search ค้นหาภายในเว็บไซต์
 
 
โลโก้ กพย. โลโก้ สสส.
 
ลิงค์
บล็อก กพย.

เว็บไซต์ KnowSteroid

Facebook โฆษณา

Facebook สเตียรอยด์
Facebook Twitter
Youtube กพย.



สถิติ

ปรับปรุง : 7/03/2018
สถิติผู้เข้าชม:6562826
การเปิดหน้าเว็บ:9409131
Online User Last 1 hour (0 users)


 
  ทันสมัยแต่ไม่ทันคน
  06 ตุลาคม 2554
 
 


วันที่: 6 ตุลาคม 2554
เขียนโดย: นายแพทย์เกษม ตันติผลาชีวะ
ที่มา: เว็บไซต์หนังสือไทยโพสต์
ลิงค์: www.thaipost.net/news/061011/46143

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2540 ผมได้ไปออกรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งที่มีคุณพิศณุ นิลกลัด เป็นพิธีกร เพื่ออภิปรายเรื่องผลกระทบของการเล่นเกม “ทามากอตจิ” หรือสัตว์เลี้ยงคอมพิวเตอร์ต่อเด็กไทย นักวิชาการทางการศึกษาที่ร่วมรายการได้ให้ทัศนะว่า เป็นเรื่องที่ดีมาก สมควรส่งเสริมให้เล่น เพราะเป็นการสร้างความคิดริเริ่ม จะได้นำไปพัฒนาต่อไป ส่วนผมมีความเห็นว่า ประโยชน์อาจมีอยู่บ้างเช่นเดียวกับของเล่นอื่นๆ แต่เกรงว่าเด็กจะรู้จักแต่การเล่น เนื่องจากไม่มีช่องทางให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์อย่างที่อยากให้เป็น มีแต่ถูกหลอกให้ซื้อกันเครื่องละ 500 บาท ผลาญเงินพ่อแม่และทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้าโดยไม่จำเป็น

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ก็มีคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์รายวันฉบับหนึ่งเขียนวิพากษ์วิจารณ์ผมอย่างรุนแรงว่ามีจิตใจคับแคบ ไม่ทันสมัย พร้อมกับสรรเสริญเยินยอนักการศึกษาท่านนั้นอย่างเลิศเลอ ซึ่งภายหลังท่านก็ได้เป็นนักการเมืองผู้บริหารการศึกษาของประเทศในรัฐบาลที่ถูกประชาชนขับไล่

ผ่านไปไม่ถึงหนึ่งปี เกมนั้นก็หมดความนิยมไป โดยมีของเล่นใหม่มาแทน และไม่ปรากฏว่าเด็กไทยได้พัฒนาความสามารถด้านความคิดริเริ่มที่ชัดเจน หรือมีความเมตตาต่อสัตว์มากขึ้นแต่อย่างใด จะมีก็แต่การเปลี่ยนรูปแบบของของเล่นมาเป็นอุปกรณ์อื่น เช่น โทรศัพท์ที่ถ่ายรูปได้ เกมคอมพิวเตอร์ ตลอดมาจนถึงของเล่นตระกูลไอ ตระกูลอีทั้งหลาย

เรื่องนี้ศาสตราจารย์ Peter Smith หัวหน้าหน่วยศึกษาด้านโรงเรียนและครอบครัว ภาควิชาจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลอนดอน เคยรายงานไว้ว่า ของเล่นอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า สามารถครอบงำสมองเด็กได้ เพราะเด็กโต้ตอบกับสถานการณ์ที่คนอื่นสร้างขึ้นไว้ให้ ซึ่งนอกจากจะไม่สร้างสรรค์ความคิดริเริ่มของเด็กแล้ว ยังสกัดกั้นการคิดค้นการละเล่นของเด็กเอง ทำให้เด็กขาดจินตนาการที่พึงมีตามพัฒนาการปกติของเด็กทั่วไป
 
น่าเป็นห่วงว่าเด็กไทยตกเป็นเหยื่อของการขายสินค้าโดยผ่านช่องทางต่างๆ กล่าวคือ เริ่มต้นสร้างความต้องการให้เด็กอยากได้อยากเล่นก่อน แล้วเด็กก็ไปไถเงินพ่อแม่มาซื้อจนได้ เพราะพ่อแม่มักทนการรบเร้าของลูกไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อลูกบอกว่าเพื่อนๆ เขามีกันทั้งนั้น

การแจกแท็บเล็ตให้เด็กประถมเป็นกลวิธีการตลาดที่ร้ายกาจมาก เป็นทั้งประชานิยมเพื่อการหาเสียง เป็นการเอาเงินหลวงมาแจกแล้วผันเข้ากระเป๋าตัวเอง ทั้งในรูปการค้าขายเองและรับเงินทอนจากบริษัท เมื่อเด็กเริ่มใช้ก็เริ่มมีค่าซ่อม ค่าอะไหล่ จะได้ไปดักจากตรงนั้นอีกรอบหนึ่ง ครั้นไม่นานสินค้าตกรุ่นก็ติดเล่นเสียแล้ว เป็นโอกาสให้ขายของใหม่ได้อีก เรียกว่าแยบยลคล้ายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ทำครั้งเดียวกินไปได้นานเป็นชาติ ตอนนี้ก็มีนักวิชาการหลายคนออกมาคัดค้านโครงการนี้แล้ว เพราะเห็นแล้วว่าเป็นการทำลายนิสัยรักการอ่านหนังสือของเด็ก

ผลแทรกซ้อนอีกอย่างหนึ่งของโครงการนี้ก็คือ การสร้างความอยากได้อยากมีให้คนกลุ่มอื่น เริ่มมีคำถามจากหลายฝ่ายว่าทำไมฉันไม่ได้รับแจกบ้าง เพราะฉันเป็นเด็กโตหรือเป็นผู้ใหญ่ น่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเด็ก กลายเป็นโรคระบาดที่แพร่กระจายได้กว้างขวางรวดเร็วมาก เพราะเป็นการแจกที่ไม่มีเหตุผล ไม่เหมือนซานตาคลอสที่แจกของเด็กเฉพาะวันคริสต์มาส และมีเงื่อนไขว่าต้องประพฤติตัวดีด้วย ไม่เหมือนยุคปัจจุบันที่ไม่ว่าดี-ชั่วก็แจกหมด ยิ่งถ้าชั่วได้ระดับก็แจกตำแหน่งให้ใหญ่โตมีเงินเดือนแสนไปเลย

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการทำประชานิยมแบบแจกของที่ไม่สมเหตุผล โดยผู้แจกไม่ต้องใช้เงินตัวเอง แต่ใช้เงินภาษีอากรที่ผู้แจกไม่ค่อยมีส่วนจ่ายเพราะหลบเลี่ยงเป็นประจำใน ปริมาณสูง เช่นเดียวกับโครงการอื่นทั้งหลายที่ผู้แจกได้รับผลกลับคืนทั้งทางตรงและทาง อ้อม แต่ผู้รับแจกมักไม่มีวันพอ และยังสร้างกิเลสให้คนกลุ่มอื่นต่อไปด้วย ผลที่สุดก็เลิกไม่ได้เพราะเสพติดเสียแล้ว และ เป็นยาเสพติดร้ายแรงที่เคยทำให้บางประเทศล่มจมมาแล้ว ไม่รู้ว่ารัฐบาลนี้คิดจะปราบด้วยการฆ่าตัดตอนเหมือนแบบที่เคยทำในอดีตหรือ เปล่า แต่คงไม่ทำหรอก

กลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่งที่ใช้ได้ผลคือ การสร้างความต้องการสินค้าให้เกิดขึ้นในกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ความต้องการนั้นตรงกับจริตของผู้ซื้อ เช่น สร้างภาพให้เป็นสินค้าทันสมัย มีเทคโนโลยีล้ำหน้า ถ้าเป็นเครื่องแต่งตัวก็ต้องเป็นแฟชั่นล่าสุดที่มีอยู่ในโลกและยังไม่มีใน เมืองไทย แบบนี้ก็จะมีคนไปเข้าแถวแย่งกันซื้อมากกว่างานทิ้งกระจาดของมูลนิธิเสียอีก

ในบ้านเรามีคนบางคนที่ได้รับสมญาว่า ”มนุษย์ไฮเทค” เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยทุกอย่าง ไม่ว่าอุปกรณ์ใดรุ่นใหม่ล่าสุดเพียงใด แม้จะยังไม่มีขายในบ้านเรา เขาก็สามารถหาซื้อมาเล่นมาอวดคนอื่นได้ ปัญหาอยู่ตรงที่ว่าเขามีศักยภาพเป็นแค่ผู้ซื้อ ผู้ใช้ และผู้นำเสนอ (presenter) ให้ผู้อื่นอยากได้และซื้อใช้ตาม แต่ไม่มีความสามารถเป็นผู้ผลิตและผู้ขายแต่อย่างใด ผลประโยชน์จึงไปตกอยู่แก่ผู้ผลิตและผู้ขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้อะไรนอกจากความสนุกและความภูมิใจว่าตนทันสมัย เหมือนกับเจ้าทามากอตจินั่นแหละ

กลยุทธ์การตลาดเป็นเสมือนการหลอกให้คนซื้อสินค้า โดยการสร้างความต้องการในรูปแบบต่างๆ ทั้งแท้และเทียม ทำให้มีการซื้อหรือบริโภคมากเกินพอดี เพื่อให้ผู้ขายร่ำรวยขึ้น แต่ผู้ซื้อหากไม่ระมัดระวังอาจเป็นหนี้ที่ไม่สามารถใช้คืนได้ เป็นต้นเหตุของหายนะทางเศรษฐกิจของโลก ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป และคงหนีไม่พ้นที่จะต้องกระทบถึงไทยอย่างแน่นอน การประกันเงินฝากเพียงบัญชีละล้านบาทเป็นการส่งสัญญาณแห่งความหายนะที่ใกล้ เข้ามาเต็มทีแล้ว

“การตลาด” อันเป็นกลไกสำคัญของระบบทุนนิยมสามานย์นี้ ได้แพร่เข้าสู่วงการแพทย์แล้ว โดยที่น้อยคนจะตระหนักรู้ ลองสังเกตดูให้ดีว่าใบสั่งยาของแพทย์แต่ละใบ เหตุใดจึงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากมายในปัจจุบันเมื่อเทียบกับไม่กี่ปีก่อนหน้า นี้ มีความจำเป็นเพียงใดที่จะต้องใช้ยาในวงเงินหลายพันหลายหมื่นบาทต่อเดือน และมีความจำเป็นเพียงใดที่ต้องตรวจเลือดและตรวจทางห้องปฏิบัติการมากมายขนาด นั้น ยิ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ยิ่งแพง ส่วนใหญ่ค่ายา ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการมากกว่ารายได้ในแต่ละเดือนเสียอีก

การทำการตลาดในวงการแพทย์ก็ต้องเริ่มที่แพทย์ซึ่งเป็นผู้สั่งยาเป็นหลัก จะให้แพทย์สั่งใช้ยาของเขาก็ต้องทำให้แพทย์เชื่อเสียก่อนว่ายาของเขามี สรรพคุณดีวิเศษกว่ายาอื่น โดยเฉพาะยารุ่นเก่าที่สามารถผลิตได้โดยไม่มีสิทธิบัตรและมีราคาถูกกว่ามาก จึงจำเป็นต้อง “ให้ร้าย” ด้วยการหยิบยกข้อไม่ดีบางอย่างของยารุ่นเก่ามาโจมตีและขยายผล จนแพทย์จำนวนมากเกิดความรังเกียจและเลิกสั่งใช้ยารุ่นเก่าไปเลย แต่กลับไม่เคยคำนึงถึงผลข้างเคียงของยารุ่นใหม่ที่อาจร้ายแรงกว่ายาเก่า มารับรู้อีกทีก็ต่อเมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนของยารุ่นใหม่นั้นเพราะเกิดผล เสียร้ายแรง และยังสามารถมองข้ามความไม่สมเหตุผลของราคายาที่บริษัทกำหนดไว้สูงลิ่ว จนประชาชนทั่วไปไม่มีทางเข้าถึงยาได้

แพทย์หลายคนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่ายารุ่นใหม่มีข้อดีกว่ายารุ่นเก่าอย่าง เทียบกันไม่ได้ โดยได้รับข้อมูลจากรายงานการวิจัยที่ส่วนใหญ่ได้รับทุนสนับสนุนจากบริษัทยา และยังมีการปกปิดไม่รายงานข้อมูลในส่วนที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อยาของเขา เมื่อนำข้อมูลมาป้อนให้ซ้ำๆ เหมือนสื่อสีแดงกรอกหูสาวกของเขา ก็ทำให้แพทย์บางคนเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ จนบางทีไม่เคยสั่งใช้ยาราคาถูกเลย และไม่สนใจหลักฐานในชีวิตจริงที่มีอยู่ว่า แพทย์ที่ใช้เพียงยารุ่นเก่าก็สามารถรักษาผู้ป่วยได้ด้วยคุณภาพที่ไม่ด้อย กว่ากันแต่ประหยัดกว่ามาก

แพทย์ส่วนหนึ่งก็เป็นพวกที่ชอบความทันสมัย และทนไม่ได้ถ้าไม่ได้ลองสั่งยารุ่นใหม่ล่าสุด หรือกลัวถูกหาว่าเชย จึงทำให้แพทย์ส่วนใหญ่มีความนิยมใช้แต่ยารุ่นใหม่ราคาแพง จนกลายเป็น “มือปืน” ยิงยาให้บริษัทยาข้ามชาติทั้งหลายมาช่วยกันขนเงินจากเมืองไทยไป

นอกจากการสร้างภาพให้แพทย์เลื่อมใสศรัทธาแล้ว ยังมีการส่งเสริมการขายโดยบริษัทยาข้ามชาติทั้งหลายที่ตั้งงบประมาณส่วนนี้ ไว้สูงมาก เพราะเห็นแล้วว่าได้ผลจริง เริ่มตั้งแต่การให้ของชำร่วย ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ราคาไม่แพง เลี้ยงขนมและอาหารว่างในช่วงพัก ไปจนถึงการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดหรือให้ทุนไปประชุมวิชาการต่าง ประเทศ ผู้แทนบริษัทยาก็ต้องเลือกที่มีหน้าตาดี เอาใจเก่ง เพื่อให้สัมพันธภาพกับแพทย์เกิดได้ง่าย และมีความเห็นใจสงสารกลัวเขามีรายได้น้อยไม่พอใช้จ่าย บางทีก็เกรงใจเพราะเห็นเขามาบ่อยและมาคอยช่วยเหลือดูแลราวกับญาติสนิท เรื่องนี้ก็ทำให้แพทย์เสพติดได้เหมือนกัน

เมื่อแพทย์ได้รับข้อมูลที่ทำให้เชื่อถือ ประกอบกับประชานิยมที่บริษัทยาจัดให้ ก็ย่อมมีแนวโน้มจะสั่งใช้ยารุ่นใหม่ราคาแพง และมองข้ามความไม่คุ้มค่าและข้อเสียอื่นๆ ไปได้ รวมทั้งผลประโยชน์ทับซ้อนที่ตนอาจมีอยู่ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้ป่วยที่อาจต้องกู้หนี้ยืมสินมาเป็นค่ายา ค่ารักษา

การมีรสนิยมสูง ชอบความทันสมัย กลายเป็นค่านิยมส่วนใหญ่ของวงการแพทย์ในปัจจุบัน ตั้งแต่อาจารย์แพทย์ไปจนถึงแพทย์จบใหม่ที่รับการสอนมาจากอาจารย์และผู้แทน บริษัทยา เป็นการยากที่จะไปทวนกระแสนี้ได้ ทำให้งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากหมื่นล้านเป็นแสนล้านบาทต่อปี โดยที่คนไทยไม่ได้มีการเจ็บป่วยน้อยลงหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะความอยากทันสมัย แต่ไม่ทันคน จึงตกเป็นเครื่องมือให้เขาโดยไม่รู้ตัว หรือบางคนอาจรู้แต่ก็เต็มใจให้เขาหลอก


เมื่อไม่นานมานี้ ศาสตราจารย์ Joseph E. Stiglitz นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ได้มาแสดงปาฐกถาในประเทศไทย โดยมีอดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปร่วมฟังด้วย เนื้อหาตอนหนึ่งเขาได้กล่าวเป็นใจความว่า ประเทศในกลุ่มเอเชียควรเลิกเดินตามประเทศตะวันตก และหันมาใช้ภูมิปัญญาของตนเองให้มากขึ้น ไม่ควรไปยึดติดกับเรื่องของตัวเลขอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจมากเกินไป ฝรั่งแท้ๆ ที่มีความรู้และมีวิสัยทัศน์ยังแนะนำให้เราใช้ภูมิปัญญาของตัวเองให้มาก อย่าไปตามก้นฝรั่งโดยเห็นว่าทันสมัยหรือเห็นเป็นความโก้เก๋ เพราะหากชาติล่มสลายไปแล้ว ไม่มีวันจะฟื้นคืนมาได้อีก

ฝรั่งหลายคนที่รักและอยากอยู่เมืองไทยเพราะเขาชื่นชมที่เรามีพระพุทธศาสนา มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และสอนให้คนไทยดำเนินชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เรามีของดีแต่กลับไม่เห็นคุณค่าและไม่ภาคภูมิใจ อยากทันสมัยแต่รู้ไม่เท่าทันทรราช ที่ชักนำให้คนหลงใหลมัวเมาในลัทธิวัตถุนิยมและบริโภคนิยม โดยเอาวิธีการประชานิยมสุดกู่มามอมเมาให้คนบ้าคลั่งไปเกือบหมดทั้งเมือง เหลืออยู่ก็แต่เพียงคนหัวโบราณบางคนเท่านั้นที่ยังพอมีสติอยู่.