถุนายน 2554
ลิงค์: www.chaladsue.com/index.php?option=com_content&view=article&id=901


7.30 นาฬิกา “กวาง” หญิงสาวบุคลิกดี แต่งตัวสวย ท่าทางมั่นใจถือถุงบรรจุแก้วกาแฟเดินเข้าไปในห้องตรวจโรคแผนกอายุรกรรม วางแก้วกาแฟลงบนโต๊ะพร้อมห่อกระดาษทิชชูที่มีชื่อยาของบริษัทเธอไว้ข้างๆ เพื่อให้แพทย์รู้ว่าใครเป็นผู้มี “น้ำใจ” หลังจากนั้นก็มายืนที่บริเวณทางเดินไปห้องตรวจโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อคอย“รีมายด์” หรือบอกชื่อยาของบริษัทพร้อมทั้งสรรพคุณสั้นๆ ว่ายาของเธอดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งอย่างไรแก่แพทย์ที่เดินผ่านไปมา

ถุงกระดาษประทับชื่อยาที่วางอยู่บน พื้นเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกที่ประทับชื่อยาหรือชื่อบริษัท เช่น ปากกา เครื่องคิดเลข กระดาษทิชชู สมุด ไดอารี เพื่อใช้เป็นกุญแจนำเข้าบทสนทนาและให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อยา ไม่นับรวมช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เธอต้องหอบถุงกระดาษบรรจุของขวัญเพื่อมากำนัลแก่แพทย์ หวังให้เกิดความประทับใจและส่งผลให้ช่วยใช้ยาที่เธอขาย

ผู้แทนยา” คืออาชีพของเธอ อาชีพที่หนุ่มสาวหลายคนอยากจะเข้ามาทำ เนื่องจากอิสระ ไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้า “ปิด ยอด” หรือทำได้ถึงเป้าของบริษัทเร็ว เดือนนั้นก็ไม่ต้องไปทำงานเลยก็ได้ และที่สำคัญเงินเดือนดี ผู้แทนยาน้องใหม่บางคนหากขยันก็ทำเงินค่าคอมมิชชันได้ถึงหลักแสนในเดือนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาทำอาชีพนี้ได้ เพราะต้องมีบุคลิกและหน้าตาดี ถ้าให้ง่ายก็บวกเส้นสายอีกนิดหน่อย ส่วนกวางเข้ามาทำงานนี้ได้เพราะรุ่นพี่แนะนำให้ ส่วนจะเรียนจบเภสัชศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์มาหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพผู้แทนยาคือ ต้อง“คุย” กับแพทย์รู้เรื่อง

ไม่นานนักแพทย์ก็เริ่มทยอยกันเดินผ่าน ทางเดิน ด้วยความที่แพทย์มีเวลาแค่เล็กน้อย ประกอบกับเพื่อนร่วมอาชีพที่รออยู่บริเวณนั้นมีจำนวนมากเช่นกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถจะหยุดคุยกับผู้แทนยาทุกคนได้ เธอจึงต้องใช้วิธีวิ่งเข้าไปหาแพทย์ ยื่นปากกาให้ รีบรีมายด์สั้นๆ พร้อมทั้งประโยคสำคัญ

อาจารย์ขา ฝากยาของหนูด้วยนะคะ

แพทย์พยักหน้า แล้วรีบเดินจากไป เป็นโอกาสของผู้แทนยาหนุ่มสาวที่ยืนรออยู่ข้างหน้า

แม้จะเป็นการกระทำที่ซ้ำๆ ต้องพูดประโยคเดิมๆ ทุกวัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ แต่ผู้แทนยาทุกคนก็รู้ว่าการรีมายด์ยาสำคัญมาก เธอรู้ว่าแพทย์บางคนต้องการเห็นผู้แทนยามาทำงานจึงจะสั่งใช้ยา โดยผู้แทนยาต้องมายืนเรียงแถวให้แพทย์เห็นหน้า เรียกว่า “เช็คชื่อ” โดยเฉพาะยาของสองบริษัทที่เหมือนกัน

หากแพทย์มีเวลาให้เธอสัก 5-10 นาที เธอก็จะเข้าไปคุยให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องยาในห้องตรวจหรือ “ฟูลเป เปอร์” แม้จะน่าอึดอัดเล็กน้อยเพราะคนไข้ที่รอตรวจจะมองเธอด้วยสายตาสงสัย หรือบางคนอาจจะชักสีหน้าด้วยความไม่พอใจที่เธอทำให้ต้องเสียเวลารอ...ทำไง ได้ นี่คืองานของเธอ แต่วันนี้ทุกอย่างช่างวุ่นวาย เพราะเธอต้องไปเตรียมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่ ห้องประชุมอีก

เกือบ 11 นาฬิกาหลังจากที่แพทย์ทุกคนเข้าห้องตรวจ ก็ถือเป็นเวลาพักของพวกผู้แทนยา กวางและเพื่อนร่วมอาชีพเดินไปทานข้าวที่โรงอาหารของโรงพยาบาล นั่งคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานา เธอไม่ลืมที่จะโทรไปสั่งอาหารกล่องของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกลางห้างดัง ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่จะมาบรรยายเรื่องยาอีกครั้ง และภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องบริการแพทย์ซึ่งเป็น “ลูกค้า” เมื่ออยู่ในอาชีพผู้แทนยา

เรื่องธรรมดาในโรงพยาบาล ?

กิจวัตร ประจำวันของผู้แทนยาเช่น “กวาง” เป็นสิ่งที่คุ้นตาและเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้แทนยายังมีความเห็นว่า การอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ เช่น ลงชื่อเข้าประชุมวิชาการ จองห้องพักโรงแรมให้เมื่อมีประชุม ขับรถรับส่งไปประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดเลี้ยงอาหารหรือกาแฟยามเช้า หรือแม้แต่ไปจัดการธุระที่ธนาคารให้แก่แพทย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการแสดงน้ำใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์ช่วยใช้ยา

“มันเหมือนกับเป็นการเซอร์วิส มายด์ค่ะ เหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างแพทย์ในช่วงเวลาที่เขาเร่งรีบ เขาก็ “อ่ะ ไปแบงค์ให้ผมหน่อยซิ” หรือ “ไปส่งผมตรงนี้หน่อย” “ไปส่งสนามบินหน่อย” อันนี้ก็เป็นการเซอร์วิส เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีเวลาหรือกำลังรีบ เพราะว่าหมอเนี่ย เขาจะมีเวลาไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว เขาก็จะไหว้วานเรา เขาอยู่โรงพยาบาล ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี หรือไม่งั้นตอนเย็นเขาจะไปประชุม แล้วบริษัทนี้สนับสนุนวิชาการโดยการลงทะเบียนให้เขา ผู้แทนบริษัทนี้ต้องเซอร์วิสโดยการที่ไปส่งหมอ” ซี ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว

เช่นเดียวกับน้ำ ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติอีกคนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “หมอ บางคนทำงานจนดึก ต้องเข้ามาตรวจคนไข้แต่เช้า ตรวจแต่ละครั้งก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง หมอก็เหนื่อย เพลีย คอแห้ง แล้วก็ไม่มีคนเอาน้ำไปให้ แล้วใครจะทำ เราก็ทำให้เพราะเป็นการแสดงน้ำใจแก่หมอ เรื่องการประชุมบางครั้งต้องให้บริษัทยาลงชื่อเข้าให้ ถึงหมอมีเงินแค่ไหน แต่ถ้าลงเองก็ลงไม่ได้ แล้วหมอก็ต้องทำงานทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปจองห้องพัก สายการบิน เวลาไปเมืองนอก หมอจะรู้ได้ยังไง บริษัทยาก็ต้องทำให้ ส่วนเรื่องการขับรถรับส่ง หมอไม่มีเวลา บางทีเลิกดึก ก็ต้องขับรถไปรับไปส่ง เวลาหมอเดินทาง ขึ้นเครื่องบินแล้วจะเอารถไปไว้ที่ไหน ก็ต้องไปส่งหมอ เป็นน้ำใจ” เธอ กล่าวโดยเน้นย้ำว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” เท่านั้น

สายสัมพันธ์สีเทา

ในความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนยาและ แพทย์ การแสดงถึง “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะยิ่งผู้แทนยาคนไหนแสดง “น้ำใจ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่แพทย์จะใช้ยาของผู้แทนยาคนนั้น ซึ่งถือเป็นการ“แสดงน้ำใจกลับคืน”มากเท่านั้น เช่นที่อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดของโรง พยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า

เราไม่ได้เป็นเบี้ยล่างคนขายยา เราไม่จำเป็นต้องซื้อยาเขา เขาไม่ใช่พ่อแม่ แต่ถ้าเรามีบริษัทยาเข้ามาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีคนมาให้ไม้บรรทัดเรา ไม่ต้องไปซื้อเอง ปากกาไม่ต้องซื้อเอง มีข้าวกินตอนเที่ยง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นความสัมพันธ์แบบวินวิน เขาขายยาได้ แล้วก็ช่วยเราบ้างตามความสมควร”

“ถ้ายาตัวนั้นเข้าโรงพยาบาลแล้ว ผู้แทนยาจะพามาเลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม พอยาเข้าโรงพยาบาลมันจะมีส่วนลด ส่วนเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาจะเอาส่วนลดเปอร์เซ็นต์นี้มาเลี้ยงข้าวพวกหมอผู้ใช้ยา คล้ายๆ กับเป็นการตอบแทนที่ใช้ยาเขา อะไรทำนองนี้” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้ออีกคนในโรงพยาบาลเดียวกันกล่าว แต่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลในโรงเรียน แพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้แทนยากล่าวว่า

“ผู้แทนยาจะยืนเกะกะตามทางเดินก่อนถึงห้องตรวจคนไข้ คอยยื่นเอกสารและของแจกพร้อมโฆษณากับแพทย์ว่าอย่าลืมช่วยใช้ยาเขาเป็นที่ เอิกเกริก คนไข้ที่นั่งรอก็เห็นกันทั้งนั้น คอยวิ่งตามลงบันไดเพื่อโฆษณาและรีบยัดของฝากใส่มือแพทย์ ชาวบ้านที่เห็น เขาใช้คำว่า นอกจากเกะกะกีดขวางแล้ว ยังทำตัวน่าเกลียดมาก เหมือนเปรตมารอขอส่วนบุญเป็นโขยง”

ที่มากกว่านั้น แพทย์หญิงคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เท่าที่ได้ยินเรื่องหมอหนุ่มกับผู้ แทนสาวมีเรื่อยๆ เช่น ผู้แทนต้องการให้ยาตัวเองทำยอดให้ได้ภายในเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกออกหรือตัดเงินเดือน ทำให้ต้องยอมทำอย่างไรก็ได้ให้แพทย์ยอมใช้ยาของตัวเอง เพื่อให้ยอดขึ้น บางรายก็ยอมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับยอดการใช้ยา อันนี้ยังมีอยู่ให้ได้ยินและเป็นที่รู้กันในบางรายที่ทำเป็นประจำ”

จะเห็นได้ว่าผู้แทนยาพยายามทำสิ่ง ต่างๆ ให้แก่แพทย์ เพื่อให้เกิด “ความคุ้นเคย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนยาหวังให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลให้แพทย์ “ช่วย” ใช้ยา
“หมอใช้ยาโดยเสน่หาอยู่แล้ว ถ้ายาเหมือนกัน สรรพคุณเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกสั่งยากับผู้แทนยาที่มามีน้ำใจ ช่วยเหลือ กับคนที่ไม่ทำอะไรให้เลย จะเลือกใครล่ะ” พลอย ผู้แทนยาสาวที่ทำงานกับบริษัทยาต่างชาติมากว่าสิบปีกล่าว

เช่นเดียวกับความเห็นของปลา ผู้แทนยาจากบริษัทต่างชาติอีกคน “บางทียามันเข้าในโรงพยาบาลทีนึงหลายตัว แต่หมอสามารถใช้ตัวไหนก็ได้ ถ้าเขาเห็นเรา ตอนเย็นเราไปนั่งรอ เขาเห็นความขยันของเราปุ๊บเนี่ยนะ มีผล คือหมอเขาจะช่วยใช้ยาของเรามากขึ้น นึกถึงยาเราก่อน เขาเรียกว่าความขยัน ความเห็นอกเห็นใจ เหมือนกับความสัมพันธ์ อะไรอย่างนี้”

แพทย์ผู้สั่งยาก็มีความเห็นไปในทำนอง เดียวกัน โดยนายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ ความเห็นสั้นๆ ว่า “ใครมาบ่อยก็ใช้ของเขา ใครไม่มาก็ไม่ใช้ของเขา” หรือความเห็นจากนายแพทย์อีกคนในแผนกเดียวกัน “ผู้แทนยาคนไหนที่ เข้ามาประจำ เราคุ้นเคยไง เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย คนหนึ่งนานๆ โผล่หน้ามาที ทั้งที่ยาดีกว่าแต่ว่าเราไม่คุ้นเคย เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นความสม่ำเสมอมีผลต่อยอดของยา”
“ก็มีผลสิ จะเลือกยาของคนที่คุ้นเคยมากกว่า มีผลนะ ชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นว่าเห็นคนนี้แล้วเป็นคะแนนสงสารหรืออะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาที่เราเห็นคนนี้ ก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ ถูกไหม สัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ พอเวลาเราเจอคนไข้ปุ๊บ เราก็จะนึกถึงอันนี้ก่อน เช่น คนไข้คนนี้เหมาะกับยากลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้มีสามตัว เรานึกอะไรได้ก่อนล่ะ ความเคยชินเราชินอะไรก่อน ก็คืออันนั้นแหละ” แพทย์หญิงแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว

ส่วนแพทย์หญิงภาควิชาอายุศาสตร์ของโรง พยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า “มีบางครั้งที่ผู้ แทนยาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเกินไปนิดนึง หรือวางตัวแบบ...ถ้าใช้คำว่าเสมอมันก็น่าเกลียดไปเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้น ทำตัวสนิทสนมจนเกินไป มันก็มีบ้าง”

หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลในโรงเรียน แพทย์ที่ทำงานมากว่า 20 ปีให้ความเห็นว่า “ผู้แทนยานำเสนอในลักษณะ ที่ตื้อเหลือเกิน มันไม่ได้เป็นการขายของทั่วไป มันไม่ได้ขายของที่ใช้สำหรับส่วนตัวที่คุณจะต้องมาตื้อหรือว่าอะไร เพราะจริงๆ มันน่าจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องใช้กลยุทธพวกนี้มากนัก และส่วนตัวมองว่าผู้แทนยาก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอยาที่เกินบทบาทของผู้แทนมาก ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย อย่างเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ที่นำเสนอยามันไม่จำเป็นต้องขนาดนี้ มันยิ่งกว่าแอร์โฮสเตส ยิ่งกว่าอะไรซะอีก นี่มันสวยเหมือนไม่ใช่มาขายยาน่ะ มันไม่ได้พูดกันลักษณะมืออาชีพที่จะมาขายของที่มีคุณประโยชน์ มันใช้กลยุทธอื่นมากเกินไปจนทำให้เราคิดได้ว่ามันไม่น่าจะตรงไปตรงมา เช่นการแต่งกาย หน้าตาที่จะต้องคัด จะต้องสวย และสิ่งของที่เอามานำเสนอที่มากกว่าตัวยา”

บริการยกระดับ “มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว”

นอกจากการกระทำในระดับส่วนตัวแล้ว ผู้แทนยายังเข้าไปให้ผลประโยชน์ในระดับแผนกหรือภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น จัดเลี้ยงให้แพทย์ในภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลช่วงเที่ยง มีประชุมวิชาการย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาโดยผู้แทนยาเอง หรือที่นิยมคือการเชิญอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่ต้องการขายยามา บรรยายให้ฟังว่ายาใหม่ดีอย่างไร มีข้อแนะนำใหม่ๆ ว่าให้เริ่มใช้ยานี้อย่างไร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีข้อจำกัดแน่นอน ขึ้นอยู่กับภาควิชา บางภาควิชาก็จะกำหนดว่าให้มาได้วันใดบ้าง เช่น ทุกวันศุกร์ บางภาควิชาให้มาวันใดก็ได้ เช่น ภาควิชาอายุรกรรมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีสมุดให้ผู้แทนยาลงชื่อขอเลี้ยงอาหารเที่ยง ซึ่งทุกวันจะมีผู้แทนยาลงชื่อเลี้ยงเต็มไปจนถึงปีหน้า

“แต่ละภาควิชา มีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้แทนยาจะขอเข้ามานำเสนอยาโดยแลกเปลี่ยนกับการแจกข้าวประชุม ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวันหรืออาหารว่างตามแต่มื้อ หมอจะได้กินข้าวฟรี โดยเฉพาะภาควิชาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ใช้ยาราคาแพงเป็นประจำ จะมีข้าวกลางวันเจ้าอร่อยกินฟรีตลอด” แพทย์หญิงภาควิชาอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว

ดาว ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติเล่าว่า “จะมีการประชุม ซึ่งทางเราจะมีการสนับสนุนให้กับแพทย์ เหมือนอย่างแพทย์จะมีการประชุมตอนเช้า ส่วนใหญ่เกือบทุกที่จะมีการเรียนการสอนโดยแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์ซึ่งจบ เฉพาะทางแล้ว เขาจะมาสอนเด็กกันตอนเช้า ซึ่งเด็กนี่จะเป็นพวกเรสิเดนท์ที่มาจากนักศึกษาแพทย์เทิร์นขึ้นมาเรียนเฉพาะ ทาง ก็จะมีการสอนกันตอนเช้า ทางเราก็จะมีการสนับสนุนวิชาการ โดยอาจจะมีการจัดประชุมให้โดยการสนับสนุนพวกเอกสาร ห้องประชุม อาหารเช้า อะไรอย่างนี้”

“นอกจากงบของโรงพยาบาลและงบ ประมาณแผ่นดินแล้ว ก็จะมีส่วนของบริษัทยาสนับสนุน เช่น น้ำหรืออาหาร เพราะว่าโดยปกติ งบของทางราชการได้มาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเกิดจะให้ประชาชนหรือคนอื่นเข้ามาเนี่ย ในส่วนค่าอาหารเขาอาจจะจำเป็นต้องจ่ายเอง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ามาเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีเงินสนับสนุนตรงนี้ก็โอเค เป็นเหมือนกับการที่ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว

ส่วนนายแพทย์อีกคนในโรงพยาบาลและแผนกเดียวกันให้ความเห็นว่า “ถ้ายาตัวไหน ที่เข้าโรงพยาบาลแล้วยอดใช้เยอะ ทางบริษัทยาก็จะให้งบสนับสนุนกลุ่มงานหรือสนับสนุนแผนก ไม่ได้ให้เป็นรายส่วนตัว เช่น สมมติว่าแผนกศัลยกรรม ก็ให้งบช่วยเหลืองานปีใหม่ เท่านี้ครับ นอกจากนั้นก็จะมีทางแผนกไปรบกวนบริษัทเขา คือขอเขา เช่นมีงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับยา เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน มีประชุมวิชาการเกี่ยวกับกระดูกพรุน แล้วก็มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับบริษัทนี้อยู่ คือบริษัทยาตัวนี้เกี่ยวข้องอยู่ เราก็ขอไปประชุมได้ไหม ก็มีทั้งในและต่างประเทศ”

ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปช่วยจัดงานเลี้ยงให้กับแผนกเภสัชกรรม “แผนก เภสัชมีคนทำงานหลายคน ใครก็อยากมีโบนัส อยากจัดงานเลี้ยงปีใหม่ แต่โรงพยาบาลรัฐจะเอาเงินมาจากไหน บริษัทยาก็เข้าไปช่วยทำให้” ทราย ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว

ผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วคนไทยจะไปทางไหน

ข้อมูลจากเอกสารหลัก ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่าย ด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสองระบบรวม 57 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีเดียวกันคิดเป็นเงินรวมเพียง 97,700 ล้านบาทเท่านั้น

ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการสั่ง ใช้ยาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นแบบปลายเปิด จ่ายตามเบิก จึงเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ด้วยการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม

มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจหลายทาง เช่น จัดตั้งองค์การอิสระให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดระบบ ตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์การใช้ยาและการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมใน ระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนและภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ และเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่ ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาที่เป็นของแต่ละสถาบัน บังคับใช้ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์ และสถานพยาบาลก็ต้องร่วมผลักดันให้ เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายเป็นหนึ่งในการพิจารณามาตรฐานโรง พยาบาลควบคู่กับเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม เสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ แจ้งรายงานผลการสั่งจ่ายยาที่ผิดปกติเพื่อให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยารับทราบและ แก้ไขปรับปรุงเป็นรายปี โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับความถี่ของการเข้าพบผู้แทนยา

องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของ จริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่ละสาขา ร่วมดำเนินการเผ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดให้มีบทลงโทษหนัก กรณีพบว่ามีส่วนร่วมในขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เช่น การรับ-ให้ของขวัญ ของชำร่วย การเลี้ยงรับรองโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสั่งใช้ยา เป็นต้น และนำมาตรการเชิงบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนการประกอบวิชาชีพตามหลักการใช้ยาที่เหมาะสม

ด้านสื่อมวลชนและภาคีทุกภาคส่วนก็ต้อง ร่วมกันสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลและ สนับสนุนให้เกิดกลไกตั้งแต่การคัดเลือกยา การติดตามและประเมินการใช้ยา สนับสนุนระบบติดตามการใช้ยาภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการใช้ ยาที่เหมาะสม และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรักษา

ส่วนภาคประชาชนสามารถร่วมแก้ปัญหานี้ ได้โดย ร่วมกันสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ให้จัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้า ระวังด้วย จัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของ การดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง

ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้า ระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจัดให้มีงบประมาณเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง

และสุดท้าย สื่อมวลชนมีบทบาทร่วมกับภาคประชาสังคมในการให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริม การใช้ยาที่เหมาะสมและสร้างความเท่าทันต่อขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม

การขายยาจะเทียบกับอาชีพขายของทั่วไป ที่ต้องมีการทำโปรโมชั่นไม่ได้ เพราะยานั้นเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน กินมากไม่ได้แค่ทำให้อ้วนเหมือนกินขนม ใช้มากไม่ได้ทำให้แค่เปลืองเหมือนกระดาษชำระ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ไม่ได้ต่างแค่ความพอใจที่ได้...แต่ผลอาจถึงขั้นเสียชีวิต