search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6515981
การเปิดหน้าเว็บ:9359039
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  สสส.-กพย.จับมือเครือข่ายแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ดันเป็นวาระแห่งชาติ
  03 พฤษภาคม 2554
 
 


วันที่: 3 พฤษภาคม 2554
ที่มา: เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
ลิงค์: www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9540000054525

สสส.-กพย.จับมือภาคีเครือข่าย หารือแนวทางแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ดันเป็นวาระแห่งชาติ ปลุกจิตสำนึกคนไทยตระหนักอย่าซื้อยามากินเอง สธ.เผย เชื้อแบคทีเรียดื้อยาหลายชนิดถึง 50-60% ภายใน 10 ปี ขณะอเมริกา ดื้อยาแค่ 3-4% เหตุต่างชาติเข้มระเบียบเรื่องการซื้อ -ขายยา

วันนี้ (3 พ.ค.) ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กร ReAct, Uppsala Univercity, Sweden จัดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 2 เรื่อง การจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา โดยมีตัวแทนนักวิชาการแพทย์ เภสัชกรจากหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเข้าร่วม

โดยนพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาแห่งชาติ (NARST) พบว่า เชื้อแบคทีเรียหลายชนิดมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มขึ้น ได้แก่ เชื้อ อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ (Acinetobacter baumannii) ดื้อต่อยาหลายชนิดถึง 50-60% โดยเฉพาะดื้อต่อยาคาร์บาพีแนมส์ (carbapenems) ซึ่งเคยมีประสิทธิผลที่ดี แต่ในเวลาเพียง 10 ปี พบการดื้อต่อยานี้สูงขึ้น เป็น 30-60 เท่า (จาก ปี 2543 พบดื้อเพียง 1-2% ต่อมาในปี 2553 ดื้อเพิ่มเป็น 60-62%) และยังพบเชื้อ เอสเชอริเชีย คอโล(Escherichia coli) ดื้อต่อยากลุ่ม แบต้า-แลคแตม (beta-lactam) ถึง 79-80%

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการ กพย. กล่าวว่า กพย.ที่ได้เฝ้าระวังระบบยามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดทำรายงานสถานการณ์ระบบยาประจำปี 2553 เพื่อประมวลสถานการณ์เชื้อดื้อยาและปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะ พบว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เช่น ห้อง ICU ในหลายโรงพยาบาล พบเชื้อดื้อยาถึง 100% และพบเชื้อดื้อยาทั้งในโรงพยาบาลใหญ่ และโรงพยาบาลเล็ก เชื้อดื้อยาที่เป็นปัญหา เช่น อะซินีโตแบคเตอร์ บอมมานนีไอ (Acinetobacter baumannii) ก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระแสเลือด ปอด ทางเดินปัสสาวะ ช่องท้อง เยื่อหุ้มสมอง และแผลผ่าตัด เป็นต้น เมื่อติดเชื้อดื้อยานี้แล้วมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง อัตราการดื้อยาปฏิชีวนะในโรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกับปริมาณการ สั่งใช้ยาปฏิชีวนะ ในภาพรวมของประเทศ กลุ่มยาปฏิชีวนะที่มีมูลค่าการสั่งใช้รวมสูง เป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ คาร์บาพีแนม (carbapenems), เซฟาโลสปอริน(cephalosporins), เพนนิซิลิน (penicillin) และ เอนไซม์ อินฮิบิเตอร์ (penicillins and enzyme inhibitors) พบรายงานมากมายที่ระบุว่าบุคลากรด้านสุขภาพจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมการสั่งหรือ จ่ายยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล

“เหตุที่พบเชื้อดื้อยามาก เป็นเพราะคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจในเรื่องขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีหน่วย งานกลางเป็นผู้กำกับดูแลเรื่องการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยาอย่างเป็นระบบ เหมือนต่างประเทศ ดังนั้นคิดว่าหากมีหน่วยงานเข้ามาโดยตรงก็น่าจะช่วยให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้ ง่ายขึ้น รวมทั้งควรผลักดันการแก้ปัญหาระบบยาและเชื้อดื้อยาให้เป็นวาระแห่งชาติ” ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าว

ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล ผู้อำนวยการแพทย์โครงการฉลาดใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล (ชื่อไม่เป็นทางการ) หรือ Antibiotics Smart Use:ASU กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ความเข้าใจผิดของคนไทยเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในโรคทั่วไปและอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจและอวัยวะใกล้เคียง ท้องร่วงเฉียบพลัน และแผลเลือดออก ซึ่งเชื่อว่า 2 ใน 10 คน ของผู้ป่วยโรคดังกล่าวนั้นมักซื้อยามากินเอง

ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราการดื้อยาเริ่มต้นที่ราว 20-30% ในต่างประเทศที่มีศักยภาพด้านการแพทย์อย่างสหรัฐอเมริกามีแค่ 3-4% เท่านั้น เหตุผลเพราะเมืองไทยมีจุดอ่อนเรื่องการจัดการระบบยามาก คือ เปิดช่องทางให้บริษัทยาจากต่างชาตินำยาเข้ามาขายและมีการเปิดโอกาสให้ร้านยา สามารถจำหน่ายยาปฏิชีวนะอย่างเสรี จนยากจะควบคุม ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสวีเดน ไม่อนุญาตให้ร้านค้าทั่วไปขายยาปฏิชีวนะเลย เว้นแต่เบิกจ่ายในโรงพยาบาลซึ่งควบคุมโดยแพทย์และเภสัชกรเชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะตระหนักเสมอว่า ยานี้เป็นทรัพยากรหายาก และหากเกิดการดื้อยาก็จะรักษาไม่หาย ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ประเทศที่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสมเหตุผลมากที่สุด คือ สิงค์โปร์ นอกนั้นยังคงมีอัตราการใช้แบบฟุ่มเฟือยอยู่ ดังนั้นเรื่องการสร้างความเข้าใจด้วยการเร่งให้ข้อมูลเรื่องใช้ยาอย่างเหมาะ สมจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก

 “หากเทียบปริมาณการใช้ยาปฏิชีวนะของประเทศไทยในสิทธิต่างๆ พบว่า สิทธิข้าราชการมีการเบิกจ่ายยามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง อีกทั้งยังพบว่ากลุ่มนี้มีการเบิกจ่ายยาในระดับแรงและราคาแพงมากกว่ากลุ่ม อื่นด้วย ซึ่งหากเร่งควบคุมเรื่องนี้ได้ คิดว่า น่าจะช่วยแก้ปัญหาการดื้อยาได้อีกทางหนึ่ง” ผศ.นพ.พิสนธิ์ กล่าว