วันที่: 2 พฤษภาคม 2554 ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์ ลิงค์: www.thaipost.net/x-cite/020511/37931
สสส.-กพย.เผย ไทยนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท เข้าสู่สถานการณ์วิกฤติเชื้อดื้อยา หวั่นอนาคตไม่มียาปฏิชีวนะใช้รักษาโรค เตือนพฤติกรรมกินยาไม่ถูกตัวการแพร่เชื้อดื้อยารุนแรง เตรียมจัดประชุมนานาชาติ 3-4 พ.ค.นี้ หาแนวทางแก้ไข
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยมีความเสี่ยงที่เกิดจากการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาขึ้น โดยสถานการณ์เชื้อดื้อยาของประเทศไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะกลุ่มยาปฏิชีวนะ ที่ปัจจุบันมีการคิดค้นยาชนิดใหม่ๆ น้อยลง หากปล่อยให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยามากขึ้น สุดท้ายก็จะไม่มียาใช้รักษาโรคได้ และนำไปสู่ปัญหาการแพร่ระบาดเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาถือเป็นปัญหาที่ทั่วโลกตระหนักและเห็น ความสำคัญอย่างยิ่ง องค์การอนามัยโลก (WHO) ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงได้กำหนดคำขวัญในวันอนามัยโลกปีนี้ว่า "ใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง ป้องกันเชื้อดื้อยา เพื่อการรักษาที่ได้ผล” (Combat drug resistance-No action today, no cure tomorrow)
ผศ.ภญ.ดร.นิยดากล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม คือบุคลากรสุขภาพจำนวนหนึ่งสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น และจ่ายไม่สมเหตุสมผล รวมทั้งประชาชนกินยาเองโดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีการใช้ยาไม่เหมาะสมกับประเภทการเจ็บป่วย กินยาไม่ครบตามที่กำหนด และกินยาที่แรงเกินไป รวมถึงมีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการปศุสัตว์และประมง สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาตามมา เช่น รักษาไม่หาย เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ไทยมีการนำเข้าและผลิตยาปฏิชีวนะสูงเป็นอันดับหนึ่ง มีมูลค่าถึง 20% ของยาทั้งหมด หรือราว 20,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ทั้งนี้ สสส. กพย. ร่วมกับ ReAct จากสวีเดน เตรียมจัดประชุมวิชาการระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องการจัดการปัญหาการดื้อยาและการเฝ้าระวังพัฒนาระบบยา ในวันที่ 3-4 พ.ค.นี้ ที่โรงแรมทวินทาวเวอร์ จะเป็นการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลระหว่างประเทศในภูมิภาค ทบทวนสถานการณ์ สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ภูมิภาค และร่วมกันวางแผนภารกิจที่จะใช้เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา และวางระบบเฝ้าระวังในอนาคต นอกจากนี้ จะมีการแจกรางวัลให้กับผู้ที่ชนะการประกวดสื่อรณรงค์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมด้วย.
|