search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6522850
การเปิดหน้าเว็บ:9366639
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  เตือน ปชช.อย่าซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง หวั่นเชื้ออีโคไลลุกลามดื้อยา
  07 มิถุนายน 2554
 
 


วันที่: 7 มิถุนายน 2554
ที่มา: เว็บไซต์โมเดิร์นไนน์
ลิงค์: www.mcot.net/cfcustom/cache_page/220025.html

กรุงเทพฯ 7 มิ.ย.- กพย.เตือนประชาชนอย่าตื่นตระหนกซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง หวั่นอีโคไลลุกลามเป็นเชื้อดื้อยา วอน สธ.เตรียมแผนรับมือระยะยาว ด้านกรมควบคุมโรคออกคำแนะนำทั้งภาษาไทยและอังกฤษสำหรับผู้เดินทางที่กลับจาก ยุโรป เรื่องโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลชนิดรุนแรง โอ 104

ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดงานแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฝ้าระวังเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่ มีฤทธิ์ทำร้ายผนังลำไส้ และกำลังระบาดในประเทศแถบยุโรป ว่าปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาเชื้อดื้อยาในอัตราสูงมาก เกิดจากการแพร่กระจายยาปฏิชีวนะในชุมชน และบุคลากรทางสาธารณสุขจ่ายยาปฏิชีวนะที่มีระดับความแรงมากขึ้นให้ผู้ป่วย ซึ่งกรณีเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ระบาดนั้น ต้องเฝ้าระวังติดตามว่าเชื้อดังกล่าวมีอันตรายและเป็นเชื้อที่ดื้อต่อยา ปฏิชีวนะหรือไม่ เพราะคนไทยมีพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างพร่ำเพรื่อ จึงมีความเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่จะดื้อยาและมีอันตรายต่อผู้ป่วยมากขึ้น จนเกิดเป็นซูเปอร์บั๊กที่ไม่มียารักษาได้

ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในระยะยาวด้วย ต้องบอกข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับรู้และป้องกันตนเอง พร้อมมีแผนการรับมือทันเหตุการณ์ มีแนวทางป้องกันเชื้อโรคที่มีความรุนแรงในระยะยาว รวมถึงการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งที่ผ่านมา กพย.ได้ร่วมมือกับนิสิต นักศึกษาในสาขาวิชาแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์ จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้กับชุมชนในการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล อย่างไรก็ตาม การตื่นตัวเฝ้าระวังเชื้ออีโคไลสายพันธุ์ใหม่ดังกล่าว เป็นสัญญาณที่ดีกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่าง พร่ำเพรื่อในปัจจุบันนี้ ขอให้สังเกตด้วยว่าหากมีอาการลำไส้อักเสบ ท้องเสีย มีอาการปวดท้องร่วมด้วย ไม่ควรซื้อยามากินเอง และไม่ควรกินยาหยุดถ่าย เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อโรคจะสะสมและแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ด้านกรมควบคุมโรคได้ออกคำแนะนำสำหรับผู้เดินทางที่กลับจากยุโรป เรื่องโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียอีโคไลชนิดรุนแรง โอ 104 (Enterohaemorrhagic E.coli O104) ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยระบุว่าผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศในยุโรป โดยเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งต่อไปนี้ เยอรมนี ออสเตรีย  สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ค เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปแลนด์ สเปน สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ลักเซมเบิร์ก และหลังออกจากประเทศดังกล่าวมีอาการดังต่อไปนี้ข้อใดข้อหนึ่งภายใน 7 วัน เช่นอุจจาระเหลวเป็นน้ำ หรือมีเลือดปน หรือมีมูกเลือดปน หรือสงสัยว่ามีภาวะไตวาย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปริมาณปัสสาวะลดน้อยลงอย่างทันทีทันใด ให้รีบไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลใกล้บ้านท่านทันที หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ณ สนามบินต่อไปนี้ กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่  พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้ทราบ และเพื่อสุขภาพที่ดีควรรับประทานอาหารที่สุก สะอาด และล้างมือบ่อยๆ ก็จะปลอดภัยจากโรคทางเดินอาหารต่างๆ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนำ ผัก พืช ผลไม้จากประเทศดังกล่าวมาบริโภคภายในประเทศไทย หรือถ้าจะรับประทานให้รับประทานโดยปรุงสุก
   
หากมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่โทรศัพท์ 0-2590-3333 หรือ 1422 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข www.ddc.moph.go.th .- สำนักข่าวไทย